โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร

Chulalongkorn Stroke Center of Excellence

ต้นแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน อย่างเป็นองค์รวมและครบวงจร

ด้วยโรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประชากรทุกกลุ่มวัยทั้งในเพศหญิงและเพศชาย อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมอย่างมาก การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในปัจจุบัน มีการพัฒนาวิทยาการวินิจฉัยและรักษา มีการรักษาที่ได้ผลดีโดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มีเทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยที่ดียิ่งขึ้น มีการรักษาด้วยการทำหัตถการและการผ่าตัดที่ต้องใช้ความชำนาญและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการพัฒนาต่าง ๆ ดังกล่าวสามารถช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2549 เพื่อพัฒนาการให้บริการการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือด ทั้งการป้องกันการเกิดโรค การรักษา และการดูแลต่อเนื่องระยะยาวโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ

ในด้านการดูแลในระยะเฉียบพลัน ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ เป็นผู้ริเริ่มให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดในระยะเฉียบพลันเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และนำระบบ Stroke fast track มาใช้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541  ส่งผลให้ในปัจจุบันได้มีการดำเนินการระบบ Stroke fast track อย่างแพร่หลายในประเทศไทยและในภูมิภาค ถือเป็นแนวทางการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดในระยะเฉียบพลัน ที่มีหลักฐานชัดเจนว่ายิ่งให้การรักษาเร็ว จะช่วยลดอัตราตายและลดความพิการของผู้ป่วยได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใน 4.5 ชั่วโมงแรกด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ และมีการตรวจทางรังสีวิทยาโดยตรวจสมองและหลอดเลือดสมอง ได้แก่ การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิด CT angiography และ CT perfusion เพื่อประเมินความรุนแรงของสมองขาดเลือดและการอุดตันของหลอดเลือดในระยะเฉียบพลัน รวมทั้งการตรวจคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (magnetic resonance imaging) ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

นอกจากนี้ยังมีการรักษาภาวะสมองขาดเลือดในระยะเฉียบพลันอีกวิธีหนึ่ง คือ การใส่อุปกรณ์ผ่านสายสวนหลอดเลือดเพื่อไปนำลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมอง (Mechanical thrombectomy) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการรักษาที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่มารับการรักษาภายใน 24  ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้จำนวนมาก นอกจากจะให้การรักษาผู้ป่วยที่มาโดยตรงที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ ยังให้การรับปรึกษาและรับส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจากโรงพยาบาลเครือข่ายอื่น ๆ และยังมีเครือข่ายต่างประเทศกับโรงพยาบาลมิตรภาพ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกด้วย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางไกลด้วยระบบโทรเวช (Telestroke) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันภายในเวลาที่กำหนด รวมทั้งรับส่งต่อเพื่อรักษาโดยการทำ  mechanical thrombectomy 

ผู้ป่วยสมองขาดเลือดเฉียบพลันทุกรายที่รับไว้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะได้รับการดูแลรักษาในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Unit) ซึ่งเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก ในปัจจุบันมีการพัฒนาหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke ICU) ขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยสมองขาดเลือดเฉียบพลันที่มีภาวะวิกฤต ซึ่งทั้งสองหอผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากบุคลากรสหสาขาวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งมีอุปกรณ์การดูแลรักษาที่ครบถ้วน และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดูแลผู้ป่วย มีหุ่นยนต์ Stroke robot ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถใช้ติดต่อกับแพทย์ในหอผู้ป่วยและผู้ป่วยได้ตลอดเวลาทั้งในและนอกเวลาราชการ

เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาและสามารถออกจากโรงพยาบาล ยังมีการดูแลต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ให้การดูแลรักษาเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ดูแล โดยศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ ได้พัฒนากระบวนการดูแลต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการ Home health care คือ การดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน ร่วมกับสำนักงานอาสากาชาดและฝ่ายการพยาบาล นอกจากนี้ ยังได้มี Application “CU stroke” เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถติดตามภาวะสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง  ในปัจจุบันมีการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับใช้กับผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อให้สามารถประเมินการดูแลตนเองของผู้ป่วย ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมเพิ่มเติมและติดต่อกับทีมผู้รักษาได้โดยตรง และยังมีคลินิคโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke clinic) ที่ติดตามการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องหลังจากออกจากโรงพยาบาลที่แผนกผู้ป่วยนอก โดยมีการประเมินในหลายมิติร่วมกันโดยสหสาขาวิชา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพื้นตัวได้ดีและไม่เกิดโรคซ้ำอีก นอกจากนี้ยังมีการดูแลโดยกลุ่ม Self help group ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และปรึกษากับทีมรักษาพยาบาลได้

ในด้านการป้องกันโรค ทางศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ ได้มีการจัดให้ความรู้กับประชาชนในกิจกรรมวันโรคหลอดเลือดสมองโลกเป็นประจำทุกปี และยังได้มีความร่วมมือกับศูนย์ประสาทศาสตร์ จัดให้มีการตรวจคัดกรองความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดความตระหนักและสามารถดูแลตนเองในการป้องกันโรค

ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการดูแลรักษาที่เป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบของการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างเป็นองค์รวมและครบวงจร และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ในประเทศไทยและในภูมิภาคได้

ผลงานที่เป็นความภาคภูมิใจของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

  1. World Stroke Organization Angels award 2019 (Platinum status)
    ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จาก World Stroke Organization

  2. Thailand Angel’s award (Diamond status) ในการดูแลโรคหลอดเลือดสมอง ปี พ.ศ. 2561

  3. รางวัลผลงานดีเด่น Best Practice สาขาโรคไม่ติดต่อ ปีงบประมาณ 2560
    จากผลงานเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลเครือข่ายในการรักษาผู้ป่วยสมองขาดเลือดระยะเฉียบพลันด้วยระบบการรับปรึกษาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศทางไกล (Telestroke system) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” จากกระทรวงสาธารณสุข

  4. รางวัลบริการของภาครัฐแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2559 ระดับดี
    ประเภท รางวัลการพัฒนาการบริการที่เป็นเลิศ ผลงานการรับปรึกษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลันด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศทางไกล จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) 

  5. รางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2553 รางวัลดีเด่น
    ประเภทรายกระบวนงาน กระบวนงานการดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมองครบวงจร จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

  6. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 BUPA CLINICAL EXCELLENCE AWARD 2005
    โครงการการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองครบวงจร ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดโดยบริษัท บูพาประกันสุขภาพ(ประเทศไทย) จำกัด

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรฯ ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ทำให้ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ เป็นแหล่งเรียนรู้และดูงานของทั้งแพทย์และพยาบาลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งได้รับการรับรองเป็นศูนย์โรคหลอดเลือดสมองมาตรฐาน (Certified Primary Stroke Center) จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ร่วมกับสมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย และผ่านการรับรองคุณภาพระบบบริการโรคหลอดเลือดสมอง
( Standard Stroke Center Certification) จากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรฯ มีความภูมิใจในการพัฒนาการใช้โทรเวช (telestroke) ช่วยในการดูแลผู้ป่วย โดยความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ พัฒนา Acute stroke robot เป็นการใช้หุ่นยนต์รับปรึกษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยติดต่อกับอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งอยู่นอกโรงพยาบาล นอกเวลาราชการ ทำให้แพทย์ประจำบ้านสามารถปรึกษาอาจารย์ได้ตลอดเวลา รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยว่ามีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอด ทั้งนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งแรกที่ได้มีการใช้ stroke robot ในการร่วมดูแลผู้ป่วย และปัจจุบันมี stroke robot อยู่ที่ห้องฉุกเฉิน และหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และพัฒนา CU Stroke Application ในโทรศัพท์มือถือ หรือ tablet เพื่อใช้ประเมินการดูแลตนเองของผู้ป่วย และประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประชาชนทั่วไปอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้ขยายการให้คำปรึกษาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ โรงพยาบาลมิตรภาพ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดในระยะเฉียบพลันเป็นรายแรกของประเทศลาวในปี พ.ศ. 2559 ส่งผลให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลผู้นำในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยโทรเวชของประเทศไทยและนานาชาติ

พันธกิจ

  1. ให้บริการการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งในด้านการป้องกัน รักษาพยาบาลฟื้นฟูสมรรถภาพ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยสหสาขาวิชา เป็นต้นแบบของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรระดับชาติและนานาชาติ
  2. ให้บริการตรวจรักษาโรคหลอดเลือดสมองขั้นสูงแบบตติยภูมิ
  3. เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้มีบุคลากรที่มีคุณภาพในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
  4. เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัย สร้างนวัตกรรมทางด้านโรคหลอดเลือดสมองเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการในระดับประเทศและนานาชาติ

เจตจำนง

เป็นผู้นำในด้านการป้องกัน และดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมองระดับนานาชาติ

ภาระหน้าที่

  1. ให้บริการการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งในด้านการป้องกัน การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ การป้องกันภาวะแทรกซ้อน และรวมถึงส่งเสริมสุขภาพโดยสหสาขาวิชา เป็นต้นแบบของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรระดับชาติและนานาชาติ
  2. ให้บริการตรวจรักษาโรคหลอดเลือดสมองขั้นสูงแบบตติยภูมิ
  3. เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้มีบุคลากรที่มีคุณภาพในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
  4. เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัย สร้างนวัตกรรมทางด้านโรคหลอดเลือดสมองเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการในระดับประเทศและนานาชาติ

ภารกิจหน่วยงานที่สนับสนุน

การบริการดูแลรักษา เป็นการให้บริการแบบทีมสหสาขาในทุกระยะของโรคหลอดเลือดสมองเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ดังนี้

  1. Pre-hospital
    • มีระบบ EMS ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่มีประสิทธิภาพที่ทำงานร่วมกับทีมบุคลากรหน่วยอุบัติเหตุ – ฉุกเฉิน และศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ ให้บริการรับผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยของโรคหลอดเลือดสมองภายในพื้นที่ที่กำหนดตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง และประสานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน โดยทีมสามารถให้การวินิจฉัยและดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเบื้องต้นและส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ระบบ Stroke Fast Track
    • การดูแลที่ห้องฉุกเฉินโดยสหสาขาวิชาชีพ
    • ให้การตรวจวินิจฉัยด้วย CT Scan และ MRI โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการแปลผลรังสีวินิจฉัยสมอง และหลอดเลือดสมองตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน และสามารถแปลผล CT Scan ภายใน 20 นาที หลังตรวจเสร็จและสามารถอ่านผล MRI, MRA, CTA ได้ภายใน 2 ชั่วโมงหลัง การตรวจเสร็จ และมีการประยุกต์ใช้โทรเวชกรรมเพื่อร่วมยืนยันการอ่านและแปลผล
    • ให้การดูแลรักษากรณีวินิจฉัยเป็น Acute Ischemic Stroke ด้วยยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ และการใช้หัตถการลากลิ่มเลือด ได้ตลอดเวลา 7 วัน 24 ชั่วโมง
    • กรณีวินิจฉัยเป็น Hemorrhagic Stroke สามารถดูแลรักษาด้วยประสาทศัลยแพทย์ที่สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาพร้อมห้องผ่าตัดที่มีความพร้อม ทั้งอุปกรณ์และบุคลากรที่สามารถเปิดผ่าตัดสมองได้ตลอดเวลา 7 วัน 24 ชั่วโมง
  3. การดูแลรักษาในหอผู้ป่วยเฉพาะที่มีมาตรฐาน และระบบการติดต่อทีมได้อย่างรวดเร็ว
    • กรณีวินิจฉัยเป็น Acute Ischemic Stroke มีหอผู้ป่วย ICU Stroke จำนวน 6 เตียง และ Stroke Unit จำนวน 15 เตียง ณ อาคารภูมิสิริฯ ชั้น 18 A ที่ให้บริการโดยทีมสหสาขาด้านโรคหลอดเลือดสมอง
    • มีการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid Ultrasound and Transcranial Doppler Ultrasound) และสามารถส่งตรวจ CT, CTA, CTP, MRI, MRA, MRP, Cerebral angiogram รวมทั้งการสืบค้น เพิ่มเติมเพื่อตัดสินการรักษา เช่น Transthoracic echocardiography, Transesophageal echocardiography, Holter
    • กรณีวินิจฉัยเป็น Hemorrhagic Stroke มีหอผู้ป่วย ICU Neurosurgery 2 แห่ง ณ ตึก สก 8 และ อาคารภูมิสิริฯ ชั้น 7 B และหอผู้ป่วยศัลยกรรมประสาท ณ อาคารภูมิสิริฯ ชั้น 16 A ที่ให้บริการโดยทีมสหสาขาด้านประสาทศัลยศาสตร์
  4. ระบบการรับ refer โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นแม่ข่ายที่ 1 ของ Stroke Service Plan เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร โดยมีแนวทางการดำเนินการเพื่อเป็นแม่ข่ายให้กับโรงพยาบาลเครือข่ายที่ 1 จำนวน 23 โรงพยาบาล และโรงพยาบาลอื่นๆทั่วประเทศไทยในการรับรักษาและรับปรึกษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองร่วมกับศูนย์รับ – ส่งต่อผู้ป่วย และมีการประยุกต์ใช้โทรเวชกรรมเพื่อใช้ในการประสานการ refer อย่างรวดเร็ว ได้ตลอดเวลา 7 วัน 24 ชั่วโมง ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามากกว่า 120 รายต่อปี
  5. การดูแลระยะฟื้นฟู
    • ให้บริการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ได้แก่ physical therapy, occupational therapy และ speech therapy ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกรายที่จำเป็นต้องได้รับการบริการ ตั้งแต่ระยะแรก จนถึงหลังออกจากโรงพยาบาลในลักษณะบริการผู้ป่วยนอก ณ คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และผ่านระบบ Telestroke rehabilitation ผ่านระบบ Telehealth ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีบริการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโดยศูนย์การดูแลต่อเนื่องฯ สำหรับผู้ป่วยที่กลับบ้านหลังออกจากโรงพยาบาล และผ่านระบบ Telenursing
    • มีระบบการติดตามการดูแลรักษาและผลลัพธ์ของการรักษาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อย่างต่อเนื่องโดยสหสาขาในลักษณะผู้ป่วยนอก ที่คลินิกเฉพาะโรค Stroke Clinic และ Tele Stroke Clinic ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ/ตัน ที่กลับบ้านหลังออกจากโรงพยาบาล ในระยะ 3 เดือน และ 1 ปี รวมถึง Telephone Stroke Follow up ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ/ตันตั้งแต่ 1 ปี ต่อเนื่อง และคลินิกอายุรกรรมประสาท ที่ให้การดูแลรักษาต่อเนื่องตลอด
    • มีระบบสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยมีบริการเพื่อปรึกษาหรือช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ป่วยและญาติ โดยนักสังคมสงเคราะห์ 2 คน บริการด้านโภชนาการ โดยนักโภชนาการ บริการด้านเภสัชกรรม โดยเภสัชกร และบริการด้านจิตเวช โดยจิตแพทย์
  • การสอน มีการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางต่างๆ เช่น แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ แพทย์ประจำบ้านประสาทวิทยา และแพทย์ประจำบ้านศัลยกรรม แพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมประสาท แพทย์เฉพาะทางโรคหลอดเลือดสมองให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญตามหลักสูตรแพทย์สภาและราชวิทยาลัยต่าง ๆ จัดการเรียนการสอนในระบบสหวิทยาการ (multidisciplinary system) แก่นิสิตแพทย์ในระดับปริญญาบัณฑิตและแพทย์ระดับหลังปริญญา รวมทั้งจัดอบรมให้ความรู้พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในระดับต่างๆ ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโรคหลอดเลือดสมอง อย่างต่อเนื่อง
  • การวิจัย เป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านโรคหลอดเลือดสมอง โดยผลิตงานวิจัย ร่วมวิจัย ส่งเสริมและประสานงานวิจัยที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานในลักษณะสหสาขา หรือสหสถาบัน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
  • การบริการวิชาการ ให้การเผยแพร่ข้อมูลดความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยทางด้านกูแลรรักษาและการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องและประชาชน รวมถึงการให้บริการในเชิงรุกโดยการประสานงานกับสถานีกาชาดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเพื่อให้ความรู้ที่เน้นการป้องกันปัจจัยเสี่ยงและการตระหนักรู้ถึงอาการของโรคในระยะแรกเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการในโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อลดอัตราตายและพิการจากโรคหลอดเลือดสมอง

การให้บริการของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร
แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร ให้บริการแบบสหสาขาวิชาแก่ผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือด ทั้งการป้องกันโรค การรักษา และการดูแลต่อเนื่องระยะยาว ไปจนกระทั่งติดตามผู้ป่วยต่อเนื่องภายหลังออกจากโรงพยาบาลถึงที่บ้านและบริการคลินิกโรคหลอดเลือดสมองแบบผู้ป่วยนอก โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาวิชา ทั้งประสาทแพทย์ อายุรแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู จิตแพทย์ พยาบาลเฉพาะทาง นักโภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ และอาสากาชาด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ต้นและฟื้นฟูทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร ยังให้บริการด้านวิชาการ และให้การฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการศึกษาวิจัยด้านการแพทย์และการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองซึ่งมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

นอกจากนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร ยังให้บริการให้ความรู้สู่สังคมและประชาชนทั่วไปเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง ตระหนักถึงอาการผิดปกติที่บ่งชี้ถึงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และการรับบริการอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดอาการ ซึ่งเป็นการร่วมรณรงค์ให้สังคมไทยปลอดภัยจากโรคหลอดเลือดสมอง

ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดให้บริการต่าง ๆ ดังนี้

  1. บริการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลันทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
  2. บริการคลินิคโรคหลอดเลือดสมองแบบผู้ป่วยนอก ในทุกวันพฤหัสบดีเวลา 08.00 – 12.00 น.
  3. บริการอื่น ๆ สามารถติดต่อสอบถามได้โดยตรงกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
อาคารอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 7 โซน C

 

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4000 ต่อ 80724-5

 

Facebook หน่วยงาน

ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
(@chulalongkornstrokecenter)

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผู้บริหารกรมอนามัย และคณะเจ้าหน้าที่กรมอนามัย เข้าศึกษาดูงานศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ รพ.จุฬาลงกรณ์

ผู้บริหารกรมอนามัย และคณะเจ้าหน้าที่กรมอนามัย เข้าศึกษาดูงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเดินและการเคลื่อนไหว ศูนย์นิทราเวช ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด

พิธีทำบุญ รำลึกถึงผู้บริจาคอวัยวะ

จัดงานวันรำลึกถึงผู้บริจาคอวัยวะ และพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้บริจาคอวัยวะให้กับผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ณ ระเบียงรมณีย์ ชั้น 14 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์

โครงการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการบำบัดทดแทนไตในภาวะวิกฤต (CRRT) “14th The Basic course of Continuous Renal Replacement Therapy 2024”

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต โรงพบาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับฝ่ายการพยาบาล จัด “โครงการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการบำบัดทดแทนไตในภาวะวิกฤต (CRRT)” ครั้งที่ 14

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์