ด้วยโรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประชากรทุกกลุ่มวัยทั้งในเพศหญิงและเพศชาย อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมอย่างมาก การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในปัจจุบัน มีการพัฒนาวิทยาการวินิจฉัยและรักษา มีการรักษาที่ได้ผลดีโดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มีเทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยที่ดียิ่งขึ้น มีการรักษาด้วยการทำหัตถการและการผ่าตัดที่ต้องใช้ความชำนาญและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการพัฒนาต่าง ๆ ดังกล่าวสามารถช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2549 เพื่อพัฒนาการให้บริการการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือด ทั้งการป้องกันการเกิดโรค การรักษา และการดูแลต่อเนื่องระยะยาวโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ
ในด้านการดูแลในระยะเฉียบพลัน ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ เป็นผู้ริเริ่มให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดในระยะเฉียบพลันเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และนำระบบ Stroke fast track มาใช้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ส่งผลให้ในปัจจุบันได้มีการดำเนินการระบบ Stroke fast track อย่างแพร่หลายในประเทศไทยและในภูมิภาค ถือเป็นแนวทางการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดในระยะเฉียบพลัน ที่มีหลักฐานชัดเจนว่ายิ่งให้การรักษาเร็ว จะช่วยลดอัตราตายและลดความพิการของผู้ป่วยได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใน 4.5 ชั่วโมงแรกด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ และมีการตรวจทางรังสีวิทยาโดยตรวจสมองและหลอดเลือดสมอง ได้แก่ การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิด CT angiography และ CT perfusion เพื่อประเมินความรุนแรงของสมองขาดเลือดและการอุดตันของหลอดเลือดในระยะเฉียบพลัน รวมทั้งการตรวจคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (magnetic resonance imaging) ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
นอกจากนี้ยังมีการรักษาภาวะสมองขาดเลือดในระยะเฉียบพลันอีกวิธีหนึ่ง คือ การใส่อุปกรณ์ผ่านสายสวนหลอดเลือดเพื่อไปนำลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมอง (Mechanical thrombectomy) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการรักษาที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่มารับการรักษาภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้จำนวนมาก นอกจากจะให้การรักษาผู้ป่วยที่มาโดยตรงที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ ยังให้การรับปรึกษาและรับส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจากโรงพยาบาลเครือข่ายอื่น ๆ และยังมีเครือข่ายต่างประเทศกับโรงพยาบาลมิตรภาพ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกด้วย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางไกลด้วยระบบโทรเวช (Telestroke) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันภายในเวลาที่กำหนด รวมทั้งรับส่งต่อเพื่อรักษาโดยการทำ mechanical thrombectomy
ผู้ป่วยสมองขาดเลือดเฉียบพลันทุกรายที่รับไว้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะได้รับการดูแลรักษาในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Unit) ซึ่งเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก ในปัจจุบันมีการพัฒนาหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke ICU) ขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยสมองขาดเลือดเฉียบพลันที่มีภาวะวิกฤต ซึ่งทั้งสองหอผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากบุคลากรสหสาขาวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งมีอุปกรณ์การดูแลรักษาที่ครบถ้วน และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดูแลผู้ป่วย มีหุ่นยนต์ Stroke robot ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถใช้ติดต่อกับแพทย์ในหอผู้ป่วยและผู้ป่วยได้ตลอดเวลาทั้งในและนอกเวลาราชการ
เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาและสามารถออกจากโรงพยาบาล ยังมีการดูแลต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ให้การดูแลรักษาเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ดูแล โดยศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ ได้พัฒนากระบวนการดูแลต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการ Home health care คือ การดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน ร่วมกับสำนักงานอาสากาชาดและฝ่ายการพยาบาล นอกจากนี้ ยังได้มี Application “CU stroke” เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถติดตามภาวะสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับใช้กับผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อให้สามารถประเมินการดูแลตนเองของผู้ป่วย ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมเพิ่มเติมและติดต่อกับทีมผู้รักษาได้โดยตรง และยังมีคลินิคโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke clinic) ที่ติดตามการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องหลังจากออกจากโรงพยาบาลที่แผนกผู้ป่วยนอก โดยมีการประเมินในหลายมิติร่วมกันโดยสหสาขาวิชา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพื้นตัวได้ดีและไม่เกิดโรคซ้ำอีก นอกจากนี้ยังมีการดูแลโดยกลุ่ม Self help group ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และปรึกษากับทีมรักษาพยาบาลได้
ในด้านการป้องกันโรค ทางศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ ได้มีการจัดให้ความรู้กับประชาชนในกิจกรรมวันโรคหลอดเลือดสมองโลกเป็นประจำทุกปี และยังได้มีความร่วมมือกับศูนย์ประสาทศาสตร์ จัดให้มีการตรวจคัดกรองความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดความตระหนักและสามารถดูแลตนเองในการป้องกันโรค
ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการดูแลรักษาที่เป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบของการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างเป็นองค์รวมและครบวงจร และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ในประเทศไทยและในภูมิภาคได้
ผลงานที่เป็นความภาคภูมิใจของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- World Stroke Organization Angels award 2019 (Platinum status)
ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จาก World Stroke Organization - Thailand Angel’s award (Diamond status) ในการดูแลโรคหลอดเลือดสมอง ปี พ.ศ. 2561
- รางวัลผลงานดีเด่น Best Practice สาขาโรคไม่ติดต่อ ปีงบประมาณ 2560
จากผลงานเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลเครือข่ายในการรักษาผู้ป่วยสมองขาดเลือดระยะเฉียบพลันด้วยระบบการรับปรึกษาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศทางไกล (Telestroke system) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” จากกระทรวงสาธารณสุข - รางวัลบริการของภาครัฐแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2559 ระดับดี
ประเภท รางวัลการพัฒนาการบริการที่เป็นเลิศ ผลงานการรับปรึกษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลันด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศทางไกล จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) - รางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2553 รางวัลดีเด่น
ประเภทรายกระบวนงาน กระบวนงานการดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมองครบวงจร จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) - รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 BUPA CLINICAL EXCELLENCE AWARD 2005
โครงการการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองครบวงจร ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดโดยบริษัท บูพาประกันสุขภาพ(ประเทศไทย) จำกัด
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรฯ ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ทำให้ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ เป็นแหล่งเรียนรู้และดูงานของทั้งแพทย์และพยาบาลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งได้รับการรับรองเป็นศูนย์โรคหลอดเลือดสมองมาตรฐาน (Certified Primary Stroke Center) จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ร่วมกับสมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย และผ่านการรับรองคุณภาพระบบบริการโรคหลอดเลือดสมอง
( Standard Stroke Center Certification) จากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรฯ มีความภูมิใจในการพัฒนาการใช้โทรเวช (telestroke) ช่วยในการดูแลผู้ป่วย โดยความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ พัฒนา Acute stroke robot เป็นการใช้หุ่นยนต์รับปรึกษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยติดต่อกับอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งอยู่นอกโรงพยาบาล นอกเวลาราชการ ทำให้แพทย์ประจำบ้านสามารถปรึกษาอาจารย์ได้ตลอดเวลา รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยว่ามีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอด ทั้งนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งแรกที่ได้มีการใช้ stroke robot ในการร่วมดูแลผู้ป่วย และปัจจุบันมี stroke robot อยู่ที่ห้องฉุกเฉิน และหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และพัฒนา CU Stroke Application ในโทรศัพท์มือถือ หรือ tablet เพื่อใช้ประเมินการดูแลตนเองของผู้ป่วย และประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประชาชนทั่วไปอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้ขยายการให้คำปรึกษาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ โรงพยาบาลมิตรภาพ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดในระยะเฉียบพลันเป็นรายแรกของประเทศลาวในปี พ.ศ. 2559 ส่งผลให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลผู้นำในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยโทรเวชของประเทศไทยและนานาชาติ
พันธกิจ
- ให้บริการการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งในด้านการป้องกัน รักษาพยาบาลฟื้นฟูสมรรถภาพ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยสหสาขาวิชา เป็นต้นแบบของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรระดับชาติและนานาชาติ
- ให้บริการตรวจรักษาโรคหลอดเลือดสมองขั้นสูงแบบตติยภูมิ
- เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้มีบุคลากรที่มีคุณภาพในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
- เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัย สร้างนวัตกรรมทางด้านโรคหลอดเลือดสมองเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการในระดับประเทศและนานาชาติ
เจตจำนง
เป็นผู้นำในด้านการป้องกัน และดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมองระดับนานาชาติ
ภาระหน้าที่
- ให้บริการการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งในด้านการป้องกัน การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ การป้องกันภาวะแทรกซ้อน และรวมถึงส่งเสริมสุขภาพโดยสหสาขาวิชา เป็นต้นแบบของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรระดับชาติและนานาชาติ
- ให้บริการตรวจรักษาโรคหลอดเลือดสมองขั้นสูงแบบตติยภูมิ
- เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้มีบุคลากรที่มีคุณภาพในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
- เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัย สร้างนวัตกรรมทางด้านโรคหลอดเลือดสมองเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการในระดับประเทศและนานาชาติ
ภารกิจหน่วยงานที่สนับสนุน
การบริการดูแลรักษา เป็นการให้บริการแบบทีมสหสาขาในทุกระยะของโรคหลอดเลือดสมองเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ดังนี้
- Pre-hospital
- มีระบบ EMS ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่มีประสิทธิภาพที่ทำงานร่วมกับทีมบุคลากรหน่วยอุบัติเหตุ – ฉุกเฉิน และศูนย์โรคหลอดเลือดสมองฯ ให้บริการรับผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยของโรคหลอดเลือดสมองภายในพื้นที่ที่กำหนดตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง และประสานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน โดยทีมสามารถให้การวินิจฉัยและดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเบื้องต้นและส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ระบบ Stroke Fast Track
- การดูแลที่ห้องฉุกเฉินโดยสหสาขาวิชาชีพ
- ให้การตรวจวินิจฉัยด้วย CT Scan และ MRI โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการแปลผลรังสีวินิจฉัยสมอง และหลอดเลือดสมองตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน และสามารถแปลผล CT Scan ภายใน 20 นาที หลังตรวจเสร็จและสามารถอ่านผล MRI, MRA, CTA ได้ภายใน 2 ชั่วโมงหลัง การตรวจเสร็จ และมีการประยุกต์ใช้โทรเวชกรรมเพื่อร่วมยืนยันการอ่านและแปลผล
- ให้การดูแลรักษากรณีวินิจฉัยเป็น Acute Ischemic Stroke ด้วยยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ และการใช้หัตถการลากลิ่มเลือด ได้ตลอดเวลา 7 วัน 24 ชั่วโมง
- กรณีวินิจฉัยเป็น Hemorrhagic Stroke สามารถดูแลรักษาด้วยประสาทศัลยแพทย์ที่สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาพร้อมห้องผ่าตัดที่มีความพร้อม ทั้งอุปกรณ์และบุคลากรที่สามารถเปิดผ่าตัดสมองได้ตลอดเวลา 7 วัน 24 ชั่วโมง
- การดูแลรักษาในหอผู้ป่วยเฉพาะที่มีมาตรฐาน และระบบการติดต่อทีมได้อย่างรวดเร็ว
- กรณีวินิจฉัยเป็น Acute Ischemic Stroke มีหอผู้ป่วย ICU Stroke จำนวน 6 เตียง และ Stroke Unit จำนวน 15 เตียง ณ อาคารภูมิสิริฯ ชั้น 18 A ที่ให้บริการโดยทีมสหสาขาด้านโรคหลอดเลือดสมอง
- มีการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid Ultrasound and Transcranial Doppler Ultrasound) และสามารถส่งตรวจ CT, CTA, CTP, MRI, MRA, MRP, Cerebral angiogram รวมทั้งการสืบค้น เพิ่มเติมเพื่อตัดสินการรักษา เช่น Transthoracic echocardiography, Transesophageal echocardiography, Holter
- กรณีวินิจฉัยเป็น Hemorrhagic Stroke มีหอผู้ป่วย ICU Neurosurgery 2 แห่ง ณ ตึก สก 8 และ อาคารภูมิสิริฯ ชั้น 7 B และหอผู้ป่วยศัลยกรรมประสาท ณ อาคารภูมิสิริฯ ชั้น 16 A ที่ให้บริการโดยทีมสหสาขาด้านประสาทศัลยศาสตร์
- ระบบการรับ refer โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นแม่ข่ายที่ 1 ของ Stroke Service Plan เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร โดยมีแนวทางการดำเนินการเพื่อเป็นแม่ข่ายให้กับโรงพยาบาลเครือข่ายที่ 1 จำนวน 23 โรงพยาบาล และโรงพยาบาลอื่นๆทั่วประเทศไทยในการรับรักษาและรับปรึกษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองร่วมกับศูนย์รับ – ส่งต่อผู้ป่วย และมีการประยุกต์ใช้โทรเวชกรรมเพื่อใช้ในการประสานการ refer อย่างรวดเร็ว ได้ตลอดเวลา 7 วัน 24 ชั่วโมง ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามากกว่า 120 รายต่อปี
- การดูแลระยะฟื้นฟู
- ให้บริการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ได้แก่ physical therapy, occupational therapy และ speech therapy ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกรายที่จำเป็นต้องได้รับการบริการ ตั้งแต่ระยะแรก จนถึงหลังออกจากโรงพยาบาลในลักษณะบริการผู้ป่วยนอก ณ คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และผ่านระบบ Telestroke rehabilitation ผ่านระบบ Telehealth ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีบริการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโดยศูนย์การดูแลต่อเนื่องฯ สำหรับผู้ป่วยที่กลับบ้านหลังออกจากโรงพยาบาล และผ่านระบบ Telenursing
- มีระบบการติดตามการดูแลรักษาและผลลัพธ์ของการรักษาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อย่างต่อเนื่องโดยสหสาขาในลักษณะผู้ป่วยนอก ที่คลินิกเฉพาะโรค Stroke Clinic และ Tele Stroke Clinic ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ/ตัน ที่กลับบ้านหลังออกจากโรงพยาบาล ในระยะ 3 เดือน และ 1 ปี รวมถึง Telephone Stroke Follow up ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ/ตันตั้งแต่ 1 ปี ต่อเนื่อง และคลินิกอายุรกรรมประสาท ที่ให้การดูแลรักษาต่อเนื่องตลอด
- มีระบบสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยมีบริการเพื่อปรึกษาหรือช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ป่วยและญาติ โดยนักสังคมสงเคราะห์ 2 คน บริการด้านโภชนาการ โดยนักโภชนาการ บริการด้านเภสัชกรรม โดยเภสัชกร และบริการด้านจิตเวช โดยจิตแพทย์
- การสอน มีการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางต่างๆ เช่น แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ แพทย์ประจำบ้านประสาทวิทยา และแพทย์ประจำบ้านศัลยกรรม แพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมประสาท แพทย์เฉพาะทางโรคหลอดเลือดสมองให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญตามหลักสูตรแพทย์สภาและราชวิทยาลัยต่าง ๆ จัดการเรียนการสอนในระบบสหวิทยาการ (multidisciplinary system) แก่นิสิตแพทย์ในระดับปริญญาบัณฑิตและแพทย์ระดับหลังปริญญา รวมทั้งจัดอบรมให้ความรู้พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในระดับต่างๆ ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโรคหลอดเลือดสมอง อย่างต่อเนื่อง
- การวิจัย เป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านโรคหลอดเลือดสมอง โดยผลิตงานวิจัย ร่วมวิจัย ส่งเสริมและประสานงานวิจัยที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานในลักษณะสหสาขา หรือสหสถาบัน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
- การบริการวิชาการ ให้การเผยแพร่ข้อมูลดความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยทางด้านกูแลรรักษาและการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องและประชาชน รวมถึงการให้บริการในเชิงรุกโดยการประสานงานกับสถานีกาชาดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเพื่อให้ความรู้ที่เน้นการป้องกันปัจจัยเสี่ยงและการตระหนักรู้ถึงอาการของโรคในระยะแรกเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการในโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อลดอัตราตายและพิการจากโรคหลอดเลือดสมอง
การให้บริการของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร
แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร ให้บริการแบบสหสาขาวิชาแก่ผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือด ทั้งการป้องกันโรค การรักษา และการดูแลต่อเนื่องระยะยาว ไปจนกระทั่งติดตามผู้ป่วยต่อเนื่องภายหลังออกจากโรงพยาบาลถึงที่บ้านและบริการคลินิกโรคหลอดเลือดสมองแบบผู้ป่วยนอก โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาวิชา ทั้งประสาทแพทย์ อายุรแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู จิตแพทย์ พยาบาลเฉพาะทาง นักโภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ และอาสากาชาด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ต้นและฟื้นฟูทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร ยังให้บริการด้านวิชาการ และให้การฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการศึกษาวิจัยด้านการแพทย์และการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองซึ่งมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
นอกจากนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร ยังให้บริการให้ความรู้สู่สังคมและประชาชนทั่วไปเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง ตระหนักถึงอาการผิดปกติที่บ่งชี้ถึงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และการรับบริการอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดอาการ ซึ่งเป็นการร่วมรณรงค์ให้สังคมไทยปลอดภัยจากโรคหลอดเลือดสมอง
ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์