โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านเวชบำบัดวิกฤต

Critical Care Excellence Center

ให้การดูแลผู้ป่วยวิกฤติในด้านต่าง ๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชบำบัดวิกฤติ จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนางานด้านผู้ป่วยวิกฤติในด้านต่าง ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์และเป้าหมายของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยมีภารกิจสำคัญ ดังนี้

  1. ด้านบริการ เพื่อให้มีการจัดการให้การดูแลผู้ป่วยวิกฤติให้ได้มาตรฐานสูงสุด ตามหลักฐานเชิงประจักษ์และมีผลลัพธ์ของการดูแล
    ผู้ป่วยที่สามารถเทียบเคียงกับสถานพยาบาลในระดับสากลได้ มีการติดตามผลและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
  2. พัฒนาการเรียนการสอนด้านเวชบำบัดวิกฤติ สำหรับแพทย์ทั้งระดับบัณฑิตศึกษาและหลังปริญญา แพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอดด้านเวชบำบัดวิกฤติ พยาบาลและพยาบาลเฉพาะทางด้านเวชบำบัดวิกฤติ รวมถึงบุคลากรวิชาชีพอื่น ๆ เช่น
    นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ เภสัชกร รวมถึงการจัดบริการวิชาการ เช่น การจัดการประชุมวิชาการ การจัดการอบรมสัมมนาด้านเวชบำบัดวิกฤติ
  3. องค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ มีการส่งเสริมให้เกิดวิจัยด้านผู้ป่วยวิกฤติอย่างเป็นระบบ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศน์พื้นฐานให้สามารถส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยที่สามารถนำไปช่วยในการแก้ไข พัฒนาการดูแลผู้ป่วยได้

พันธกิจ

เป็นหน่วยงานกลางที่มีบทบาทส่งเสริม สนับสนุน ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยบริการ ผู้เชี่ยวชาญในทีมสหสาขาวิชาชีพ ฝ่ายสนับสนุนต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต ภายใต้การดูแลสนับสนุนจากฝ่ายบริหารขององค์กร โดยมุ่งเน้นพัฒนางานบริการการดูแลผู้ป่วยวิกฤตที่เป็นเลิศ เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ ตั้งแต่ก่อนเกิดภาวะวิกฤต ขณะเกิดภาวะวิกฤต และการดูแลภายหลังพ้นจากภาวะวิกฤต อย่างครบวงจร ตามมาตรฐานวิชาชีพแบบองค์รวม และการสร้าง patient flow ที่เหมาะสม รวมทั้ง พัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางด้านเวชบำบัดวิกฤต และสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤต โดยการวิจัย และสร้างฐานข้อมูลที่เป็นระบบ สถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรมด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติตามยุทธศาสตร์และเป้าหมายของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เจตจำนง

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเวชบำบัดวิกฤติ พัฒนางานด้านผู้ป่วยวิกฤติในด้านต่าง ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์และเป้าหมายของ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชบำบัดวิกฤติ ซึ่งมียุทธศาสตร์สำคัญที่มุ่งสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ โดยยุทธศาสตร์ทั้งสามส่วนจะมีการเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดความสำเร็จและยั่งยืนขององค์กร ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : พัฒนาการดูแลผู้ป่วยวิกฤติในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ให้ได้มาตรฐานระดับสากล 

ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์: ผลการรักษาของผู้ป่วยภาวะวิกฤติในภาวะต่าง ๆ เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ในระดับสากล เช่น ผู้ป่วย severe sepsis/septic shock, acute respiratory distress syndrome อัตราการเกิดการติดเชื้อใน ICU หรืออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลงเฉียบพลัน 

1.1 มีการจัดระบบสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ โดยทำเป็นโครงการพิเศษที่มีการทำงานร่วมกันโดยทีมสหสาขา มีการสนับสนุนกำลังคน ทรัพยากร และงบประมาณ ในขั้นต้นได้ทำ 

  • โครงการพัฒนาการช่วยชีวิตขั้นสูงด้วยเครื่องพยุงปอดและหัวใจ (ECMO) (โครงการย่อยที่ 1) 
  • โครงการระบบการดูแลผู้ป่วยก่อนวิกฤติในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (rapid response system) (โครงการย่อยที่ 2) 
  • โครงการพัฒนาการดูแลแบบ Palliative care in ICU (โครงการย่อยที่ 4) 

1.2.การพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤติเฉพาะเรื่อง มีการจัดตั้งคณะทำงานกำหนดมาตรฐานการดูแลและติดตามผลการดูแล กลุ่มโรคหรือหัตถการที่พบบ่อย ได้แก่  

  • Severe sepsis/ septic shock 
  • ARDS   
  • Weaning protocol  
  • Sedation/ delirium protocol

1.3 มีการบริหารจัดการและวางแผนทรัพยากรสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ

  • การวางแผนและจัดระบบการใช้เตียงที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ ลดระยะเวลาการรอคอย
  • ร่วมมือกับศูนย์เครื่องมือแพทย์ และฝ่ายสนับสนุนบริการในการวางแผนอุปกรณ์และยาให้พร้อมใช้ ได้มาตรฐาน  
  • ร่วมมือกับฝ่ายกายภาพเพื่อพัฒนาโครงสร้างและสิ่งแวดล้อมของหอผู้ป่วยวิกฤติให้ปลอดภัย และเอื้อต่อการเยียวยา

1.4 การร่วมพัฒนาและวางแผนการดูแลผู้ป่วยวิกฤติในแต่ละฝ่าย/ภาควิชา 

  • การร่วมมือกับฝ่าย/ภาควิชาอายุรศาสตร์ วิสัญญีวิทยา และกุมารเวชศาสตร์ ในการจัดตั้งและพัฒนาสาขาวิชาเวชบำบัดวิกฤติให้มีความเป็นต้นแบบและมีความยั่งยืน 

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2: พัฒนาการเรียนการสอนด้านเวชบำบัดวิกฤติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีส่วนในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติทุกด้าน และส่งเสริมให้มีการดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพ

ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์: มีการเรียนการสอนด้านเวชบำบัดวิกฤติในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตและหลักสูตรหลังปริญญาที่ได้มาตรฐาน มีการฝึกอบรมพยาบาลเฉพาะทางด้านเวชบำบัดวิกฤติ และการฝึกอบรมบุคลากรทั่วไป เพื่อให้มีความรู้และทักษะในการประเมินและดูแลขั้นต้นสำหรับผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ

2.1  การพัฒนาเนื้อหารายวิชาและการเรียนการสอนด้านเวชบำบัดวิกฤติในหลักสูตรปริญญาแพทยศาสตร์ บัณฑิต/ บัณฑิตศึกษา ทั้งในส่วนที่เป็นวิชาบังคับ การเพิ่มวิชาเลือก และการทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนกับสถาบันต่างประเทศ 

2.2  การพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนของแพทย์ประจำบ้านต่อยอดด้านเวชบำบัดวิกฤติ จัดตั้งคณะกรรมการหลักสูตรที่รับผิดชอบ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง  เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพผู้สำเร็จการฝึกอบรมเป็นผู้นำในระดับประเทศ

2.3  การให้ความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติให้กับบุคลากรสหสาขาวิชาชีพ การจัดการอบรมพื้นฐานการดูแลด้านผู้ป่วยวิกฤติให้กับบุคลากร  การจัดการประชุมวิชาการร่วมของทีมสหสาขาที่ทำงานด้านเวชบำบัดวิกฤติของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  การพัฒนาหลักสูตรสำหรับบุคลากรเฉพาะทางด้านเวชบำบัดวิกฤติ  และการพัฒนาการฝึกอบรมเฉพาะเรื่อง เช่น CRRT, ECMO

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3: การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ โดยใช้การวิจัยและการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นระบบ

ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์: มีองค์ความรู้ใหม่ที่ตรงกับบริบทของผู้ป่วยในประเทศไทย  สามารถนำไปทำให้เกิดนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยในสังคมไทยได้จริง และเกิดการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ในการดูแล

3.1 สร้างระบบฐานข้อมูลในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  โดยใช้ระบบโรงพยาบาลเป็นแกนหลักและกำหนดมาตรฐานการเชื่อมต่อและการจัดเก็บร่วมกันในทุก ICU รวมถึงการกำหนดมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่จะทำให้เกิดการบูรณาการข้อมูลกับระบบฐานข้อมูลหลักได้ โดยมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ พยาบาล ฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ เพื่อกำหนดตัวแปรที่สนใจ การบันทึก การนำข้อมูลไปวิเคราะห์  และสังเคราะห์หาองค์ความรู้ใหม่ (โครงการย่อยที่ 3)

3.2  การสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อให้เกิดการสร้างงานวิจัยด้านเวชบำบัดวิกฤติ สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยด้านเวชบำบัดวิกฤติของฝ่าย/ภาควิชา ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศ medical innovation ในการพัฒนานวัตกรรมในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ และร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชบำบัดวิกฤติมีสำนักงานกลางในการสนับสนุนและประสานความร่วมมือของหน่วยงานย่อยในฝ่ายต่าง ๆ และหอผู้ป่วยใน 13 แห่ง อาทิ หอผู้ป่วยวิกฤติอายุรกรรม หอผู้ป่วยวิกฤติสูตินรีเวช หอผู้ป่วย NS ICU เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนการทำงานภายในศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชบำบัดวิกฤติประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1. ฝ่ายบริการทางคลินิก (Service)
มีบทบาทในการดูแลการรักษาผู้ป่วยในภาวะวิกฤติทั้งก่อนเข้า ระหว่างเข้าและหลังเข้าหอผู้ป่วยวิกฤติ ผลงานจากฝ่ายบริการทางคลินิก เช่น การพัฒนาระบบการช่วยชีวิตขั้นสูงด้วยเครื่องพยุงปอดและหัวใจ/การดำเนินการจัดตั้งระบบการดูแลผู้ป่วยก่อนวิกฤติในโรงพยาบาล/การพัฒนาการดูแลที่ได้มาตรฐานในหอผู้ป่วยวิกฤติ เป็นต้น

2. ฝ่ายฝึกอบรม (Teaching)

การพัฒนาการเรียนการสอนในทุกระดับ ทั้งในระดับก่อนและหลังปริญญาแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอดการฝึกอบรม บุคลากรทางการแพทย์แบบสหสาขาวิชาชีพ ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติเพื่อนำไปต่อยอดการรักษาให้เกิดผลสูงสุด โครงการการสอนที่โดดเด่นมากของฝ่ายฝึกอบรม คือ การฝึกอบรมโครงการฝึกอบรมอายุรแพทย์ปลูกถ่ายไตหลักสูตร 1 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ

3. ฝ่ายพัฒนาและวิจัย (Research)

ดูแลด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูลการดูแลผู้ป่วยในห้อง ICU ให้ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาล

ผศ.นพ.พรเลิศ ฉัตรแก้ว
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชบำบัดวิกฤติ

ภารกิจที่หน่วยงานสนับสนุน

  1. พัฒนางานบริการการดูแลผู้ป่วยวิกฤตที่เป็นเลิศ เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ ตั้งแต่ก่อนเกิดภาวะวิกฤต ขณะเกิดภาวะวิกฤต และการดูแลภายหลังพ้นจากภาวะวิกฤต อย่างครบวงจร ตามมาตรฐานวิชาชีพแบบองค์รวม มีความถูกต้อง ปลอดภัย รวดเร็ว เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และมีความพึงพอใจทั้งจากผู้รับบริการ และผู้ปฏิบัติงาน และเป็นต้นแบบการดูแลผู้ป่วยวิกฤตในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิด้วยคุณธรรม และคุณภาพตามมาตรฐานระดับชาติ และนานาชาติ (ตามกรอบแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพการบริการตามโครงการของศูนย์ฯ)
  2. พัฒนาการเรียนการสอนด้านเวชบำบัดวิกฤต ทั้งในหลักสูตรปริญญาแพทยศาสตร์ และหลักสูตรต่อยอดด้านเวชบำบัดวิกฤต รวมถึง การสร้างหลักสูตรเฉพาะทางด้านเวชบำบัดวิกฤต เพื่อพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรในทีมสหสาขา มุ่งสู่ความเป็นเลิศ และความยั่งยืนขององค์กร รวมทั้งเพื่อการเผยแพร่เป็นต้นแบบสู่นอกสถาบัน
  3. สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤต โดยการวิจัย และสร้างฐานข้อมูลที่เป็นระบบ และการจัดเก็บที่ได้มาตรฐาน มีการบูรณาการข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์หาองค์ความรู้ใหม่ รวมทั้งสร้างระบบนิเวศน์ที่สนับสนุนให้เกิดงานวิจัย และสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดในการบริหารจัดการ patient flow ที่เหมาะสม
  4. บริหารจัดการองค์กรให้มีความคล่องตัว มีการวางแผนรูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ มีความคุ้มทุน มีธรรมาภิบาล เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของบุคลากร

การให้บริการของศูนย์

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชบำบัดวิกฤติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หรือ Critical Care Excellent Center ถือเป็นอีกหนึ่งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ที่เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการรักษาที่ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อพัฒนาการรักษาแบบสหวิชาชีพให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีบุคลากรดูแลผู้ป่วยซับซ้อน และรับรักษาผู้ป่วยในภาวะวิกฤติจำนวนมาก ตามสถิติแล้วในแต่ละปีมีผู้ป่วยวิกฤติเข้ามาทำการรักษาถึงปีละราว 10,000 ราย

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 18 โซน C

วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านเวชบำบัดวิกฤต

 

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4000 ต่อ 81825

 

ช่องทางการติดต่ออื่น ๆ

https://www.facebook.com/profile.php?id=100066606128756&mibextid=LQQJ4d

บทความที่เกี่ยวข้อง

การประชุมทิศทางด้านผู้สูงวัย สภากาชาดไทย ความก้าวหน้าและความท้าทายในประเทศไทย

คณะผู้บริหาร และคณะกรรมการอำนวยการด้านผู้สูงวัย สภากาชาดไทย จัดการประชุมทิศทางด้านผู้สูงวัย สภากาชาดไทย ความก้าวหน้าและความท้าทายในประเทศไทย

งานวันโรคหลอดเลือดสมองโลก ครั้งที่ 15 (15th World Stroke Day)

วันโรคหลอดเลือดสมองโลก ครั้งที่ 15 (15th World Stroke Day) ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง ห่างไกลโรคหลอดเลือดสมอง

ผู้บริหารกรมอนามัย และคณะเจ้าหน้าที่กรมอนามัย เข้าศึกษาดูงานศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ รพ.จุฬาลงกรณ์

ผู้บริหารกรมอนามัย และคณะเจ้าหน้าที่กรมอนามัย เข้าศึกษาดูงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเดินและการเคลื่อนไหว ศูนย์นิทราเวช ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์