ปี พ.ศ. 2553 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้ก่อตั้งศูนย์สร้างเสริมสุขภาพขึ้น เพื่อให้บริการสถานที่และอุปกรณ์ในการออกกำลังกาย (Wellness Center อปร ชั้น 6) พร้อมทั้งจัดทำโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากรภายในโรงพยาบาลและคณะแพทยศาสตร์ ให้ห่างไกลจากโรค NCDs ต่อมา ในปลายปี พ.ศ. 2557 สภากาชาดไทยได้อนุมัติให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จัดตั้งศูนย์อาชีวอนามัยขึ้น เพื่อรับผิดชอบภาระงานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยนำหลักการด้านอาชีวสุขศาสตร์มาประยุกต์ใช้ร่วมกับอาชีวเวชศาสตร์บางส่วนให้สอสคล้องกับบริบทของโรงพยาบาล เน้นการเฝ้าระวัง การค้นหาและป้องกันความเสี่ยงด้านกายภาพ เคมี ชีวภาพ และการยศาสตร์
และในปี พ.ศ. 2562 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงาน โดยให้รวมหน่วยงานศูนย์อาชีวอนามัยและศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีเป้าหมายในการทำงานในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรเหมือนกัน รวมให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน ภายใต้ชื่อ ศูนย์อาชีวอนามัยและสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร
พันธกิจ
เป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานภายในโรงพยาบาล รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ
ภารกิจที่หน่วยงานสนับสนุน
- การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของบุคลากร
- การตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจตามความเสี่ยงของบุคลากร
- การสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากร
- การจัดการสุขาภิบาลอาหารในโรงพยาบาล
- การสนับสนุนการสำรวจความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานขั้นต้น
- การตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- การสร้างเสริมความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน
- การบริหารจัดการระบบสารเคมี
- การบริหารความเสี่ยง บุคลากรติดเชื้อและบาดเจ็บจากการทำงาน
ภาระหน้าที่
- ส่งเสริม ดำรงไว้ ป้องกันและคุ้มครองสุขภาพของบุคลากรให้ปลอดภัยจากโรคหรือการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงาน รวมถึงโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและพฤติกรรม โดยเฉพาะโรคในกลุ่ม NCDs
- เฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย โดยการสำรวจสภาพแวดล้อม และประเมินความเสี่ยงสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยใช้เครื่องมือทางอาชีวสุขศาสตร์ชนิดต่าง ๆ
- สนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ มีความรู้ความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพได้ด้วยตนเอง และมีแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ศูนย์อาชีวอนามัยและสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร (ศอส) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีโครงสร้างบุคลากร ในการปฏิบัติงาน ได้แก่
- พยาบาล
- นักอาชีวอนามัย/จป.
- นักสุขศึกษา
- เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป
การให้บริการของศูนย์
ศูนย์อาชีวอนามัยและสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร มุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพบุคลากรให้มีสุขภาพดีปลอดภัยจากโรคหรือการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงาน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยครอบคลุม 2 ด้านหลัก ได้แก่
1. ด้านสุขภาพของบุคลากร (Health)
- การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของบุคลากร
ตรวจหาภูมิคุ้มกันและฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อโรคที่อาจเกิดจากการทำงานสำหรับบุคลากรกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วยวัคซีน 6 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A), วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B), วัคซีนป้องกันโรคไวรัสสุกใส (Varicella), วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR), วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza ตามฤดูกาล)
- การติดตามผลตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงของบุคลากร
เป็นการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพของบุคลากรอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากเป็นบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง จะได้รับการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiogram), การตรวจสมรรถภาพการมองเห็น (Occupation Vision Test), การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests) การทำงานของตับ-ไต การตรวจสารปรอทในปัสสาวะ และสารตะกั่วในเลือด หากผลตรวจผิดปกติ จะมีการส่งต่อเพื่อตรวจรักษาต่อไป
- การสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากร
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยกระบวนการต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อการมีสุขภาพดีของบุคลากรและหน่วยงานย่อยในองค์กร ผ่านการสื่อสารแบบ mass communication ตามหลักของการสร้างเสริมสุขภาพ การสร้างนโยบายสาธารณะ การเสริมสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง และการพัฒนาทักษะส่วนบุคคล ให้ครอบคลุมมิติสุขภาพ ทางกายและจิตใจ พร้อมกับการ ส่งเสริม ป้องกันและฟื้นฟูโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable disease : NCDs) โดยใช้องค์ความรู้พื้นฐานด้านโภชนาการ กิจกรรมทางกาย และการออกกำลังกายเป็นสำคัญ
- การจัดการสุขาภิบาลอาหารในโรงพยาบาล
การสนับสนุนจัดการและควบคุมสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมปรุงและจำหน่ายอาหารเพื่อให้อาหารสะอาด ปลอดภัย การจัดให้มีการอบรมสุขาภิบาลอาหาร การตรวจประเมินคุณภาพร้านค้า การเฝ้าระวังสุขาภิบาลอาหาร การปนเปื้อนอาหาร ภาชนะอุปกรณ์ และสุขอนามัยของผู้สัมผัสอาหาร
2. ด้านความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Safety & Environment)
- การสนับสนุนการสำรวจความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานขั้นต้น (Walkthrough Survey)
เป็นการค้นหาสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคลากรในการทำงาน ทั้งทางด้ายกายภาพ เคมี ชีวภาพ การยศาสตร์ และอัคคีภัย เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุจากการทำงาน
- การตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วยเครื่องมือทางอาชีวสุขศาสตร์ในพื้นที่ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของบุคลากรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีการตรวจวัดทั้งทางด้านกายภาพ เช่น แสง เสียง ความร้อน อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และด้านเคมีชีวภาพ เช่น CO2, CO, O3, PM10, PM2.5, ความเข้มข้นของสารเคมี, อัตราการหมุนเวียนอากาศ, แบคทีเรีย และเชื้อรา เป็นต้น
- การสร้างเสริมความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน
จัดอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ และเกิดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานและสามารถนำไปปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน (จป.หัวหน้างาน), หลักสูตรอนุรักษ์การได้ยินให้แก่บุคลากรที่ทำงานในพื้นที่ที่มีเสียงดัง, หลักสูตรการทำงานให้ปลอดภัยด้วยหลักการยศาสตร์ และอบรมการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลในแต่ละหน่วยงาน เป็นต้น
- การบริหารจัดการระบบสารเคมี
จากนโยบายการบริหารจัดการระบบสารเคมีภายในโรงพยาบาล ดำเนินงานตามแผนงานสารเคมี 9 ด้าน ได้แก่
(1) การนำเข้าสารเคมี
(2) การจัดเก็บข้อมูลสารเคมี
(3) การจัดเก็บสารเคมี
(4) การกำจัดของเสียสารเคมี
(5) การสื่อสารและการฝึกอบรม
(6) การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคล
(7) ลักษณะทางกายภาพและสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน
(8) การโต้ตอบเหตุฉุกเฉินจากสารเคมีรั่วไหล
(9) การจัดบริการด้านสุขภาพ การตรวจความเสี่ยงประจำปี
- การบริหารความเสี่ยง บุคลากรติดเชื้อและบาดเจ็บจากการทำงาน (Specific infection control and prevention for workforce)
จากนโยบายความปลอดภัย KCMH Safety Goals 2022 ศูนย์อาชีวอนามัยฯ เป็น Risk owner ของความเสี่ยงสำคัญในการติดตามรายงานในหัวข้อ เข็มตำ ของมีคมบาด สิ่งคัดหลั่งกระเด็น บุคลากรติดเชื้อ และการบาดเจ็บจากการทำงานต่างๆ โดยมีหน้าที่ติดตามการรายงานเหตุการณ์ความเสี่ยง ทบทวน ทำ RCA หรือการปรับมาตรการ