ในอดีต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีนางผดุงครรภ์ประกาศนียบัตร จากโรงเรียนผดุงครรภ์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถของโรงพยาบาลศิริราชสำหรับพยาบาลผู้ป่วยฝ่ายหญิง และบุรุษพยาบาลสำหรับผู้ป่วยฝ่ายชายที่เป็นนายสิบพยาบาลและพลพยาบาลของกองพยาบาลทหารบกกลางเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย จากนั้นได้มีการจัดตั้งโรงเรียนการพยาบาล เปิดสอนวิชาชีพพยาบาลเป็นครั้งแรกในกรุงสยาม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2457 โดยขึ้นกับแผนกศึกษากองพยาบาลทหารบกกลาง
ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2460 กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งโรงเรียนการแพทย์ทหารบกสำหรับฝึกอบรมแพทย์ของทหารบก แต่ขอฝากไว้ในความดูแลของสภากาชาดสยาม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงได้ยุบแผนกศึกษาของพยาบาลทหารบกกลางและโรงเรียนการพยาบาลซึ่งเคยขึ้นกับแผนกการศึกษาได้โอนไปขึ้นกับแผนกรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เรื่อยมาจนปี พ.ศ. 2470 สภากาชาดสยามได้รวมฝ่ายการพยาบาลทั้งหมดกับฝ่ายการศึกษาเข้าด้วยกันอีกครั้ง โดยมีหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ เป็นหัวหน้าพยาบาล ทรงมีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบงานทั้งด้านบริการพยาบาลและโรงเรียนพยาบาลพร้อมกันไป จวบจนปี พ.ศ. 2512 สภากาชาดไทยเห็นสมควรให้ปรับปรุงด้านการศึกษาและการบริการพยาบาลขึ้นใหม่ เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีงานเพิ่มมากขึ้น จึงให้งานด้านการศึกษาและงานด้านบริการพยาบาลแยกจากกัน โดยให้หัวหน้าพยาบาลรับผิดชอบด้านบริการพยาบาล ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ. 2540 แผนกการพยาบาลได้เปลี่ยนเป็น “ฝ่ายการพยาบาล” จวบจนปัจจุบัน
รางวัล หรือความภาคภูมิใจ
- ฝ่ายการพยาบาล มีระบบการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพ ได้แก่การฝึกอบรม การจัดกิจกรรมในการกระตุ้นการพัฒนา เช่น การจัดเวทีนําเสนอผลงาน การจัดงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมด้านพัฒนาคุณภาพ โดยมีโครงการพัฒนาคุณภาพทุกหน่วยงาน ปีละอย่างน้อย 1 เรื่อง ด้วยการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพ PI : Performance Improvement และหลายโครงการได้พัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมทางการพยาบาล ได้ไปนำเสนอผลงานในเวทีระดับประเทศ เช่น โปรแกรมการสอนเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถและอัตราความสำเร็จต่อการสวนปัสสาวะของผู้ป่วยที่มีปัสสาวะคั่งค้างหรือไม่สามารถปัสสาวะได้ด้วยตนเอง (อาคาร ภปร ชั้น 6) สามารถช่วยลดอัตราการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวอย่างได้ผลดี ได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทระบบงานงานมหกรรมคุณภาพ รพ.ธรรมศาสตร์ และการประกวดผลงานนิทรรศการคุณภาพ “Inner Power, Together We Can” ในการประชุมวิชาการ Ha National Forum ครั้งที่ 18 และได้ไปนำเสนอในงาน International forum – Quality and Safety in Healthcare in London
- มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาความเชี่ยวชาญทางการพยาบาล ( Nursing Professional Development Center ) ในปี พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นต้นแบบของการฝึกอบรมพยาบาลสำเร็จใหม่ ด้วยการพัฒนาหลักสูตร Nurse Residency Training Program ให้พยาบาลมีสมรรถนะการพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะสาขา อีกทั้งปัจจุบันมีการพัฒนาตำแหน่งงาน/สายงาน Clinical Nurse educator เพื่อเป็นครูสอนงานที่ดีและยั่งยืนต่อไป
- เรามีพยาบาลที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะทาง ปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรในทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่ช่วยทำให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยเกิดผลลัพธ์ที่โดดเด่น และเป็นที่ยอมรับ ในหลายๆ กลุ่ม Disease Specific Certification หรือศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ต่างๆ เช่น การดูแลผู้ป่วย Acute Myeloid Leukemia, Stroke, Chronic Kidney Disease เป็นต้น
- ในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทีม ICN : Infection Control Nurse เป็นทีมที่เข้มแข็งที่ช่วยฝึกฝนและช่วยตรวจสอบการใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทั้งหมด จนได้รับเสียงชื่นชมว่าช่วยสร้างความมั่นใจในการเข้าไปรักษาพยาบาลผู้ป่วย COVID-19 ได้อย่างดี
พันธกิจ
- จัดระบบบริการพยาบาลที่มีคุณภาพด้วยมาตรฐานระดับสากล โดยยึดหลักคุณธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการพยาบาล
- พัฒนาพยาบาลให้เป็นผู้ชำนาญการ/หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพสูงและเป็นแหล่งเสริมสร้างประสบการณ์ทางวิชาชีพ
- พัฒนานวัตกรรมทางการพยาบาล โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และงานวิจัย รวมทั้งสร้างเครือข่ายวิชาการและการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลในระดับประเทศและนานาชาติ
- จัดระบบบริหารการพยาบาลที่มีธรรมาภิบาล เพื่อให้บุคลากรมีความผูกพันและมีคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่การพัฒนางานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
เจตจำนง
ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นสถาบันต้นแบบทางการพยาบาลที่มีคุณธรรม ด้วยคุณภาพมาตรฐาน ระดับนานาชาติ และเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยด้านการพยาบาล
ภาระหน้าที่
- จัดระบบบริการพยาบาลที่มีคุณภาพด้วยมาตรฐานระดับสากล โดยยึดหลักคุณธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการพยาบาล
- พัฒนาพยาบาลให้เป็นผู้ชำนาญการ/หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพสูงและเป็นแหล่งเสริมสร้างประสบการณ์ทางวิชาชีพ
- พัฒนานวัตกรรมทางการพยาบาล โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และงานวิจัย รวมทั้งสร้างเครือข่ายวิชาการและการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลในระดับประเทศและนานาชาติ
- จัดระบบบริหารการพยาบาลที่มีธรรมาภิบาล เพื่อให้บุคลากรมีความผูกพันและมีคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่การพัฒนางานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ภารกิจที่หน่วยงานสนับสนุน
- การให้บริการผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ยึดมั่นในจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ
- มุ่งเน้นการบริการด้วยใจ ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การฟื้นฟูสภาพความเจ็บป่วยและความพิการ และการป้องกันโรค
- จัดงานบริการพยาบาลให้ครอบคลุมทุกสภาวะความเจ็บป่วย ได้แก่ แผนกผู้ป่วยนอก ห้องฉุกเฉิน หอผู้ป่วยใน หอผู้ป่วยวิกฤติ ห้องผ่าตัด ห้องคลอด หน่วยงานเฉพาะทางต่าง ๆ รวมถึงการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องหลังจำหน่ายจากโรงพยาบาล โดยศูนย์การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน
- พัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในการพยาบาลเฉพาะทางมากขึ้น ด้วยงานด้านพัฒนาคุณภาพ งานวิจัย และบริการวิชาการ ได้แก่ โครงการฝึกอบรมและโครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้สำหรับบุคลากร
- พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทางการพยาบาล เพื่อยกระดับคุณภาพบริการทางการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
ฝ่ายการพยาบาลแบ่งงานการพยาบาล เป็น 15 กลุ่มงาน เพื่อให้ครอบคลุมการบริหารองค์กรการพยาบาลตามพันธกิจ ดังนี้
- กลุ่มงานการพยาบาลอายุรกรรม
- กลุ่มงานการพยาบาลศัลยกรรม และจักษุ โสตฯ และออร์โธปิดิกส์
- กลุ่มงานการพยาบาลหอผู้ป่วยพิเศษ
- กลุ่มงานการพยาบาลสูติ-นรีเวชกรรม ทารกแรกเกิด และห้องคลอด
- กลุ่มงานการพยาบาลกุมารเวชกรรม
- กลุ่มงานการพยาบาลเฉพาะทางอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน
- กลุ่มงานการพยาบาลเฉพาะทางผู้ป่วยนอก
- กลุ่มงานการพยาบาลเฉพาะทางวิกฤต
- กลุ่มงานการพยาบาลเฉพาะทางผ่าตัด
- กลุ่มงานการพยาบาลเฉพาะทางรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และรังสีวิทยา
- กลุ่มงานการพยาบาลเฉพาะทางประสาทวิทยา และจิตเวช
- กลุ่มงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคล
- กลุ่มงานด้านพัฒนาบริการพยาบาล
- กลุ่มงานด้านการดูแลผู้สูงอายุ อาคาร ส.ธ.
- กลุ่มงานสนับสนุนบริการพยาบาล ได้แก่ หน่วยจ่ายกลาง, หน่วยซักรีด, หน่วยแม่บ้าน, หอพักพยาบาล
การให้บริการของฝ่ายการพยาบาล
ฝ่ายการพยาบาล มีหน้าที่หลักในการให้บริการผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ยึดมั่นในจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมทั้งมุ่งเน้นให้บริการด้วยหัวใจกาชาดในทุกมิติของการพยาบาล ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การฟื้นฟูสภาพความเจ็บป่วยและความพิการ และการป้องกันโรค โดยจัดบริการพยาบาลครอบคลุมทุกสภาวะความเจ็บป่วย ได้แก่ แผนกผู้ป่วยนอก ห้องฉุกเฉิน และหอผู้ป่วยใน หอผู้ป่วยวิกฤติ ห้องผ่าตัด ห้องคลอด และหน่วยงานเฉพาะทางอีกหลายหน่วยงาน รวมทั้งการดูแลต่อเนื่องหลังจำหน่ายจาก
โรงพยาบาล โดยศูนย์การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน นอกจากงานให้บริการผู้ป่วยแล้วยังมีงานด้านพัฒนาคุณภาพ งานวิจัย และบริการวิชาการ ได้แก่ โครงการฝึกอบรมและโครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้สำหรับบุคลากรภายในเป็นประจำทุกเดือน โดยทุกหลักสูตรจะมีการปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในการพยาบาลเฉพาะทางมากขึ้น และพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมทางการพยาบาล เพื่อยกระดับคุณภาพบริการทางการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ฝ่ายการพยาบาลยังพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับพยาบาลจากสถาบันภายนอก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะทางต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดองค์ความรู้ในการพยาบาลด้านต่าง ๆ ให้ก้าวทันความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ การพยาบาลในยุคปัจจุบัน โดยมีตัวอย่างของหลักสูตรที่ฝึกอบรม ดังนี้
- การพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติการบำบัดทดแทนไต
- Comprehensive Clinical Practice in Neurology and Neurosurgery
- พยาบาลแกนนำผู้สูงอายุในโรงพยาบาล
- การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Wound and Stoma Care
- หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น สาขาการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด
นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรอื่น ๆ อีกมากมายที่ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมเปิดอบรมให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป