โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ฝ่ายการพยาบาล

Nursing Department

มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำทางการพยาบาลในระดับสากล

ในอดีต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีนางผดุงครรภ์ประกาศนียบัตร จากโรงเรียนผดุงครรภ์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถของโรงพยาบาลศิริราชสำหรับพยาบาลผู้ป่วยฝ่ายหญิง และบุรุษพยาบาลสำหรับผู้ป่วยฝ่ายชายที่เป็นนายสิบพยาบาลและพลพยาบาลของกองพยาบาลทหารบกกลางเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย จากนั้นได้มีการจัดตั้งโรงเรียนการพยาบาล เปิดสอนวิชาชีพพยาบาลเป็นครั้งแรกในกรุงสยาม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2457 โดยขึ้นกับแผนกศึกษากองพยาบาลทหารบกกลาง 

ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2460 กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งโรงเรียนการแพทย์ทหารบกสำหรับฝึกอบรมแพทย์ของทหารบก แต่ขอฝากไว้ในความดูแลของสภากาชาดสยาม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงได้ยุบแผนกศึกษาของพยาบาลทหารบกกลางและโรงเรียนการพยาบาลซึ่งเคยขึ้นกับแผนกการศึกษาได้โอนไปขึ้นกับแผนกรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เรื่อยมาจนปี พ.ศ. 2470 สภากาชาดสยามได้รวมฝ่ายการพยาบาลทั้งหมดกับฝ่ายการศึกษาเข้าด้วยกันอีกครั้ง โดยมีหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ เป็นหัวหน้าพยาบาล ทรงมีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบงานทั้งด้านบริการพยาบาลและโรงเรียนพยาบาลพร้อมกันไป จวบจนปี พ.ศ. 2512 สภากาชาดไทยเห็นสมควรให้ปรับปรุงด้านการศึกษาและการบริการพยาบาลขึ้นใหม่ เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีงานเพิ่มมากขึ้น จึงให้งานด้านการศึกษาและงานด้านบริการพยาบาลแยกจากกัน โดยให้หัวหน้าพยาบาลรับผิดชอบด้านบริการพยาบาล ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ. 2540 แผนกการพยาบาลได้เปลี่ยนเป็น “ฝ่ายการพยาบาล” จวบจนปัจจุบัน 

รางวัล หรือความภาคภูมิใจ

  1. ฝ่ายการพยาบาล มีระบบการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพ ได้แก่การฝึกอบรม การจัดกิจกรรมในการกระตุ้นการพัฒนา เช่น การจัดเวทีนําเสนอผลงาน  การจัดงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมด้านพัฒนาคุณภาพ โดยมีโครงการพัฒนาคุณภาพทุกหน่วยงาน ปีละอย่างน้อย 1 เรื่อง ด้วยการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพ PI : Performance Improvement และหลายโครงการได้พัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมทางการพยาบาล ได้ไปนำเสนอผลงานในเวทีระดับประเทศ เช่น โปรแกรมการสอนเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถและอัตราความสำเร็จต่อการสวนปัสสาวะของผู้ป่วยที่มีปัสสาวะคั่งค้างหรือไม่สามารถปัสสาวะได้ด้วยตนเอง (อาคาร ภปร ชั้น 6) สามารถช่วยลดอัตราการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวอย่างได้ผลดี ได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทระบบงานงานมหกรรมคุณภาพ รพ.ธรรมศาสตร์  และการประกวดผลงานนิทรรศการคุณภาพ “Inner Power, Together We Can” ในการประชุมวิชาการ Ha National Forum ครั้งที่ 18 และได้ไปนำเสนอในงาน International forum – Quality and Safety in Healthcare in London 

  2. มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาความเชี่ยวชาญทางการพยาบาล ( Nursing Professional Development Center ) ในปี พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นต้นแบบของการฝึกอบรมพยาบาลสำเร็จใหม่ ด้วยการพัฒนาหลักสูตร Nurse Residency Training Program ให้พยาบาลมีสมรรถนะการพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะสาขา  อีกทั้งปัจจุบันมีการพัฒนาตำแหน่งงาน/สายงาน Clinical Nurse educator เพื่อเป็นครูสอนงานที่ดีและยั่งยืนต่อไป

  3. เรามีพยาบาลที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะทาง  ปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรในทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่ช่วยทำให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยเกิดผลลัพธ์ที่โดดเด่น และเป็นที่ยอมรับ ในหลายๆ กลุ่ม Disease Specific Certification หรือศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ต่างๆ  เช่น การดูแลผู้ป่วย Acute Myeloid Leukemia, Stroke, Chronic Kidney Disease เป็นต้น  

  4. ในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทีม ICN : Infection Control Nurse  เป็นทีมที่เข้มแข็งที่ช่วยฝึกฝนและช่วยตรวจสอบการใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทั้งหมด จนได้รับเสียงชื่นชมว่าช่วยสร้างความมั่นใจในการเข้าไปรักษาพยาบาลผู้ป่วย COVID-19 ได้อย่างดี

พันธกิจ

  1. จัดระบบบริการพยาบาลที่มีคุณภาพด้วยมาตรฐานระดับสากล โดยยึดหลักคุณธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการพยาบาล
  2. พัฒนาพยาบาลให้เป็นผู้ชำนาญการ/หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพสูงและเป็นแหล่งเสริมสร้างประสบการณ์ทางวิชาชีพ
  3. พัฒนานวัตกรรมทางการพยาบาล โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และงานวิจัย รวมทั้งสร้างเครือข่ายวิชาการและการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลในระดับประเทศและนานาชาติ
  4. จัดระบบบริหารการพยาบาลที่มีธรรมาภิบาล เพื่อให้บุคลากรมีความผูกพันและมีคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่การพัฒนางานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เจตจำนง

ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นสถาบันต้นแบบทางการพยาบาลที่มีคุณธรรม ด้วยคุณภาพมาตรฐาน ระดับนานาชาติ และเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยด้านการพยาบาล

ภาระหน้าที่

  1. จัดระบบบริการพยาบาลที่มีคุณภาพด้วยมาตรฐานระดับสากล โดยยึดหลักคุณธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการพยาบาล
  2. พัฒนาพยาบาลให้เป็นผู้ชำนาญการ/หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพสูงและเป็นแหล่งเสริมสร้างประสบการณ์ทางวิชาชีพ
  3. พัฒนานวัตกรรมทางการพยาบาล โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และงานวิจัย รวมทั้งสร้างเครือข่ายวิชาการและการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลในระดับประเทศและนานาชาติ
  4. จัดระบบบริหารการพยาบาลที่มีธรรมาภิบาล เพื่อให้บุคลากรมีความผูกพันและมีคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่การพัฒนางานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ภารกิจที่หน่วยงานสนับสนุน

  1. การให้บริการผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ยึดมั่นในจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ
  2. มุ่งเน้นการบริการด้วยใจ ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การฟื้นฟูสภาพความเจ็บป่วยและความพิการ และการป้องกันโรค
  3. จัดงานบริการพยาบาลให้ครอบคลุมทุกสภาวะความเจ็บป่วย ได้แก่ แผนกผู้ป่วยนอก ห้องฉุกเฉิน หอผู้ป่วยใน หอผู้ป่วยวิกฤติ ห้องผ่าตัด ห้องคลอด หน่วยงานเฉพาะทางต่าง ๆ รวมถึงการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องหลังจำหน่ายจากโรงพยาบาล โดยศูนย์การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน
  4. พัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในการพยาบาลเฉพาะทางมากขึ้น ด้วยงานด้านพัฒนาคุณภาพ งานวิจัย และบริการวิชาการ ได้แก่ โครงการฝึกอบรมและโครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้สำหรับบุคลากร
  5. พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทางการพยาบาล เพื่อยกระดับคุณภาพบริการทางการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายการพยาบาลแบ่งงานการพยาบาล เป็น 15 กลุ่มงาน เพื่อให้ครอบคลุมการบริหารองค์กรการพยาบาลตามพันธกิจ ดังนี้

  1. กลุ่มงานการพยาบาลอายุรกรรม
  2. กลุ่มงานการพยาบาลศัลยกรรม และจักษุ โสตฯ และออร์โธปิดิกส์
  3. กลุ่มงานการพยาบาลหอผู้ป่วยพิเศษ 
  4. กลุ่มงานการพยาบาลสูติ-นรีเวชกรรม ทารกแรกเกิด และห้องคลอด
  5. กลุ่มงานการพยาบาลกุมารเวชกรรม
  6. กลุ่มงานการพยาบาลเฉพาะทางอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน
  7. กลุ่มงานการพยาบาลเฉพาะทางผู้ป่วยนอก
  8. กลุ่มงานการพยาบาลเฉพาะทางวิกฤต
  9. กลุ่มงานการพยาบาลเฉพาะทางผ่าตัด
  10. กลุ่มงานการพยาบาลเฉพาะทางรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และรังสีวิทยา
  11. กลุ่มงานการพยาบาลเฉพาะทางประสาทวิทยา และจิตเวช
  12. กลุ่มงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคล
  13. กลุ่มงานด้านพัฒนาบริการพยาบาล
  14. กลุ่มงานด้านการดูแลผู้สูงอายุ อาคาร ส.ธ.
  15. กลุ่มงานสนับสนุนบริการพยาบาล ได้แก่ หน่วยจ่ายกลาง, หน่วยซักรีด, หน่วยแม่บ้าน, หอพักพยาบาล

การให้บริการของฝ่ายการพยาบาล

ฝ่ายการพยาบาล มีหน้าที่หลักในการให้บริการผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ยึดมั่นในจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมทั้งมุ่งเน้นให้บริการด้วยหัวใจกาชาดในทุกมิติของการพยาบาล ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การฟื้นฟูสภาพความเจ็บป่วยและความพิการ และการป้องกันโรค โดยจัดบริการพยาบาลครอบคลุมทุกสภาวะความเจ็บป่วย ได้แก่ แผนกผู้ป่วยนอก ห้องฉุกเฉิน และหอผู้ป่วยใน หอผู้ป่วยวิกฤติ ห้องผ่าตัด ห้องคลอด และหน่วยงานเฉพาะทางอีกหลายหน่วยงาน รวมทั้งการดูแลต่อเนื่องหลังจำหน่ายจาก
โรงพยาบาล โดยศูนย์การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน นอกจากงานให้บริการผู้ป่วยแล้วยังมีงานด้านพัฒนาคุณภาพ งานวิจัย และบริการวิชาการ ได้แก่ โครงการฝึกอบรมและโครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้สำหรับบุคลากรภายในเป็นประจำทุกเดือน โดยทุกหลักสูตรจะมีการปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในการพยาบาลเฉพาะทางมากขึ้น และพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมทางการพยาบาล เพื่อยกระดับคุณภาพบริการทางการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ฝ่ายการพยาบาลยังพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับพยาบาลจากสถาบันภายนอก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะทางต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดองค์ความรู้ในการพยาบาลด้านต่าง ๆ ให้ก้าวทันความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ การพยาบาลในยุคปัจจุบัน โดยมีตัวอย่างของหลักสูตรที่ฝึกอบรม  ดังนี้ 

  1. การพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติการบำบัดทดแทนไต
  2. Comprehensive Clinical Practice in Neurology and Neurosurgery
  3. พยาบาลแกนนำผู้สูงอายุในโรงพยาบาล
  4. การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Wound and Stoma Care
  5. หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น สาขาการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรอื่น ๆ อีกมากมายที่ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมเปิดอบรมให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป

อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ชั้น 2

วันจันทร์ – ศุกร์   เวลา 08.00 – 16.00 น.

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ฝ่ายการพยาบาล
อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ชั้น 2

 

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4000 ต่อ 60281 – 2

 

เว็บไซต์หน่วยงาน

https://nursing.chulalongkornhospital.go.th

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) มอบชุด Gown PPE

บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด ( มหาชน ) โดยคุณโสภา กาญจนรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ คุณอำนาจ มาตรง ที่ปรึกษากฏหหมายกำกับดูแลองค์กร มอบชุด Gown PPE ให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Minimal Invasive Monitoring ตัวช่วยสำคัญของหมอ และผู้ป่วยในห้องผ่าตัด

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่เรียกว่า Minimal Invasive Monitoring หรือเครื่องวัดปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจแบบต่อเนื่อง ที่ช่วยให้การผ่าตัดและการดูแลผู้ป่วยวิกฤติราบรื่นขึ้นมาก

คุณไพจิตร รัตนานนท์ มอบเลื่อยตัดเฝือกพร้อมเครื่องดูดฝุ่นเฝือก

คุณไพจิตร รัตนานนท์ มอบเลื่อยตัดเฝือกพร้อมเครื่องดูดฝุ่นเฝือก เพื่อฝ่ายออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์