โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

อาการทางผิวหนัง จากโรคโควิด-19 ผลข้างเคียงที่ไม่ควรมองข้าม

แม้ว่าโรคโควิด-19 จะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเป็นหลักแต่อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางผิวหนังร่วมด้วย รศ.พญ.ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาตจวิทยา ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งทำการศึกษาวิจัยและเชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง พบว่าอาการ
ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีผลต่อร่างกายผู้ติดเชื้อในหลายระบบ นอกจากนี้จากสถิติพบว่าประมาณ 0.2-20% ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั้งหมดมีอาการผื่นทางผิวหนังร่วมด้วย

รศ.พญ.ภาวิณี และคณะทำงานได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลผู้ป่วยตลอดระยะเวลาของการระบาดโรคโควิด-19 ระลอกแรก และได้ตีพิมพ์เป็นผลงานวิจัยอาการทางผิวหนังใน COVID-19 กรณีศึกษาประเทศเขตร้อน (Skin Manifestations in COVID-19: The Tropics Experience) เมื่อปีพ.ศ. 2563 พบว่า สถิติผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 153 ราย มีอาการโรคผิวหนังร่วมด้วย 23 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 15% โดยอาการบ่งชี้ทางผิวหนังของผู้ป่วยที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา2019 จะแบ่ง ออกเป็นหลายกลุ่มอาการ เช่นผื่นผิวหนัง แบบผื่นลมพษิ ผื่นแดงชนิด Maculopapular ตุ่มน้ำที่ผิวหนัง หรือผิวหนังแตกเป็นแผลจากการขาดเลือด

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการทางผิวหนังในประเทศแถบยุโรปและประเทศแถบเอเชียจะมีอาการทางผิวหนังแตกต่างกัน กล่าวคือผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศแถบเอเชียมักมีอาการผื่นลมพิษ ผื่นแดงทั่วตัว หรือผื่นแบบตุ่มน้ำ ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศแถบยุโรปจะมีอาการหนึ่งที่ไม่พบในประเทศไทย คือมีอาการปลายมือปลายเท้าม่วงคล้ำ ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่าอาการ Covid Toe อันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น ทั้งนี้วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคโควดิ -19 ที่มีอาการทางผิวหนัง แพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาสเตียรอยด์รักษาอาการตุ่มนูน ตุ่มคัน หรือยาแก้แพ้รักษาอาการลมพิษ เป็นต้น

อาการทางผิวหนังที่พบในผู้ป่วยโรคโควิด-19 สามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. อาการผื่นผิวหนังจากโรคโควิด-19 โดยมีอาการบ่งชี้ เช่น ผู้ป่วยเป็นลมพิษ ผื่นแดง ตุ่มน้ำพอง หรือมีแผลแตกบริเวณผิวหนัง
  2. อาการผื่นผิวหนังจากการสวมหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันPPE ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทำให้บางรายเป็นสิวหรือผื่นแดงบริเวณใบหน้าอันเนื่องมาจากการสวมหน้ากากอนามัยเป็นระยะเวลานาน หรือบางรายเกิดจากการแพ้ส่วนประกอบบางชนิดของหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ยังมีบางรายที่พบอาการผื่นแดงตามมือจากการล้างมือบ่อยจนมือแห้งและระคายเคือง

แม้ว่าการเก็บข้อมูลมาจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่าอาการทางผิวหนังของผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะก่อให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่รศ.พญ.ภาวิณี เน้นย้ำว่า หากประชาชนมีอาการไข้ หายใจไม่สะดวก จมูกไม่ได้กลิ่น หรือมีอาการผื่นผิวหนังร่วมด้วยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา พร้อมกันนี้ยังฝากถึงประชาชนทุกคนในเรื่องการดูแลตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยและควรเปลี่ยนใหม่บ่อยๆ หรือหากเป็นหน้ากากผ้าควรหมั่นซักทำความสะอาดสม่ำเสมอ รวมถึงควรล้างมือบ่อยๆและทาครีมบำรุงผิว (Moisturizer) เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและลดการระคายเคืองของผิวหนัง เพื่อป้องกันตัวเองจากการสัมผัสเชื้อและลดความเสี่ยงของอาการทางผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

รักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน

วิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะยกระดับมาสู่ "เครื่องเร่งอนุภาคโปรตอน"

5 โรคติดเชื้อในเด็กที่ควรระวังในฤดูหนาว

โรคติดเชื้อในเด็กในช่วงฤดูหนาวมี 3 กลุ่มโรคและ 5 โรคสำคัญคือ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้แก่ โควิด-19 (COVID-19) โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้ออาร์เอสวี (RSV) โรคติดเชื้อของระบบทางเดินอาหารได้แก่ โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า และโรคไข้ออกผื่นได้แก่ โรคอีสุกอีใส

รู้จักมะเร็งในช่องปาก

ปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่ทำให้เกิดโรค มะเร็งช่องปาก รวมถึงวิธีการรักษาและการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์