โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

Stem Cell and Regenerative Medicine

ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา คำว่า “สเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิด” ได้ถูกกล่าวถึงและนำไปใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ด้วยนวัตกรรมการรักษาที่ก้าวล้ำและมีที่มาที่ไปอย่างน่าเชื่อถือ สเต็มเซลล์จึงเป็นอีกความหวังหนึ่งของใครหลายๆ คน ทั้งในเชิงการรักษาโรคและการเสริมความงาม มีโอกาสได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าหน่วยสเต็มเซลล์ (Stem Cell and Cell Therapy Research Unit) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความเคลื่อนไหวของการวิจัยและใช้สเต็มเซลล์ในผู้ป่วยอย่างถูกต้อง

ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กล่าวว่า สเต็มเซลล์มีหลายชนิดแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน สร้างเซลล์คนละชนิดกันขึ้นอยู่กับว่ามาจากอวัยวะไหน แม้จะเป็นความหวังในการนำมาใช้รักษาโรคหลายโรคในอนาคต แต่ปัจจุบันทั้งในประเทศและต่างประเทศมีการรักษาด้วยสเต็มเซลล์เพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นที่ยอมรับว่าได้ผลจริงเป็นการรักษามาตรฐาน เกือบทั้งหมดเป็นการนำสเต็มเซลล์ระบบเลือดที่พบในไขกระดูกหรือรกมารักษาโรคระบบเลือด เพราะนำสเต็มเซลล์ระบบเลือดสามารถทำให้เกิดระบบเลือดขึ้นใหม่ได้ แต่การนำสเต็มเซลล์มาใช้รักษาโรคอื่นๆ เช่น ไตวาย ข้อเข่าเสื่อม อัมพาต สมองพิการ หัวใจขาดเลือด ตามที่กล่าวอ้างกันทั่วไปนั้น ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังต้องพัฒนาอีกมากกว่าจะนำมาใช้ได้จริง ปัจจุบันการฉีดสเต็มเซลล์ไม่ว่าจะชนิดใดเข้าไปในร่างกายนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้วยังอาจเกิดผลเสียที่รุนแรงได้ การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่เป็นความหวังของอนาคตจำเป็นจะต้องเปลี่ยนสเต็มเซลล์เป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อจำเพาะก่อนปลูกถ่าย ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมีห้องปฏิบัติการและนักวิทยาศาสตร์เฉพาะทาง เนื่องจากในทุกๆ ขั้นตอนนับตั้งแต่การแยก การเพาะเลี้ยง การควบคุมให้เปลี่ยนเป็นเซลล์ชนิดจำเพาะจนกระทั่งสามารถนำมาปลูกถ่ายในผู้ป่วยได้นั้นต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนาน ต้องมีระบบควบคุมคุณภาพ และมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ สำหรับการรักษาที่ยังไม่มาตรฐานต้องทำการศึกษาแบบโครงการวิจัย ผู้ป่วยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ป่วยไม่ให้ตกอยู่ภายใต้การหาผลประโยชน์ทางการค้าอีกประการหนึ่งคือได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่ดูแล เช่น แพทยสภา เพื่อความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

หน่วยสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสเต็มเซลล์มาใช้กับผู้ป่วยได้อย่างเป็นขั้นตอน และมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมโรคที่เป็นปัญหาสำคัญที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทันสมัยทัดเทียมนานาชาติ ในเดียวกันก็มีการทำที่วิจัยลดต้นทุนในการรักษา เพื่อทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการรักษาได้ที่ผ่านมาได้ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านกระจกตาและผิวดวงตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย สามารถศึกษาวิจัยเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ผิวกระจกตา สร้างเป็นแผ่นกระจกตา และประสบความสำเร็จในการนำมาใช้รักษากับผู้ป่วยแล้วระดับหนึ่ง อีกทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อรวบรวมข้อมูลเพื่อบรรจุอยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านอกจากกระจกตาแล้ว ปัจจุบันศูนย์ฯ ยังมีโครงการพัฒนา สเต็มเซลล์เพื่อโรคข้อเข่าเสื่อมเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันรักษามะเร็ง ไปจนถึงเทคโนโลยีระดับสูงสุด ได้แก่การเปลี่ยนเซลล์ร่างกายทั่วไปให้กลายเป็นสเต็มเซลล์จากนั้นแก้ยีนเพื่อนำมาใช้รักษาโรคระบบเลือดที่ไม่สามารถหาไขกระดูกที่เข้ากันมาปลูกถ่ายได้

ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ กล่าวว่า วิทยาการด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัดมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมากในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในอนาคตทุกคนอาจจะนำเซลล์ร่างกายไปสร้างเป็นสเต็มเซลล์ของตัวเองที่สามารถนำมาใช้สร้างเซลล์ต่างๆ เพื่อนำมารักษาโรคที่เกิดขึ้นได้ เช่น การใช้สเต็มเซลล์สร้าง Beta-cell ในตับอ่อนเพื่อรักษาโรคเบาหวาน หรือสร้างเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเซลล์ประสาทชนิดจำเพาะสำหรับโรคพาห์กินสันซึ่งศูนย์ฯ มีหน้าที่นำเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เข้ามาพัฒนาเป็นบริการในประเทศ อย่างไรก็ดีปัจจุบันสิ่งที่เรียกกันว่าสเต็มเซลล์ที่พบใช้อยู่ในคลินิกและผลิตภัณฑ์หลายชนิดในสังคมไทย เป็นการนำไปใช้อย่างไม่ถูกหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์และอาจเกิดอันตรายได้ หน่วยสเต็มเซลล์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องการใช้สเต็มเซลล์อย่างถูกต้อง เพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อหรือเครื่องมือทางการตลาดเพราะความไม่รู้ ปัจจุบันเนื่องจากชื่อเสียงของสเต็มเซลล์ทำให้มีผลิตภัณฑ์หรือบริการจำนวนมากที่มีการแอบอ้างสเต็มเซลล์เพื่อเพิ่มราคา ทั้งที่อาจมีสเต็มเซลล์อยู่เพียงหนึ่งในล้านหรือไม่มีเลย แต่ผสมเซลล์หรือสารบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายโดยหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ รวมถึงใช้การโฆษณาทำให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนจนหลงเชื่อในผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น จนท้ายที่สุดก็เกิดความผิดหวังในการรักษาไปจนถึงเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

เทคโนโลยีกำหนดตำแหน่งการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยใช้ภาพสนามแม่เหล็ก

การพัฒนานำเทคโนโลยีการถ่ายภาพสนามแม่เหล็กมาใช้ร่วมกับการอัลตราซาวนด์เสมือนการสร้างแผนที่นำทางเพื่อให้ศัลยแพทย์สามารถเข้าไปตัดชิ้นเนื้อ

Intraoperative Neurophysiologic Monitoring
เพื่อการฟื้นตัวไวและคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการผ่าตัด

เทคโนโลยีการเฝ้าระวังการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติระหว่างผ่าตัด คือ Intraoperative Bulbocavernosus Reflex Monitoring มาช่วยระหว่างการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของไขสันหลังส่วนก้นแต่กำเนิดในผู้ป่วยเด็ก

การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า

Deep Brain Stimulation หรือการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า นวัตกรรมการรักษาทางเลือกใหม่โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์