ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมในประเทศไทยมีแนวโน้มของอุบัติการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามะเร็งเต้านมโดยการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นายแพทย์กฤษณ์ จาฏามระ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งได้เล็งเห็นความสำคัญ และริเริ่มจัดโครงการศูนย์มะเร็งเต้านมขึ้นตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ว่า
“ ฉันอยากให้ศูนย์ฯ นี้ เป็นที่พึ่งของผู้หญิง ”
นอกจากนี้ได้มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โปรดเกล้าฯ สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นจำนวน 2 ล้านบาทเพื่อเป็นทุนก่อตั้ง และทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการฯ พร้อมทั้งได้พระราชทาน นาม “ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ” เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2548
เจตจำนง
ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านม มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานตาม พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ว่า “ฉันอยากให้ศูนย์ฯ นี้ เป็นที่พึ่งของผู้หญิง” โดยผู้ป่วยทุกคนของศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ จะมีพยาบาลที่ปรึกษาเฉพาะ เพื่อให้คำแนะนำ และเป็นกำลังใจแก่ผู้ป่วย ตั้งแต่เริ่มเข้ารับการตรวจ อธิบายขั้นตอนการรักษา และติดตามดูแล ตลอดทุกขั้นตอนระหว่างการรักษา
ภาระหน้าที่
ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ มุ่งมั่นที่จะให้บริการผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ให้เทียบเท่าหรือสูงกว่ามาตรฐานระดับสากล เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการตรวจวินิจฉัย และการรักษามะเร็งเต้านม
ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านม ประกอบด้วยหน่วยงานย่อย ดังนี้
- คลินิคมะเร็งเต้านมครบวงจร อาคารล้วน-เพิ่มพูล ว่องวานิช ชั้น 2
- หน่วยพยาธิวิทยาเต้านม อาคารล้วน-เพิ่มพูล ว่องวานิช ชั้น 2
- หน่วยวินิจฉัยโรคเต้านม อาคารล้วน-เพิ่มพูล ว่องวานิช ชั้น 2
- ห้องผ่าตัดโรคเต้านม อาคารล้วน-เพิ่มพูล ว่องวานิช ชั้น 3
- Surgical Oncology Day Care Unit อาคารล้วน-เพิ่มพูล ว่องวานิช ชั้น 8
- Surgical Short Stay Unit อาคารล้วน-เพิ่มพูล ว่องวานิช ชั้น 8
- ห้องส่งเสริมภาพลักษณ์และอาสาสมัครกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน อาคารล้วน-เพิ่มพูล ว่องวานิช ชั้นใต้ดิน
การให้บริการของศูนย์
ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านม ให้บริการแบบ “One-Stop Service” เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด และสอดคล้องกับนโยบาย Excellence Center ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
คลินิกมะเร็งเต้านมครบวงจร (Out-patient Breast clinic)
- ให้บริการตรวจผู้ป่วยนอกเฉพาะทางโรคเต้านมทุกชนิด
- มีทีมพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโรคเต้านม คอยดูแล ติดตาม ให้คำปรึกษาและคำแนะนำกับผู้ป่วยเฉพาะราย ผู้ป่วยสามารถโทรศัพท์ติดต่อได้ตลอดเวลา
หน่วยพยาธิวิทยาเต้านม (Breast Pathological)
- ตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาเฉพาะทางของโรคเต้านม
- ตรวจดัชนีบ่งชี้พยากรณ์โรคและดัชนีบ่งชี้ผลการรักษาของมะเร็งเต้านมในระดับโปรตีน (Immunohistochemistry testing)
- ตรวจวินิจฉัยชนิดของมะเร็งในระดับยีนเพื่อประกอบการวินิจฉัยและเลือกการรักษา (Multigene Test, Prosigna® NanoString PAM50) ซึ่งสามารถลดการใช้ยาเคมีบำบัดโดยไม่จำเป็นในผู้ป่วยเต้านมระยะเริ่มต้น
หน่วยวินิจฉัยโรคเต้านม (Diagnosis Breast Imaging Unit)
ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคเต้านมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ได้แก่
- แมมโมแกรม 3 มิติ (Digital Mammography and Breast Tomosynthesis)
เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เป็นมาตรฐาน ทำให้สามารถเห็นจุดหินปูนหรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติขนาดเล็กและนำข้อมูลไปประกอบกับการทำอัลตราซาวด์เพิ่ม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น - อัลตราซาวด์เต้านม (Breast Ultrasound)
ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและเอเซียที่นำการตรวจอัลตราซาวด์เต้านมมาใช้ตรวจคัดกรองโรคเต้านม เพื่อช่วยวินิจฉัยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น - เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เต้านม (Dedicated Breast CT)
เป็นนวัตกรรมล่าสุดในการตรวจเต้านมด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มีความสะดวก รวดเร็ว ทำได้ง่ายและไม่มีการกดทับหรือบีบอัดเต้านม รวมทั้งมีความปลอดภัย ในแง่ของ Radiation dose อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นต้องทำอัลตราซาวด์เต้านมร่วมด้วย นอกจากนี้ยังสามารถระบุตำแหน่งที่มีความผิดปกติของเต้านมได้อย่างแม่นยำ มีความละเอียดสูง สามารถหมุนได้ทุกทิศทางและขยายภาพเฉพาะจุดได้ อีกทั้งยังช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถวางแผนการผ่าตัดได้ - การตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Dedicated Breast MRI)
เป็นเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเต้านมโดยเฉพาะและเป็นเครื่องแรกในเอเชีย สามารถช่วยวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ เฉพาะจุดมากยิ่งขึ้น - การทำหัตถการเฉพาะทางด้านเต้านม (Image-guided Biopsy and Localization)
ห้องผ่าตัดโรคเต้านม (Operative Theatre)
ให้บริการการผ่าตัดและหัตถการเฉพาะโรคเต้านม
- การผ่าตัดมะเร็งเต้านมชนิดสงวนเต้านม (Conservative Breast Surgery)
- การผ่าตัดเต้านมและเสริมสร้าง (Breast cancer surgery and reconstruction)
- การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ (ICG, RI and Blue Dye Sentinel Lymph Node biopsy and Axillary Node surgery)
- การฉายรังสีระหว่างการผ่าตัด (Intraoperative radiation with Intrabeam, IORT)
- การผ่าตัดเนื้องอกที่เต้านมและหัตถการเฉพาะโรคเต้านมอื่น ๆ
Surgical Oncology Day Care Unit
- บริการรักษาพยาบาลด้วยยาเคมีบำบัดแบบผู้ป่วยนอก (Chemotherapy Daycare centre)
- บริการหมวกเย็นเพื่อลดผมร่วงหลังได้รับยาเคมีบำบัด (Scalp cooling for Hair preservation)
ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่เริ่มดำเนินการใช้ Scalp Cooling (หมวกเย็น) สามารถช่วยให้สตรีหลายรายไม่ต้องใช้วิกผม นอกจากนี้ในระหว่างการให้เคมีบำบัดมีการใช้ระบบติดตามสัญญาณชีพตลอดเวลาระหว่างการให้ยา (Real time Monitoring) เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัย
Surgical Short Stay Unit
บริการรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยใน สำหรับการผ่าตัดและดูแลในระยะสั้น 3 – 5 วัน โดยเน้นโรคเต้านม
ห้องส่งเสริมภาพลักษณ์และอาสาสมัครกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน
บริการเสื้อยกทรง เต้านมเทียม วิกผม ผ้าคลุมศีรษะ ฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมออก หรือผมร่วงภายหลังได้รับยาเคมีบำบัด โดยผู้ป่วยต้องมาติดต่อขอรับบริการด้วยตนเอง (ทางกลุ่มอาสาสมัครไม่รับเส้นผมบริจาค) เปิดให้บริการเฉพาะวันพุธและวันพฤหัสบดี เวลา 10.30 – 14.00 น. ณ อาคารล้วน-เพิ่มพูล ว่องวานิช ชั้นใต้ดิน
กิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
กลุ่มเต้นรำบำบัด
เป็นการออกกำลังกายในระดับปานกลาง โดยครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเต้นรำบำบัด และออกแบบท่าเต้นที่เหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยหลังผ่าตัดเต้านม หลังการฉายรังสีที่เต้านมและผู้ป่วยที่จบการรักษาแล้ว เนื่องจากจะช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของระบบเลือด จัดกิจกรรมทุกวันพุธและศุกร์ เวลา 11.00 – 12.30 น. ณ ห้องประชุมศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ อาคารล้วน-เพิ่มพูล ว่องวานิช ชั้น 9
คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ
- ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์เจ้าของไข้ระบุข้อความว่าสามารถปฏิบัติกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางได้
- หากเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะต้องมีจดหมายอนุญาตจากแพทย์เจ้าของไข้ระบุข้อความว่าสามารถปฏิบัติกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางได้
สามารถติดต่อเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ โทร. 02 256 4991 – 2 พยาบาลเบญจรัตน์ ธรรมปรีชาพงศ์ หรือน.ส.เพ็ญพร อยู่เย็น