โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ

Excellence Center of Organ Transplantation (ECOT)

รับบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะต่าง ๆ

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นผู้บุกเบิกในด้านการปลูกถ่ายอวัยวะของประเทศไทยมาตั้งแต่อดีต ดังนี้

  • ปลูกถ่ายไตสำเร็จเป็นที่แรกของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2515
  • ปลูกถ่ายตับสำเร็จเป็นที่แรกของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2530
  • ปลูกถ่ายหัวใจสำเร็จเป็นที่แรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ. 2530
  • เป็นแกนนำสำคัญในการประชุมเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะสมองตายเมื่อปี พ.ศ. 2532 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย ทำให้การปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศไทยพัฒนาขึ้นอย่างมากและส่งผลให้ผู้รับอวัยวะมีโอกาสอยู่รอดด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • ริเริ่มกิจกรรมวันรำลึกถึงผู้บริจาคอวัยวะต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้ญาติผู้บริจาคอวัยวะ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะและบุคลากรทางการแพทย์ได้ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้บริจาคอวัยวะ 
  • ปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2551

ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น คณะผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อดำเนินงานด้านการปลูกถ่ายอวัยวะโดยเฉพาะ
ภายหลังการก่อตั้งศูนย์ยังมีผลงานอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  • ปลูกถ่ายหัวใจครบ 100 ราย เมื่อปี พ.ศ. 2558
  • ปลูกถ่ายตับและไตในผู้ป่วยมะเร็งตับและไตวายเรื้อรังได้สำเร็จเป็นรายแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2559
  • ปลูกถ่ายตับในเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปี จากผู้บริจาคมีชีวิตข้ามหมู่เลือดเป็นรายแรกของประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2560
  • ปลูกถ่ายตับในเด็กที่มีน้ำหนักน้อยที่สุด (5.8 กิโลกรัม) จากผู้บริจาคมีชีวิตได้สำเร็จเป็นรายแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
    เมื่อปี พ.ศ. 2561

อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ริเริ่มการประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การผ่าตัดรับบริจาคอวัยวะ” ในปี พ.ศ. 2560 จากนั้นก็จัดประจำทุกปี เพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างทักษะการผ่าตัดรับอวัยวะบริจาคให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตในผู้รับอวัยวะมากขึ้น ทั้งนี้มีทีมศัลยแพทย์และพยาบาลจากทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

พันธกิจ

  1. ให้บริการการรับบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆโดยครอบคลุมงานการรักษาพยาบาลตั้งแต่ก่อนผ่าตัด  ทำผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ และการดูแลหลังการผ่าตัด  การฟื้นฟูสมรรถภาพ ป้องกันโรคแทรกซ้อน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแบบครบวงจร โดยความร่วมมือจากสหสาขาวิชาชีพ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และให้ความสำคัญกับผู้บริจาคอวัยวะ โดยเฉพาะความปลอดภัยของผู้บริจาคที่มีชีวิต
  2. เป็นแหล่งการเรียนรู้  ฝึกอบรม การเรียนการสอนทั้งระดับบัณฑิตศึกษา และระดับหลังปริญญา
  3. วิจัย พัฒนา และสิ่งประดิษฐ์ เป็นที่ยอมรับระดับชาติและนานาชาติพัฒนา นวัตกรรม หรือ เทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

เจตจำนง

พัฒนาการปลูกถ่ายอวัยวะให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และการบริการรักษาพยาบาลเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน มีธรรมาภิบาลและบุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ภาระหน้าที่

  1. ให้บริการการรับบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะต่าง ๆ ทั้งในด้านรักษาพยาบาลฟื้นฟูสมรรถภาพ ป้องกันโรคแทรกซ้อนและ
    ส่งเสริมสุขภาพที่มีคุณภาพระดับสากล
  2. เป็นแหล่งการเรียนรู้ สร้างนวัตกรรม ฝึกอบรม ค้นคว้าวิจัย และบริการวิชาการจนเป็นที่ยอมรับระดับสากล
  3. พัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากร

ภารกิจหน่วยงานที่สนับสนุน

  1. รับแจ้งผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
  2. ประสานงานเกี่ยวกับการรับบริจาคอวัยวะ และการปลูกถ่ายอวัยวะทั้งในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และภายนอกโรงพยาบาล
  3. ออกผ่าตัดรับบริจาคอวัยวะทั้งในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  และ ภายนอกโรงพยาบาล
  4. ให้คำปรึกษาผู้ป่วยที่มาเพื่อรับการปลูกถ่ายอวัยวะและหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ
  5. ประเมินผู้ป่วย (และผู้บริจาคอวัยวะที่มีชีวิต)เพื่อเข้าสู่กระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะตามเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
  6. ลงทะเบียนผู้ป่วยเพื่อเป็นผู้รอรับบริจาคอวัยวะกับทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
  7. ลงทะเบียนสิทธิโครงการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยก่อนปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น  สิทธิบัตรทอง , สิทธิประกันสังคม เปิดสิทธิ และ ตรวจสอบสิทธิโครงการปลูกถ่ายอวัยวะ เมื่อผู้ป่วยมารับการตรวจรักษา ทั้งก่อนปลูกถ่ายอวัยวะและหลังปลูกถ่ายอวัยวะ
  8. ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะให้กับผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  9. ให้การรักษาดูแล และติดตามผู้ป่วยก่อน-หลังปลูกถ่ายอวัยวะ ตามมาตรฐาน และ เป้าหมายที่กำหนด

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ ประกอบด้วยคลินิกเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการปลูกถ่ายอวัยวะ ดังนี้

  1. คลินิกศัลยกรรมตับ ตับอ่อน และการปลูกถ่ายอวัยวะในช่องท้อง
  2. คลินิกปลูกถ่ายตับในเด็ก
  3. คลินิกปลูกถ่ายไต
  4. คลินิกปลูกถ่ายหัวใจและปอด

การให้บริการของศูนย์

  1. ให้การดูแลรักษาสุขภาพพร้อมกับให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ป่วยก่อนและหลังปลูกถ่ายอวัยวะแบบองค์รวม มากไปด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ได้แก่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์  ทำให้ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์แห่งนี้สามารถปลูกถ่ายอวัยวะให้กับผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมากขึ้น มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มการศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วย

  2. มีความโดดเด่นในด้านการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะอย่างครบวงจรด้วยทีมแพทย์ที่มีความสามารถเทียบเท่าระดับสากลในการปลูกถ่าย “ไต ตับ หัวใจและปอด”

  3. มีพยาบาลที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการปลูกถ่ายอวัยวะประสานงานกับผู้ป่วยและแพทย์โดยตรงอย่างฉับไว ทันท่วงที ตลอด
    24 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล รักษาที่มีประสิทธิภาพ ทันเหตุการณ์

นอกจากนี้ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ ยังมีกิจกรรมในช่วงปีที่ผ่านมาอีกด้วย ได้แก่

1. โครงการปลูกถ่ายไต 100 รายเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10
เป็นโครงการเพิ่มศักยภาพการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจาก “ผู้บริจาคที่มีชีวิต” โดยตั้งเป้าการผ่าตัดทั้งสิ้น 100 รายซึ่งเป็นการผ่าตัดกรณี
หมู่เลือดเข้ากันไม่ได้

2. กิจกรรมรับบริจาคอวัยวะ ในงาน “ORGAN CAN SHARE” ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์การค้า MBK เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562
เป็นการเสวนาให้ความรู้และความเข้าใจในหัวข้อ “ปาฏิหาริย์แห่งการให้” จากผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายอวัยวะโดย รศ.นพ.บุญชู ศิริจินดากุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ พร้อมคนบันเทิงมากมาย

3. การประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การผ่าตัดรับบริจาคอวัยวะ” (Lecture & Hands-on workshop organ retrieval) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2562
วัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างทักษะการผ่าตัดรับอวัยวะบริจาคให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตในผู้รับอวัยวะมากขึ้น ทั้งนี้มีทีมศัลยแพทย์และพยาบาลจากทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

4. “วันรำลึกถึงผู้บริจาคอวัยวะ” (Donor remembrance day) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2562
เพื่อให้ญาติผู้บริจาคอวัยวะ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และบุคลากรทางการแพทย์ ได้ร่วมกันทำบุญรำลึกถึงผู้บริจาคอวัยวะ

  1. คลินิกศัลยกรรมตับ ตับอ่อน และการปลูกถ่ายอวัยวะในช่องท้อง
    ให้บริการทุกวันศุกร์ เวลา 08.00 – 12.00 น. ณ อาคาร ภปร ชั้น 6
  2. คลินิกปลูกถ่ายตับในเด็ก
    ให้บริการทุกวันพุธ เวลา 08.00 – 12.00 น. ณ อาคาร ภปร ชั้น 9 ห้องตรวจ 1
  3. คลินิกปลูกถ่ายไต
    ให้บริการทุกวันพุธ เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ อาคาร ภปร ชั้น 3
  4. คลินิกปลูกถ่ายหัวใจและปอด
    ให้บริการทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ อาคาร ภปร ชั้น 12

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 26 โซน C

 

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4000 ต่อ 82601-2 (ในเวลาราชการ 08.00 – 16.00 น.)
095 365 3741 (นอกเวลาราชการ)

บทความที่เกี่ยวข้อง

โครงการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการบำบัดทดแทนไตในภาวะวิกฤต (CRRT) “14th The Basic course of Continuous Renal Replacement Therapy 2024”

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต โรงพบาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับฝ่ายการพยาบาล จัด “โครงการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการบำบัดทดแทนไตในภาวะวิกฤต (CRRT)” ครั้งที่ 14

ASIA PACIFIC RESUSCITATION

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดการประชุมวิชาการด้านเวชบำบัดวิกฤตประจำปี ครั้งที่ 4 “ASIA PACIFIC RESUSCITATION NURSES CONFERENCE”

“Global Collaboration to Improve Stroke Care in Thailand and Beyond” ความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “Global Collaboration to Improve Stroke Care in Thailand and Beyond”

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์