นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการเดินและเคลื่อนไหว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ก่อตั้งขึ้นภายใต้นโยบายของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาระบบการบริการรักษาพยาบาลให้มีความเป็นเลิศ ครบวงจร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับชาติ อีกทั้งเป็นการตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพที่ซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับของประชาชน
ในปัจจุบันพบผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเดิน การทรงตัว และการเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านสาธารณสุข อาทิ โรคข้อเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง บาดเจ็บสมองหรือไขสันหลัง โรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อเกร็งตัวผิดปกติ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกและข้อ เด็กสมองพิการ การบาดเจ็บจากการกีฬา การฝึกนักกีฬาเพื่อลงแข่งขัน เป็นต้น ในปัจจุบันพบว่าแพทย์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ของประเทศไทยยังมีไม่มากนัก จึงได้มีการรวบรวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์การเดินและการเคลื่อนไหวจากสาขาต่าง ๆ จัดตั้งเป็นศูนย์นี้ขึ้น ให้บริการวิเคราะห์การเดินและการเคลื่อนไหวด้วยเครื่องมือ 3-D motion analysis ที่ทันสมัยและเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก เพื่อให้การรักษาผู้ที่มีความผิดปกติดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นประโยชน์ด้านการเรียนการสอนและการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดารเดินและการเคลื่อนไหว
เจตจำนง
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการเดินและเคลื่อนไหวเป็นต้นแบบในการให้บริการตรวจวิเคราะห์ และบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาด้านการเดินและการเคลื่อนไหวผิดปกติที่มีมาตรฐานระดับชาติ
ภาระหน้าที่
- สร้างความเป็นเลิศทางการบริการทางการแพทย์ด้านการเดิน และเคลื่อนไหว
- สร้างความเป็นเลิศทางการวิจัยด้านการเดิน และเคลื่อนไหว
- สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการด้านการเดิน และเคลื่อนไหว
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการเดิน และเคลื่อนไหว อยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยมีคลินิกที่เกี่ยวข้องที่เปิดให้บริการอีก 2 คลินิก ได้แก่ คลินิกฟื้นฟูผู้สูงอายุก้าวหน้า และคลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟูทางกีฬา
การให้บริการ
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการเดิน และเคลื่อนไหว ให้บริการตรวจวิเคราะห์การเดิน และการเคลื่อนไหวด้วยกล้องอินฟาเรดความเร็วสูงและโปรแกรมวิเคราะห์การเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ (3-D Motion analysis) ตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อแบบไร้สาย (Wireless EMG) ตรวจวัดการลงน้ำหนักและแรงกดที่เท้า (Force pressure platform) สำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และนักกีฬา อีกทั้งให้บริการทางวิชาการแก่แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด นิสิตระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต อาทิการเก็บข้อมูลการวิจัย และจัดอบรมให้ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจประเมินการเคลื่อนไหว
มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานดังนี้
- บริการตรวจวิเคราะห์ และฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเดิน การเคลื่อนไหว และการทรงตัวจากโรคต่าง ๆ
- บริการการรักษา และฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บจากการกีฬาแบบครบวงจรด้วยวิทยาการทางการแพทย์ขั้นสูง โดยความร่วมมือจากสหสาขาวิชาชีพ
- จัดการเรียนการสอนร่วมกับหลักสูตรบัณฑิตศึกษา และหลักสูตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
- ดำเนินงานวิจัยด้านการเดิน การเคลื่อนไหวและการทรงตัว
- พัฒนานวัตกรรมนำมาใช้ยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาล
- เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ
กิจกรรมอื่น ๆ ของศูนย์
- จัดประชุมวิชาการ และประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการเดิน และการเคลื่อนไหวเรื่อง Foot and ankle biomechanics and pathology ในวันที่ 7 และ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562
- จัดสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “International Seminar for In-house Training of the Visual3D Biomechanics Software” วันเสาร์ ที่ 25 มกราคม 2563 เวลา 08.45 – 16.00 น.
- จัดการเรียนการสอนแพทย์ประจำบ้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ชั้นปีที่ 1 – 3 เรื่อง Gait and balance assessment using devices ปีละ 1 – 2 ครั้ง
- ให้บริการตรวจประเมินผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเดิน การทรงตัว และการล้มในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ