โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่

Thai Red Cross Emerging Infectious Diseases Health Science Centre

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพระดับนานาชาติ ด้านการวิจัย วินิจฉัย รักษา และควบคุมโรคอุบัติใหม่ และโรคสมอง

นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง (ห้องปฏิบัติการโรคทางสมองและโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในปัจจุบัน) ได้เริ่มก่อตั้งขึ้น ด้วยทุนสนับสนุนจากสภากาชาดไทยที่มีภารกิจหลักในด้านการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยทางสมองทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ รวมทั้งงานพัฒนานวัตกรรมการตรวจโรคทางสมองและงานวิจัยโรคพิษสุนัขบ้าแบบครบวงจร ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็น ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน (WHO Collaborating Center for Research and Training on Viral Zoonoses) ที่เน้นการทำงานด้านโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คนและโรคอุบัติใหม่เพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านงานวินิจฉัย งานวิจัยและงานเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ป่าสู่คน ที่นำมาสู่การพัฒนาศักยภาพในการตรวจโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงที่แม้ไม่เคยเกิดในประเทศไทย อาทิ อีโบลา เมอร์ส ไข้เหลือง และ โควิด-19 เป็นต้น โดยที่สามารถตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยติดเชื้อเมอร์สและผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกของประเทศไทยได้สำเร็จ โดยใช้เวลาการวินิจฉัยเบื้องต้นภายใน 8 ชั่วโมงและยืนยันผลการถอดรหัสพันธุกรรมได้ภายใน 24 ชั่วโมง 

ต่อมาร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ ในโรงพยาบาลพัฒนาขั้นเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานของศูนย์โรคติดต่ออุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ได้รับอนุมัติจัดตั้งตามคำสั่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ 1151/2559  ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

ผลงานที่โดดเด่นของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่

เจตจำนง

Internationally Renowned Health Science Center ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพระดับนานาชาติ ด้านการวิจัยพัฒนานวัตกรรม วินิจฉัย รักษา ควบคุมโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ โรคทางสมอง ทั้งติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ และส่งเสริมสุขภาพของประชาชน

ภาระหน้าที่

Advance Innovation พัฒนานวัตกรรมที่สามารถวินิจฉัย ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ประชาชน

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ประกอบด้วยหน่วยงานย่อย ดังนี้

  1. แผนกทะเบียนและธนาคารตัวอย่าง
  2. แผนกงานบริการทางห้องปฏิบัติการ
    • งานโรคติดเชื้อ
    • งานโรคทางสมอง
    • งานโรคอุบัติใหม่ และอุบัติซ้ำ
  3. แผนกงานวิจัยและพัฒนา
    • งานวิจัยและนวัตกรรม
    • งานชีวสารสนเทศและธนาคารรหัสพันธุกรรม
  4. แผนกงานบริหาร
    • งานประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้

การให้บริการของศูนย์

1. งานบริการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ

โรคที่ต้องจับตา 
ตรวจวินิจฉัยสิ่งส่งตรวจผู้ป่วยโรคติดต่ออันตราย และโรคระบาดประจำถิ่นที่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงจากการกลายพันธุ์หรือเป็นโรคระบาดอื่น ๆ เช่น การระบาดของโรคไข้เลือดออกซิกา ไข้หวัดใหญ่ โควิดสายพันธ์ต่างๆ ในสัตว์ป่า

  • โรคอุจจาระร่วงที่ทำให้เสียชีวิตหรือระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ด้วยนวัตกรรมถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโรคหรือตัวบ่งชี้ต้นตอ
  • โรคที่มีโอกาสจะข้ามถิ่นมาระบาดในไทย
    พัฒนานวัตกรรมและบริการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการโรคต่างถิ่นที่มีโอกาสข้ามถิ่นก่อโรคติดต่ออันตราย หรือระบาดได้ในประเทศไทย รวมทั้ง อีโบลา ไข้เหลือง เมอร์ส ไวรัสมาร์บวร์ก ฝีดาษลิง เพื่อให้สามารถตรวจจับโรคได้ก่อนที่จะแพร่สู่ชุมชนในวงกว้าง
  • โรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดที่ใดมาก่อน
    ตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไม่ทราบสาเหตุเชิงลึก ในระดับโมเลกุล เพื่อค้นหาสาเหตุการเกิดโรคที่อาจจะเป็นเชื้อใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน หรือเป็นเชื้อโรคเดิมแต่ก่อโรคในกลุ่มอาการใหม่
  • โรคทางสมอง 
    ตรวจวินิจฉัยโรคทางสมองครบวงจร ทั้งโรคติดเชื้อและที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาทิ โรคสมองที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน โรคความเสื่อมของระบบประสาท และ โรคคล้ายวัวบ้า โรคสมองอื่นๆให้บริการทั้งผู้ป่วยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

2. งานบริการวิชาการ

เพื่อสนับสนุนข้อมูลทางด้านวิชาการแก่ กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายขององค์การอนามัยโลก และอนามัยสัตว์โลก ด้านการวิจัย วินิจฉัย รักษา และควบคุมโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ รวมถึงโรคทางสมองในมิติต่าง ๆ ทั้งติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ อาทิ งานสอบสวนโรคร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเกิดโรคระบาดไม่ทราบสาเหตุ วิจัยและพัฒนาการตรวจโรคสมองเสื่อม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรองรับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากสังคมสูงอายุ ร่วมจัดทำคู่มือการดูแลโรค เวชปฏิบัติ คู่มือการตรวจวินิจฉัย เป็นคณะกรรมการ – ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลกเจนีวาและภาคพื้นเอเชีย จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สาธารณะทั้งระดับวิชาการและประชาชน เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่หน่วยงานภายนอก จัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคอุบัติใหม่ (www.trceid.org)

3. ปฏิบัติการเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่เชิงรุก

  • ปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยด้วยกระบวนการพัฒนาที่มีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา โรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดที่ใดมาก่อนในผู้ป่วย เพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระดับประเทศ และนานาชาติ
  • พัฒนานวัตกรรมที่สามารถวินิจฉัย ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคอุบัติใหม่ โดยมีความพร้อมรองรับโรคที่เกิดจากเชื้อได้หลากหลายรูปแบบ และครอบคลุมกลุ่มโรคที่ไม่เคยระบาดในประเทศไทยมาก่อน เช่น โรควัวบ้า
  • ร่วมพัฒนากระบวนการรักษาและวินิจฉัย ด้วยการผลิตยาและชุดตรวจกับหน่วยงานเครือข่ายระดับประเทศ และนานาชาติ
  • พัฒนานวัตกรรมที่สามารถวินิจฉัยและพยากรณ์โรคความเสื่อมของระบบประสาทตั้งแต่ระยะที่ยังไม่มีอาการ ที่ตรวจได้สะดวก รวดเร็ว มีราคาถูก และนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำนายอุบัติการณ์ของโรค คาดคะเนภาระทางเศรฐกิจและสังคมในอนาคตอันใกล้ อันเป็นผลมาจากโรคเหล่านี้ มีเป็นแนวทางในการเตรียมรับมือ ป้องกันและค้นคว้าหาวิธีรักษา
  • สร้างเครือข่ายระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม และนวัตกรรมด้านการค้นหาโรคเชิงรุก

4. งานพัฒนาเชิงรุกโรคอุบัติใหม่

  • งานวิจัยและพัฒนา การป้องกัน-รักษาโรค: วัคซีน ชุดตรวจ ยาต้านเชื้อไวรัส เทคโนโลยีรักษาใหม่ ๆ
  • การศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐานเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดเพื่อการรักษาและควบคุมโรค ทั้งโรคติดเชื้อ
    และไม่ติดเชื้อ
  • ธนาคารตัวอย่างชีวภาพ โรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ เพื่อการตรวจสอบสาเหตุของโรคย้อนหลังและเพื่อการศึกษาวิจัยโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ
  • ธนาคารตัวอย่างทางชีวภาพ โรคความเสื่อมของระบบประสาท เพื่อใช้ตัวอย่างในการวิจัยสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของโรค พัฒนาการตรวจเพื่อวินิจฉัยและพยากรณ์โรค นำไปสู่การค้นคว้าหาวิธีรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพ

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ เปิดให้บริการเวลา 08.30 – 16.030 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ

และกรณีสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ณ อาคาร อปร ชั้น 9 ห้อง 912

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ อาคาร อปร ชั้น 9

 

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4000 ต่อ 3562 3622

 

เว็บไซต์หน่วยงาน

www.trceid.org

บทความที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคตับออกหน่วยตรวจคัดกรองโรคตับ

เมื่อวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2562 ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลกและพระครูหิรัญประชามานิตย์ ได้ร่วมออกหน่วยในโครงการศูนย์ฯ โรคตับสัญจร ครั้งที่ 1

งานประชุมวิชาการ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร

ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำหัตถการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารในสถานการณ์โควิด-19 และแนวทางการควบคุมการติดเชื้อผ่านทางกล้องส่องระบบทางเดินอาหาร

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิด “ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินเปิด “ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ”

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์