ด้วยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีภารกิจที่จะต้องสร้างหลักประกันในการให้บริการผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสังคม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “โครงการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” ในปี พ.ศ. 2543 โดยมีสถานที่ปฏิบัติงาน เรียกว่า “สำนักงานโครงการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เป็นหน่วยงานชั่วคราว มีเจ้าหน้าที่จากฝ่ายการพยาบาล 2 อัตรา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ จำนวน 3 อัตรา มาปฏิบัติงาน โดยมีเป้าหมาย คือ การนำมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นมาตรฐานแห่งชาติที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพ และได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพ (Hospital Accreditation : HA) จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545
ต่อมาได้ขออนุมัติจัดตั้งเป็น “ศูนย์พัฒนาคุณภาพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์”เมื่อปี พ.ศ. 2552 เป็นหน่วยงานถาวร มีอัตรากำลัง 14 อัตรา ได้ดำเนินงานสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงพยาบาลได้รับรางวัลบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class) จากสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2557 โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์คุณภาพระดับนานาชาติ ดังนั้นศูนย์พัฒนาคุณภาพจึงยังคงยืนหยัดในการปฏิบัติภารกิจ และทำหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และยกระดับคุณภาพโรงพยาบาลจนผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพสถานพยาบาลขั้นก้าวหน้า (Advanced Healthcare Accreditation Program) จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565
รางวัล หรือความภาคภูมิใจของศูนย์
1. สนับสนุนให้โรงพยาบาลผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพ Hospital Accreditation โดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน
2. สนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศ (EC) และหน่วยงานทางคลินิกให้ผ่านการรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค (Disease specific Certification : DSC ) โดย สรพ. ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว ระบบการดูแลรักษาโรคเบาหวาน ระดับศูนย์เบาหวาน ศูนย์หลอดเลือดสมองมาตรฐานครบวงจร และการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
3. สนับสนุนบรรยากาศการพัฒนาคุณภาพขององค์กรอย่างต่อเนื่อง เช่น
- โครงการพัฒนาคุณภาพด้วยแนวคิด Lean เพื่อลดความสูญเปล่าในกระบวนการทำงาน เป็นเวลาต่อเนื่อง 10 ปี จำนวนกว่า 200 โครงการ
- โครงการ 5ส เป็นเครื่องมือจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อความปลอดภัยของทุกหน่วยงานทั่วทั้งโรงพยาบาล
- สนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาคุณภาพ ก่อให้เกิดโครงการพัฒนาคุณภาพต่าง ๆ ทั่วทั้งโรงพยาบาล ปีละกว่า 200 โครงการต่อเนื่องทุกปี
- เผยแพร่ผลงานพัฒนาคุณภาพของหน่วยงานต่าง ๆ สู่เวทีระดับชาติทั้งในและต่างประเทศ
- จัดมหกรรมคุณภาพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเสนอผลงานคุณภาพให้บุคลากร และองค์กรพันธมิตร
เจตจำนง
เราจะเป็นศูนย์กลางความรู้และเทคนิคด้านการพัฒนาคุณภาพ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพสำหรับทุกหน่วยงาน สนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาคุณภาพในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ
ภาระหน้าที่
- สนับสนุน ส่งเสริม และฝึกอบรม ให้บุคลากรมีความรู้และทักษะในการพัฒนาคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการและภาระงาน
- กระตุ้น ส่งเสริมและสนับสนุน หน่วยงานต่าง ๆ ในทุกระดับ ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยเทคนิคที่เหมาะสมและมีความสุข
- สนับสนุน ประสานงานให้มีการนำมาตรฐานโรงพยาบาลไปใช้และได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์กรภายนอก
- รวบรวม วิเคราะห์ เผยแพร่ และส่งเสริมการนำไปใช้ข้อมูลด้านคุณภาพขององค์กรให้เกิดประโยชน์
- สนับสนุนงานวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพ
การให้บริการของศูนย์พัฒนาคุณภาพ
- การบริหารจัดการระบบการรับรองกระบวนการคุณภาพโรงพยาบาล (Hospital Accreditation) จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
- สนับสนุนงบประมาณ โครงการพัฒนาคุณภาพ ให้ ฝ่าย/ศูนย์/กรรมการระบบต่าง ๆ
- จัดทำระบบการเยี่ยมสำรวจภายใน (Internal Survey) เพื่อการพัฒนาคุณภาพ
- รวบรวม และจัดทำรายงานเครื่องชี้วัดคุณภาพของโรงพยาบาลให้ผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ข่าวสารด้านการพัฒนาคุณภาพให้แก่บุคลากรภายในองค์กร
- สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพ (Research for Quality) และการเผยแพร่ผลงานสู่สังคม
- สนับสนุนการใช้เครื่องมือพัฒนาคุณภาพภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เช่น Lean, CQI, 5ส
- จัดหลักสูตรฝึกอบรมความรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพ ทั้งภายในและนอกโรงพยาบาล