ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เริ่มต้นขึ้น นับตั้งแต่มีมติเปลี่ยนสถานะแผนกวิชาจักษุวิทยาเป็นฝ่ายจักษุวิทยา ในปี พ.ศ. 2511 จากนั้นทางฝ่ายยังได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วย ทั้งแผนกผู้ป่วยนอก
ผู้ป่วยใน และห้องผ่าตัดให้ทันสมัย โดยฝ่ายจักษุวิทยาได้มีการเพิ่มจำนวนห้องผ่าตัดเป็น 8 ห้อง สำหรับหอผู้ป่วยใน ปัจจุบันได้ย้ายมาที่อาคาร
ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ และแผนกผู้ป่วยนอก ได้ย้ายมาประจำการอยู่ ณ อาคาร ส.ธ. นอกเหนือจากการปรับสถานที่เพื่อให้รองรับกับจำนวนผู้มารับบริการที่เพิ่มขึ้นแล้ว เรายังได้มีการพัฒนาความพร้อมของอุปกรณ์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยโรคตาที่มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย ในส่วนของธุรการของฝ่าย ปัจจุบันตั้งอยู่ที่อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ชั้น 16
สำหรับความภาคภูมิใจของฝ่าย คือ การได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณหน่วยงานเครือข่ายช่วยการจัดหาและบริการดวงตาด้าน “การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตามากที่สุดประจำปี” จากสภากาชาดไทยและหน่วยงานเครือข่าย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
เจตจำนงและภาระหน้าที่
เป็นสถาบันจักษุวิทยา ที่บูรณาการบริการ วิจัย และการเรียนการสอน เพื่อเป็นต้นแบบด้านจักษุวิทยาในระดับนานาชาติ
ฝ่ายจักษุวิทยา มีการแบ่งหน่วยย่อยออกเป็น 9 หน่วย ได้แก่
- หน่วยกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา
- หน่วยต้อหิน
- หน่วยจอประสาทตาและวุ้นตา
- หน่วยจักษุวิทยาตกแต่งและเสริมสร้าง
- หน่วยจักษุวิทยาเด็กและกล้ามเนื้อตา
- หน่วยจักษุประสาทวิทยา
- หน่วยจักษุวิทยาภูมิคุ้มกันและการอักเสบ
- หน่วยเลนส์สัมผัสและสายตาเลือนราง
- หน่วยจักษุพยาธิวิทยา
และยังมีศูนย์ที่ดำเนินงานภายใต้การดูแลของภาควิชา อีก 2 ศูนย์ ได้แก่
- ศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ
- ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการให้บริการการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคกระจกตา
ศ.พญ.วสี ตุลวรรธนะ
หัวหน้าฝ่ายจักษุวิทยา
การให้บริการของฝ่ายจักษุวิทยา
ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีทีมจักษุแพทย์ บุคลากร และเทคโนโลยีชั้นนำที่มีความพร้อมมากที่สุดในระดับประเทศ และในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคขั้นสูงในการผ่าตัดต้อกระจก การพัฒนาการรักษาด้านจอประสาทตา การพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาต้อหิน และเทคโนโลยีในการรักษาต่าง ๆ เช่น การรักษาโรคกระจกตาด้วยสเต็มเซลล์ เป็นต้น นอกจากนี้ ฝ่ายจักษุวิทยายังได้ร่วมก่อตั้งหน่วยประสาทศาสตร์ โดยผนึกกำลังกันระหว่างสาขาที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอื่น ๆ เพื่อยกระดับการรักษาในโรคที่เกี่ยวข้องกับประสาทให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้มีการจัดตั้งทีมหน่วยวิจัยต้อหิน และหน่วยวิจัยจอประสาทตา ที่ได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนางานวิจัยและต่อยอดงานบริการออกสู่สังคมอีกด้วย
ด้านการศึกษาและฝึกอบรม ทางฝ่ายมีความพร้อมด้านการเรียนการสอนเพื่อผลิตจักษุแพทย์ที่มีคุณภาพสำหรับประเทศไทย และจักษุแพทย์เฉพาะทางอีก 6 สาขา มีการ
เตรียมความพร้อมสู่เป้าหมายที่จะเป็นผู้นำด้านจักษุวิทยาในระดับภูมิภาค โดยมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดในระดับสูง พร้อมทั้งเปิดโครงการอบรมในระดับนานาชาติเพื่อประกาศตัวเป็น International Training Center ในด้านเทคโนโลยีตรวจวินิจฉัยและการผ่าตัดผู้ป่วยทางจักษุ
นอกจากเป้าประสงค์ที่จะยกระดับสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคแล้ว มิติของการรับใช้สังคมก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยทางฝ่ายได้เล็งเห็นความสำคัญของการออกหน่วยให้บริการรักษา ทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ โดยร่วมกับสภากาชาดไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือที่ประเทศภูฏาน 2 ปีติดต่อกัน