ฝ่ายโภชนวิทยาและโภชนบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2518 โดยตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของอาคารอุปการเวชชกิจ เป็นฝ่ายผลิตอาหารเพื่อบริการให้กับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
วิสัยทัศน์
ฝ่ายโภชนวิทยาและโภชนบำบัด ให้บริการทางโภชนาการและโภชนบำบัดแก่ผู้ป่วย อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานวิชาชีพเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ มุ่งสู่การเป็นผู้นำในการบริหารจัดการอาหารผู้ป่วยเฉพาะโรคในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายในปี 2568
พันธกิจ
ให้บริการอาหารที่ สะอาด ปลอดภัย ถูกต้อง เพียงพอ ตรงเวลา ได้มาตรฐาน และถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงมีการประเมินวางแผนการให้โภชนบำบัด แก่ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โดยฝ่ายโภชนวิทยาและโภชนบำบัดได้ผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งหมด 4 ระบบด้วยกันคือ
- การรับรองกระบวนการคุณภาพสถานพยาบาลขั้นก้าวหน้า (HA Advanced)
- GMP in mass Catering ระดับ Excellent ของการบริการอาหารผู้ป่วยและอาหารทางสายให้อาหาร
- GHPs Codex ของการบริการอาหารผู้ป่วยและอาหารทางสายให้อาหาร
- HACCP Codex ของห้องอาหารทางสายให้อาหาร
จากทางสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม (National Food Institute)
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับอาหารถูกต้องตามคำสั่งแพทย์และหลักโภชนบำบัด
- เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ปราศจากสิ่งปนเปื้อน
- เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มโรคสำคัญได้รับการประเมินคัดกรองภาวะโภชนาการและได้รับการวางแผนทางด้านโภชนาการและโภชนบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสม
- เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความพึงพอใจด้านอาหารและการบริการ
โครงสร้างของฝ่ายโภชนวิทยาและโภชนบำบัด ประกอบด้วยส่วนงานย่อย ดังนี้
- งานบริหารงานทั่วไป
- งานโภชนศึกษา
- งานโภชนบำบัด
- งานโภชนบริการ
การให้บริการ
งานบริการของฝ่ายโภชนวิทยาและโภชนบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีหน้าที่ให้บริการอาหารดังนี้
- บริการอาหารผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล ถูกต้องตามคำสั่งแพทย์แก่ผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยเฉพาะโรค และผู้ป่วยที่ได้รับอาหารทางสายอาหาร โดยประมาณ 1,433 เตียง/วัน
- บริการอาหารนักศึกษาพยาบาล มื้อหลัก 3 มื้อ โดยประมาณ 1,250 ที่/วัน
- บริการอาหารแก่แพทย์ห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน และหอผู้ป่วยวิกฤติที่ขึ้นปฏิบัติงาน ในมื้อกลางวัน มื้อเย็น และมื้อดึก โดยประมาณ 50 ที่/วัน
- บริการจัดภัตตาหารของพระภิกษุแก่ผู้ที่มาทำบุญ
- บริการจัดเลี้ยงในวันสำคัญต่างๆ หรือตามคำสั่งของทางโรงพยาบาลทั้งอาหารว่างและอาหารมื้อหลัก
- ภารกิจพิเศษในการจัดเตรียมพระกระยาหารของพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนถึงผู้ติดตาม ในวาระโอกาสต่างๆ
อีกทั้งฝ่ายโภชนวิทยาและโภชนบำบัด ได้ร่วมกับทีมสหสาขาประจำคลินิกต่างๆ เพื่อให้คำปรึกษาด้านโภชนาการในกลุ่มผู้ป่วยต่าง ๆ ดังนี้
- ผู้ป่วยโรคอ้วน และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ทั้งผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่
- ผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการหรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
- ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ก่อนล้างไต และหลังล้างไต ทั้งวิธีล้างไตทางหลอดเลือด (HD) และทางหน้าท้อง (CAPD)
- ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งหู คอ จมูก
- ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม (Dementia)
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
- ผู้สูงอายุ ที่มีความสนใจทางด้านโภชนาการ (คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี)
- ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
- ผู้ป่วยในที่มีการส่งปรึกษาปัญหาทางโภชนบำบัดระหว่าการพักรักษาตัว หรือการให้โภชนศึกษาก่อนการกลับบ้านจากแพทย์ผู้รักษาทุกราย
นอกจากนี้ ฝ่ายโภชนวิทยาและโภชนบำบัดยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานเกี่ยวกับระบบการให้บริการอาหารผู้ป่วย และระบบการให้บริการอาหารทางสายให้อาหาร แก่บุคลากรทั้งภายในและภายนอกองค์กร ที่สนใจงานบริการอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ กับทีมสหสาขาวิชาชีพ และประชาชนผู้สนใจทางด้านโภชนาการอีกด้วย