โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ฝ่ายทันตกรรม

Dental Center

เป็นหน่วยงานด้านการบริการทางทันตกรรม เพื่อสนับสนุนการบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน

ฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้รับการก่อตั้งขึ้นและเปิดให้บริการผู้ป่วยด้านทันตกรรมในปี พ.ศ. 2462 โดยมีนายแพทย์ เอชเรก เด และพระอาจวิทยาคม เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและปฏิบัติงานร่วมกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 หน่วยทันตกรรมได้มาขึ้นตรงกับแผนกศัลยกรรมของโรงพยาบาล โดยมีทันตแพทย์อารี สิมารักษ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทันตกรรม ณ ขณะนั้น ซึ่งในเวลาถัดมาหน่วยทันตกรรมได้แยกออกมาอย่างอิสระและตั้งให้เป็นหมวดทันตกรรมของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์โดยมีทันตแพทย์สว่าง เตระยานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าหมวดฯ

ต่อมาภายหลังจากที่มีการสร้างและเปิดบริการอาคารผู้ป่วยนอกแห่งใหม่ในนาม “อาคารจุฬาภรณ์” หมวดทันตกรรมจึงย้ายเข้ามาอยู่ในอาคารผู้ป่วยนอกแห่งนี้ และเปิดให้บริการทางทันตกรรมแก่ผู้ป่วยทั่วไปที่อาคารจุฬาภรณ์ ชั้น 2 ในนามแผนกทันตกรรม โดยมีทันตแพทย์ร้อยโทวิบูลย์ สุวิกรม ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกทันตกรรมเป็นต้นมา โดยในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 นั้น นอกจากการบริการทางทันตกรรมแก่ผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลแล้ว แผนกทันตกรรม ณ ขณะนั้น ยังร่วมกับกองบรรเทาทุกข์ ได้จัดให้มีการออกปฏิบัติงานให้บริการตรวจรักษาทางทันตกรรม เพื่อกระจายการให้บริการสู่ผู้ป่วย ณ ภูมิลำเนาห่างไกลตามขอบชายแดนของประเทศไทย ในรูปแบบของหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ด้วย

ในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. 2532 “อาคาร ภปร” ซึ่งเป็นอาคารผู้ป่วยนอกแห่งใหม่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ทันสมัยและพร้อมเปิดให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยในเวลานั้น ฝ่ายทันตกรรมจึงได้ย้ายมาเปิดให้บริการที่อาคาร ภปร ชั้น12 โดยเปิดให้บริการนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2560 ได้มีการปรับปรุงสถานที่ ที่ อาคาร ภปร ชั้น 17 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นคลินิกทันตกรรมที่สามารถเพิ่มศักยภาพในการให้บริการทันตกรรมแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ จึงย้ายมาเปิดให้บริการที่อาคาร ภปร ชั้น 17 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยทำการปรับปรุงพื้นที่ห้องบริการรักษาทันตกรรม เครื่องมือต่าง ๆ ให้ทันสมัยพร้อมใช้งานมากขึ้น รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อให้บริการทางทันตกรรมที่เป็นมาตรฐาน สร้างความปลอดภัย และครบวงจรในสาขาเฉพาะทางทันตกรรมต่างๆ โดยให้บริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในที่ได้รับการส่งตัวปรึกษาทางทันตกรรมจากแพทย์สาขาต่าง ๆ ในโรงพยาบาล เพื่อสามารถครอบคลุมปัญหาทันตสุขภาพร่วมกับปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนของผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเหมาะสม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ฝ่ายทันตกรรมได้ตระหนักถึงความสำคัญการเตรียมความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมพร้อมประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ ในปี พ.ศ. 2574 ดังนั้นเพื่อเตรียมพร้อมรับให้ผู้สูงอายุของไทยก้าวย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่าทั้งต่อตนเองและสังคม ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำหรับผู้สูงวัยที่สำคัญของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ณ ขณะนั้น จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งคลินิกทันตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ โดยจัดตั้งแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ด้วยสถานที่และเครื่องมือทางทันตกรรมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ โดยเหมาะกับทั้งผู้ป่วยรถนั่งและรถนอน รวมถึงเก้าอี้ทำฟันที่เฉพาะสำหรับผู้สูงอายุและเครื่องเอกซเรย์ 3 มิติที่สามารถนำรถเข็นเข้าไปได้ ร่วมกับการรักษาที่คำนึงถึงปัจจัยการใช้ชีวิตของคนไข้ที่ครอบคลุมทุกมิติ เช่น กลุ่มอาการผู้สูงวัย โรคร่วม การเสื่อมถอยของอวัยวะต่างหรือการรู้คิด ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สูงวัยและครอบครัวตระหนักถึงการมีสุขภาพในช่องปากที่ดีถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ

รางวัล หรือความภาคภูมิใจ

  1. วางแผนการรักษาและให้บริการทางทันตกรรมแก่ผู้ป่วยที่มีโรคทางระบบที่ซับซ้อน และผู้ป่วยระดับตติยภูมิของโรงพยาบาล โดยการทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพที่สามารถครอบคลุมปัญหาทันตสุขภาพร่วมกับปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนของผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเหมาะสม

  2. การจัดตั้งคลินิกทันตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริบาลผู้สูงอายุ โดยเริ่มตั้งแต่การป้องกัน การรักษา การฟื้นฟูสภาพ ตลอดจนการบรรเทาอาการ โดยนำไปสู่ต้นแบบการดูแลรักษาทางทันตกรรมที่คำนึงถึงปัจจัยในการใช้ชีวิตของผู้ป่วย อันได้แก่ โรคร่วม การเสื่อมถอยของระบบอวัยวะต่างๆ และการเสื่อมถอยของการรู้คิดที่นำไปสู่ภาวะที่ต้องพึ่งพิงผู้ดูแล สภาวะเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพัฒนารูปแบบของการประเมินสภาวะต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเสื่อมถอยของสุขภาพในช่องปากอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่รูปแบบของ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อเป้าหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการชะลอกลุ่มผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตนเองได้ดี ที่จะเข้าสู่กลุ่มผู้สูงวัยที่ต้องพึ่งพิงผู้ดูแล ให้เกิดขึ้นช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

  3. ความร่วมมือกับหน่วยศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในลักษณะสหสาขาวิชาชีพ ในการแก้ไขความผิดปกติของกะโหลกศีรษะและใบหน้าด้วยการทำเครื่องมือสำหรับใส่บริเวณใบหน้า และการให้บริการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่ง และ/หรือ เพดานโหว่ รวมถึงความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะประเภทอื่นด้วย

  4. ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอได้รับการประเมินและรับการรักษาทางทันตกรรมโดยเฉพาะงานทางศัลยกรรมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยไม่ทำให้รังสีรักษาเกิดความล่าช้า โดยได้รับการวางแผนการรักษาทางทันตกรรมโดยคำนึงถึงบริเวณและปริมาณรังสีที่ได้รับในระดับสูงตามชนิดและระยะของโรคมะเร็งในตำแหน่งต่างๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะภาวะกระดูกตายหลังได้รับรังสีรักษา นอกจากนั้นแล้วเราได้มีการทำเครื่องมือที่ใส่ในช่องปากเฉพาะบุคคลที่สามารถแยกเนื้อเยื่อที่ปกติออกจากบริเวณที่ได้รับรังสีโดยการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งทำให้สามารถลดอาการไม่พึงประสงค์อย่าง การอักเสบเนื้อเยื่อบุผิว , ภาวะน้ำลายแห้ง หรือ ภาวะขากรรไกรยึดติดทำให้อ้าปากได้น้อย ท้ายที่สุดผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาทางทันตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนหลังได้รับรังสีรักษาโดยเฉพาะอย่างฟันผุที่เกิดจากการฉายรังสี

  5. งานศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ได้แก่ งานผ่าตัดรอยโรคถุงน้ำและเนื้องอกในกระดูกขากรรไกร, ผ่าตัดรักษาภาวะกระดูกตายเนื่องจากการใช้ยาและรังสีรักษา, ผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน, ผ่าตัดอื่นๆในช่องปากและขากรรไกร ภายใต้ยาดมสลบ และผ่าตัดร่วมกับทีมแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งหรือแพทย์หูคอจมูก

  6. โครงการผ่าตัดฟันคุด 100 ราย เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย

พันธกิจ

ให้บริการทางทันตกรรมทั่วไปและเฉพาะทางในสาขาต่างๆ ให้กับผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีโรคทางระบบที่ซับซ้อน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยระดับตติยภูมิของโรงพยาบาล โดยทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพที่ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และนำไปสู่การรักษาที่เป็นต้นแบบ รวมทั้งเป็นแหล่งการเรียนการสอนทางคลินิกสำหรับนิสิตทันตแพทย์ในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา

ภารกิจที่หน่วยงานที่สนับสนุน

  1. การให้บริการรักษาทางทันตกรรมครบวงจรแก่ผู้ป่วยทั่วไป
  2. การมีส่วนร่วมในสหสาขาวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยแลผู้สูงอายุอย่างเป็นองค์รวม โดยให้บริการทางทันตกรรมแก่ผู้ป่วยที่ได้รับการส่งปรึกษาทางการแพทย์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ
  3. พัฒนาและสร้างนวัตกรรมในด้านทันตกรรม โดยร่วมมือกับแพทย์ในสาขาต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพงานทันตกรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆ
  4. การให้บริการดูแลสุขภาพช่องปากและให้การรักษาทางทันตกรรมแก่บุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รวมถึงครอบครัวของเจ้าหน้าที่
  5. ความร่วมมือกับหน่วยศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในลักษณะสหสาขาวิชาชีพ ในการแก้ไขความผิดปกติของกะโหลกศีรษะและใบหน้าด้วยการทำเครื่องมือสำหรับใส่บริเวณใบหน้า และการให้บริการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่ง และ/หรือ เพดานโหว่ ร่วมด้วย
  6. ความร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุในการดำเนินโครงการต้นแบบการดูแลสุขภาพช่องปากแบบเป็นองค์รวมสำหรับผู้สูงวัย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนารูปแบบของการประเมินสภาวะต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเสื่อมถอยของสุขภาพในช่องปากอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่รูปแบบของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อเป้าหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการชะลอกลุ่มผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตนเองได้ดี ที่จะเข้าสู่กลุ่มผู้สูงวัยที่ต้องพึ่งพิงผู้ดูแลให้เกิดขึ้นช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
  7. ความร่วมมือกับภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการร่วมสอนภาคปฏิบัติ งานศัลยกรรมในช่องปากและการดูแลผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิแก่นิสิตทันตแพทย์ระดับปริญญาตรีและนิสิตระดับหลังปริญญา
  8. ความร่วมมือกับหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตกรรมผู้สูงอายุและการดูแลผู้ป่วยพิเศษ(หลักสูตรนานาชาติ) คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการร่วมสอนภาคปฏิบัติ การดูแลผู้สูงอายุที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิแก่นิสิตระดับหลังปริญญา
  9. ความร่วมมือกับศูนย์นิทราเวชโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในการทำเครื่องมือเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยมี ผศ. ทพญ. ดร.เปรมทิพย์ ชลิดาพงศ์ จากคณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาเป็นทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

โครงสร้างหรือองค์ประกอบย่อยของฝ่าย/ศูนย์

ฝ่ายทันตกรรม ประกอบด้วยทันตแพทย์สาขาเฉพาะทาง ดังนี้

  1. ศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล
  2. ทันตกรรมหัตถการ
  3. วิทยาเอ็นโดดอนต์
  4. ทันตกรรมประดิษฐ์
  5. ปริทันต์วิทยา
  6. ทันตกรรมสำหรับเด็ก
  7. ทันตกรรมจัดฟัน
  8. ทันตกรรมทั่วไป

การให้บริการของฝ่ายทันตกรรม

1. ให้บริการรักษาทางทันตกรรมทั่วไปและทันตกรรมเฉพาะทางแก่ผู้ป่วยทั่วไป

2. บริการรักษาทางทันตกรรมครบวงจรแก่ผู้ป่วยที่ได้รับการส่งปรึกษาทางการแพทย์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ จาก เช่น แผนกอายุรกรรม, หน่วยศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง ภาควิชาศัลยศาสตร์, แผนก โสต คอ นาสิก และแผนกรังสีรักษา ผู้ป่วยพิจารณาเห็นควรได้รับการรักษาทางทันตกรรมก่อนการรักษาทางการแพทย์ในภาวะเร่งด่วนและมีความจำเป็น ดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอที่ต้องได้รับการการฉายรังสี
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือลิ้นหัวใจตีบ/รั่วที่ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลวและเตรียมตัวผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะร่วมกับการให้ยากดภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติของกระดูก ได้แก่ มะเร็งของกระดูก ภาวะกระดูกพรุน และต้องได้รับยาต้านการละลายของกระดูก
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะความผิดปกติของระบบโลหิต และมะเร็งของเม็ดเลือด
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยการติดเชื้อของผนังเยื่อหุ้มหัวใจ
  • ผู้ป่วยที่เกิดการติดเชื้อบริเวณศีรษะและลำคอที่มีสาเหตุการติดเชื้อจากฟัน
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกะโหลกศีรษะและใบหน้า ที่มีภาวะปากแหว่ง และ/หรือเพดานโหว่ร่วมด้วย 

3. บริการรักษาทางทันตกรรมครบวงจรแก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยพิเศษ

ฝ่ายทันตกรรม อาคาร ภปร ชั้น 17 และ คลินิกทันตกรรมเพื่อผู้สูงอายุอาคาร ส.ธ. ชั้น 3 (โดยคลินิกทันตกรรมเพื่อผู้สูงอายุจะเปิดเฉพาะในเวลาราชการ) ดังนี้

 

วันทำการ เวลาให้บริการ
(ในเวลาราชการ)
(ภปร 17 และ ส.ธ. 3)
เวลาให้บริการ
(นอกเวลาราชการ)
(ภปร 17)
วันจันทร์ 08.30 – 15.30 น. 16.30 – 20.00 น.
(คลินิกพิเศษนอกเวลา)
วันอังคาร 08.30 – 15.30 น. 16.30 – 20.00 น.
(คลินิกพิเศษนอกเวลา)
วันพุธ 08.30 – 15.30 น. 16.30 – 20.00 น.
(คลินิกพิเศษนอกเวลา)
วันพฤหัสบดี 08.30 – 15.30 น. 16.30 – 20.00 น.
(คลินิกพิเศษนอกเวลา)
วันศุกร์ 08.30 – 15.30 น. 16.30 – 20.00 น.
(คลินิกพิเศษนอกเวลา)
วันเสาร์ ปิดทำการ 08.00 – 12.00 น.
(คลินิกพิเศษนอกเวลา)
วันอาทิตย์ ปิดทำการ 08.00 – 12.00 น.
(คลินิกพิเศษนอกเวลา)
วันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิดทำการ ปิดทำการ

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ฝ่ายทันตกรรม อาคาร ภปร ชั้น 17

 

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 5170-71

บทความที่เกี่ยวข้อง

TMU-CU Joint symposium

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดการประชุมและให้การต้อนรับ Pofessor Chao-Ching Huang

จัดซื้ออุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรม (Surgical ICU)

นพ.เอกวรรณ ชันซื่อ และ รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ บริจาคเงินจำนวน 4,444,444 บาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรม ( Surgical ICU )

เปิดใช้บริการเรียก รถตุ๊ก ตุ๊ก สาธารณะ ผ่านแอปพลิเคชั่น MuvMi

เปิดการใช้บริการเรียก รถตุ๊กตุ๊ก สาธารณธะ ผ่านแอปพลิเคชั่น MUVMI ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2561

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์