การตรวจหัวใจโดยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า
การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (Cardiac Magnetic Resonance Imaging – CMR) เป็นวิธีการตรวจประเมินหัวใจอย่างละเอียด มีความสามารถในการบ่งบอกขนาด รูปร่าง และประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประเมินภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และลักษณะพังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจได้อีกด้วย ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ มีส่วนช่วยให้การวินิจฉัย และประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจมีความถูกต้องแม่นยำ นำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที อาทิ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคเนื้องอกในหัวใจ รวมถึงโรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ และหลอดเลือดแดงส่วนปลาย เป็นต้น
การทำงานของเครื่องตรวจเอ็มอาร์ไอ จะอาศัยหลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ โดยเหนี่ยวนำให้เกิดการตอบสนองของเนื้อเยื่อ ซึ่งจะส่งสัญญาณกลับมาประมวลผลที่เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างเป็นภาพของหัวใจ ด้วยหลักการดังกล่าว ผู้ป่วยจึงไม่ต้องสัมผัสกับรังสีใดๆ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการตรวจวินิจฉัยมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันห้องตรวจศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดให้บริการตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอชนิดต่างๆ ดังนี้
• Stress cardiac MRI เป็นการประเมินภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยการใช้ยากระตุ้น ได้แก่ ยา adenosine หรือ dobutamine
• Perfusion cardiac MRI เป็นการตรวจหาความปกติและพังผืดของกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประเมินเยื่อหุ้มหัวใจ และก้อนเนื้องอกในหัวใจได้อีกด้วย
• Viability study เป็นการตรวจการรอดชีวิตของกล้ามเนื้อหัวใจ หลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากการทำบอลลูน หรือผ่าตัดบายพาสหรือไม่
• Congenital heart study เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัย และวางแผนการรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
• Cardiac function assessment เป็นการตรวจขนาด รูปร่าง และประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ
• Magnetic resonance angiography เป็นการตรวจประเมินหลอดเลือดบริเวณต่างๆ ของร่างกาย
ทั้งนี้กลุ่มงานตรวจเอ็มอาร์ไอหัวใจและหลอดเลือดยังมุ่งเน้นในด้านการเรียนการสอน และการวิจัย โดยได้ดำเนินการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอด และเปิดให้แพทย์รวมถึงบุคคลากรทางการแพทย์ทั้งภายในและต่างประเทศได้เข้ามาศึกษาดูงานอีกด้วย