โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

อาการเต้านมคัด

มักเป็นทั้งเต้าและเป็นทั้ง 2 ข้าง เกิดจากการสร้างน้ำนมแม่ได้มาก แต่ไม่สามารถระบายน้ำนมออกหรือระบายออกไม่ทัน จึงเกิดอาการคัด บวม แข็ง เต้านมจะร้อน ผิวแดงเป็นมัน เจ็บ ลานนมตึงแข็ง ทำให้หัวนมสั้นลงจนลูกดูดไม่ได้ น้ำนมไหลไม่ดี บางครั้งอาจจะมีไข้ได้ แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง

สาเหตุของเต้านมคัด

1. ร่างกายสร้างน้ำนมได้มากกว่าปริมาณที่ลูกกิน
2. แม่ทิ้งช่วงการให้ลูกกินนมนานเกินไป ให้นมลูกไม่บ่อยพอ จำกัดเวลาการให้นมลูก หรือไม่ได้บีบออกในช่วงที่ลูกไม่ได้ดูด ทำให้มีน้ำนมสะสมในเต้ามาก
3. ให้ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี ทำให้การระบายไม่ดีเท่าที่ควร

วิธีแก้ไขปัญหาเต้านมคัด

1. ประคบเต้านมด้วยผ้าอุ่นจัดอย่างน้อย 10 นาทีก่อนที่จะให้นมลูก ควรใช้ผ้าขนหนูผืนใหญ่พอที่จะหุ้มเต้านมได้โดยรอบ ตามด้วยการนวดและคลึงเต้านมเบาๆ จากฐานลงไปที่หัวนม (ดูได้จากวิดีโอ)
2. บีบน้ำนมออกจนลานหัวนมนุ่มลง จะช่วยให้ลูกงับลานหัวนมง่ายขึ้น
3. ให้ลูกดูดน้ำนมบ่อยมากขึ้น อย่างน้อยทุก 2 – 2 ½ ชั่วโมง ดูดให้ถูกวิธี เพื่อระบายน้ำนมออกจากเต้าให้ได้มากที่สุด และต้องให้ดูดในเวลากลางคืนด้วย มิฉะนั้นเต้านมจะคัดในเช้าวันรุ่งขึ้นอีก อีก ถ้าไม่สามารถให้นมลูกได้ตามเวลา ควรบีบน้ำนมออกเก็บไว้
4. หลังให้นมลูกเสร็จ ประคบเต้านมด้วยความเย็นเพื่อลดความเจ็บปวด
5. ถ้าแม่เจ็บมากจนให้ลูกดูดนมไม่ได้ อาจต้องพัก ระบายน้ำนมออกโดยบีบหรือปั๊มออก และป้อนนมแม่จากถ้วยให้ลูกแทน
6. รับประทานยาแก้ปวด ตามความจำเป็นเช่น พาราเซทตามอล
7. ควรใส่เสื้อชั้นในเพื่อพยุงเต้านมไว้
8. บีบเอาน้ำนมออกได้เรื่อย ๆ ถ้าจำเป็น เพื่อจะได้คลายความเจ็บปวดจนกว่าอาการเต้านมคัดจะดีขึ้น
9. หากอาการคัดเป็นรุนแรงมาก ควรปรึกษาคลินิกนมแม่

การป้องกันเต้านมคัด

1. ไม่ควรทิ้งระยะให้นมลูกนานเกินไป หากมีธุระไม่สามารถให้นมลูกได้ตามเวลา ควรบีบน้ำนมออกมาเก็บไว้เพื่อให้ลูกทานด้วยถ้วย
2. ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ดูดถูกวิธี และดูดจนเกลี้ยงเต้า

ในกรณีที่คัดและปวดมากจนแตะไม่ได้ วิธีที่ช่วยได้คือ นำกะละมังใส่น้ำอุ่นจัดที่พอทนได้วางบนโต๊ะ แล้วก้มตัวลงโดยใช้ข้อศอกยันโต๊ะไว้ ให้เต้านมจุ่มลงในน้ำสักพักใหญ่ๆ แล้วกระตุ้นการหลั่งน้ำนม(ทำจี๊ด)โดยโดยนวดเต้านมเบาๆ หรือใช้หลังนิ้วลูบเบาๆ จากนั้นจึงแช่เต้าในกะละมังอีกครั้งค่อยๆ ใช้มือบีบน้ำนมออกทีละน้อยเท่าที่จะทนเจ็บได้ (คุณแม่ในภาพมีรอยแดงรอบลานนมที่เต้าขวาเนื่องจากเต้านมอักเสบด้วย)

ภาพที่ 1 แช่เต้าในกะละมังใส่น้ำที่อุ่นจัดพอทนได้

ภาพที่ 2 กระตุ้นการหลั่งน้ำนม(ทำจี๊ด)โดยนวดเต้านมเบาๆ

ภาพที่ 3 กระตุ้นการหลั่งน้ำนม(ทำจี๊ด) โดยใช้หลังนิ้วลูบเบาๆ ที่เต้านมจากรอบนอกมาทางลานนม

ภาพที่ 4 แช่เต้าในกะละมังอีกครั้งค่อยๆ ใช้มือบีบน้ำนมออกทีละน้อยเท่าที่จะทนเจ็บได้

แหล่งข้อมูล : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

บทความที่เกี่ยวข้อง

รักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน

วิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะยกระดับมาสู่ "เครื่องเร่งอนุภาคโปรตอน"

5 โรคติดเชื้อในเด็กที่ควรระวังในฤดูหนาว

โรคติดเชื้อในเด็กในช่วงฤดูหนาวมี 3 กลุ่มโรคและ 5 โรคสำคัญคือ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้แก่ โควิด-19 (COVID-19) โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้ออาร์เอสวี (RSV) โรคติดเชื้อของระบบทางเดินอาหารได้แก่ โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า และโรคไข้ออกผื่นได้แก่ โรคอีสุกอีใส

รู้จักมะเร็งในช่องปาก

ปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่ทำให้เกิดโรค มะเร็งช่องปาก รวมถึงวิธีการรักษาและการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์