รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โรคติดเชื้อในเด็กในช่วงฤดูหนาวมี 3 กลุ่มโรคและ 5 โรคสำคัญคือ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้แก่ โรคโควิด-19 (COVID-19) โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้ออาร์เอสวี (RSV) โรคติดเชื้อของระบบทางเดินอาหารได้แก่ โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า และโรคไข้ออกผื่นได้แก่ โรคอีสุกอีใส
1. โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ
เชื้อไวรัสโควิด-19 เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และเชื้ออาร์เอสวี ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เชื้อไวรัสทั้งสามชนิดแพร่กระจายได้ง่ายโดยเฉพาะในฤดูฝนและฤดูหนาว ผ่านทางฝอยละออง (droplet) และการสัมผัส (contact)
กลุ่มเสี่ยง :
เด็กที่จะติดเชื้อไวรัสทั้งสามชนิดแล้วอาจมีอาการรุนแรงหรือมีภาวะปอดอักเสบได้แก่ เด็กอ้วนและเด็กที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง (เชื้อไวรัสทั้งสามชนิด) และเด็กเล็ก (เฉพาะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และเชื้ออาร์เอสวี)
อาการ :
เด็กที่ติดเชื้อไวรัสทั้งสามชนิดจะมีอาการที่คล้ายคลึงกันคือ อาการไข้ และอาการหวัด (น้ำมูก เจ็บคอ ไอ) นอกจากนั้นอาจพบภาวะแทรกซ้อนทางปอด (ปอดอักเสบ) หรือที่เรียกว่า “เชื้อลงปอด” โดยจะมีอาการเหนื่อยหอบร่วมด้วย
ภาวะปอดอักเสบพบได้บ่อยในเด็กที่ติดเชื้ออาร์เอสวี พบได้บ้างในเด็กเล็กที่ติดเชื้อไวร้สไข้หวัดใหญ่ และพบน้อยในเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน
การวินิจฉัย :
อาศัยการยืนยันจากชุดตรวจที่สามารถตรวจได้เอง (self-test ATK) (มีเฉพาะสำหรับเชื้อโควิด-19) ชุดตรวจที่ต้องตรวจที่โรงพยาบาล (professional ATK) และการตรวจด้วยวิธีพีซีอาร์ (PCR)
การรักษา :
ส่วนใหญ่เน้นการรักษาตามอาการ ยาต้านไวรัสโควิด-19 และยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่แนะนำสำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กที่มีภาวะปอดอักเสบ หรือแนะนำตามดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนยาต้านอาร์เอสวีอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย
การป้องกัน :
การสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง การล้างมือ และการฉีดวัคซีน
วัคซีน :
- วัคซีนโควิด-19 ในเด็กนิยมใช้วัคซีนชนิด mRNA ของบริษัทไฟเซอร์ แนะนำในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป หลังฉีดวัคซีนชุดแรกครบ (3 เข็มสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี และ 2 เข็มสำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป) ควรฉีดกระตุ้นทุกๆ 6 เดือน
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่แนะนำในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยฉีดทุกปี ภาครัฐมีบริการวัคซีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยง (อายุ 6 เดือน – 2 ปี เด็กอ้วน และเด็กที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง)
- วัคซีนอาร์เอสวีอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย
2. โรคติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร
โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าพบในเด็กอายุ 5 ขวบปีแรก เชื้อแพร่กระจายได้ง่ายผ่านฝอยละอองและการสัมผัส โรคนี้พบได้ตลอดปีแต่พบบ่อยในฤดูหนาว ซึ่งแตกต่างจากโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อแบคทีเรียที่มักพบในฤดูร้อน
อาการ :
เด็กที่ติดเชื้อไวรัสโรต้าจะมีอาการไข้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หากมีภาวะเสียน้ำมากอาจเกิดภาวะช็อคได้
การวินิจฉัย :
อาศัยการยืนยันด้วยชุดตรวจที่ต้องตรวจที่โรงพยาบาล
การรักษา :
ส่วนใหญ่เน้นการรักษาตามอาการและดื่มน้ำเกลือแร่
การป้องกัน :
การดื่มนมแม่และการรับวัคซีนโรต้า
วัคซีน :
วัคซีนโรต้าเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กไทย แนะนำให้หยอด 2 หรือ 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, (6) เดือน วัคซีนไม่ได้ช่วยป้องกันโรคโดยตรง แต่ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
3. โรคไข้ออกผื่น
โรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัสอีสุกอีใส พบได้ตลอดปีแต่พบบ่อยในฤดูหนาวเนื่องจากเชื้อมีความทนต่อสภาพอากาศเย็น เชื้อแพร่กระจายได้ง่ายในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ผ่านทางอากาศ (airborne) เด็กที่เคยเป็นอีสุกอีใสมีโอกาสเป็นโรคงูสวัดในอนาคตเมื่อภูมิคุ้มกันลดลง
กลุ่มเสี่ยง :
ทารกแรกเกิด เด็กวัยรุ่น และเด็กที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ
อาการ :
เด็กที่ติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใสจะมีอาการไข้และผื่น โดยผื่นจะมีลักษณะจำเพาะคือ เริ่มจากตุ่มแดง กลายเป็นตุ่มใส ตุ่มหนอง และตกสะเก็ด
การวินิจฉัย :
ส่วนใหญ่วินิจฉัยได้จากอาการและลักษณะของผื่น แต่ในบางครั้งอาจต้องอาศัยการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ
การรักษา :
ส่วนใหญ่เน้นการรักษาตามอาการ ยาต้านไวรัสอีสุกอีใสแนะนำในเด็กกลุ่มเสี่ยง มีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน
การป้องกัน :
การป้องกันด้วยมาตรการทั่วไปทำได้ยาก ต้องอาศัยการฉีดวัคซีนเป็นหลัก
วัคซีน :
วัคซีนอีสุกอีใสเป็นวัคซีนเสริมสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีดสองครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1-3 เดือน วัคซีนช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคหรืออย่างน้อยสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้