โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาเร็ว หายขาดได้

แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์หลายคนหวาดกลัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว มะเร็งเต้านม ในหญิงไทยนั้นมีอัตราการพบมะเร็งที่น้อยมาก การคลำเต้านมและพบก้อนเนื้อในเต้านม อาจจะไม่ใช่มะเร็งเต้านมเสมอไป แม้ในวัยที่มีความเสี่ยงสูง คืออายุ 40-60 ปี ที่ก้อนเนื้อนั้นจะไม่ใช่มะเร็งเต้านมมีสูงมากกว่า  ดังนั้น ผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรมารับการตรวจวินิจฉัยเฉพาะทาง แม้จะคลำไม่พบก้อนเนื้อที่หน้าอกก็ตาม เพราะถือเป็นช่วงวัยที่เสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม เพราะหากตรวจพบเร็ว และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี มะเร็งเต้านมมีโอกาสหายสูงถึง 90%

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านม สามารถทำได้ ดังนี้

  1. การตรวจอัลตราซาวน์เต้านม (Ultrasound)

    เป็นเครื่องมือการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นในการตรวจดูก้อนเนื้อหรือถุงน้ำในเต้านมว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ โดยการทำอัลตราซาวน์จะไม่มีการบีบเต้านม ผู้ที่มาอัลตราซาวน์เต้านมจะไม่รู้สึกเจ็บเต้านม

  2. การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram)

    เป็นการถ่ายภาพเต้านมในการตรวจดูก้อนเนื้อหรือถุงน้ำในเต้านมเพื่อให้เห็นความผิดปกติได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เพื่อโรคมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งเต้านม มีเครื่องแมมโมแกรม 3 มิติทั้งสิ้น 3 เครื่อง และมีเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านม  3 มิติ (Cone–Beam Computed Tomography : CT Mammogram) ที่สมบูรณ์ที่สุดเครื่องแรกในโลก ความพิเศษของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านม 3 มิติ คือสามารถถ่ายภาพเต้านมและนำมาสร้างเป็นภาพ 3 มิติ โดยไม่มีการบีบเต้านมทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยก้อนเนื้อหรือถุงน้ำในเต้านมได้ละเอียดยิ่งขึ้น

  3. การตรวจด้วยเครื่อง MRI สำหรับตรวจเต้านม

    โดยปกติการตรวจ MRI (Magnetic Resonance Imaging)จะเป็นการตรวจร่างกายโดยการสร้างภาพเหมือนจริงของส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยความผิดปกติของร่างกายได้อย่างถี่ถ้วน โดยศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เพื่อโรคมะเร็งเต้านม มีเครื่อง MRI สำหรับตรวจเต้านมโดยเฉพาะ (Dedicated breast MRI) ซึ่งทำให้ภาพการตรวจเต้านมละเอียดที่สุด ดังนั้นการตรวจ MRI เต้านมจึงทำให้สามารถวินิจฉัยความผิดปกติของก้อนเนื้อหรือถุงน้ำในเต้านมได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น

หากได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยไม่ต้องกังวล เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง  หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มีโอกาสหายจากโรคได้ โดยการรักษามะเร็งเต้านมโดยทั่วไป มีดังนี้

  1. การผ่าตัด

    เป็นการรักษาหลักของมะเร็งเต้านมที่สามารถนำก้อนเนื้อมะเร็งออกได้มากที่สุด และการผ่าตัดร่วมกับการรักษาอื่นๆ ก็ทำให้โอกาสกลับมาเป็นซ้ำน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามการหายขาดจากโรคขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยด้วย เพราะผู้ป่วยบางรายเมื่อผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งแล้วก็อาจจะมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก ดังนั้นนอกจากการรักษาแล้ว การตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องจึงมีความสำคัญ

  2. การฉายแสง (Radiation)

    ผู้ป่วยจะได้รับรังสีรักษาจากเครื่องฉายรังสีผ่านเข้าไปยังบริเวณที่เป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งการฉายแสงมักทำ ต่อเนื่องหลายครั้งเพื่อผลการรักษาที่ดี

  3. การทำเคมีบำบัด หรือคีโม (Chemotherapy)

    เป็นการให้ยาเคมีเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งของผู้ป่วย โดยศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านม ให้ความสำคัญกับการลดผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีรักษามะเร็งเต้านมที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย โดยมีเครื่อง Scalp Cooling ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อลดภาวะผมร่วง ระหว่างการให้ยาเคมีบำบัด โดยอาศัยสารเหลวอุณหภูมิต่ำ เพื่อสร้างความเย็นให้แก่หนังศีรษะทำให้เส้นเลือดหดตัว จึงทำให้ยาเคมีบำบัดมีผลต่อเส้นผมน้อยลง ซึ่งสามารถลดผมร่วงขณะให้ยาเคมีบำบัด อีกทั้งยังช่วยให้รากผมขึ้นมาใหม่ได้เหมือนเดิมอีกด้วย

ทั้งนี้การรักษามะเร็งเต้านมในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการรักษาจะเป็นผู้แนะนำการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมให้กับผู้ป่วย  ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ เมื่อถึงวัยที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม หรืออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรหมั่นมาตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะเมื่อมะเร็งเต้านม ตรวจพบเร็ว รักษาเร็วอย่างถูกวิธี ก็มีโอกาสหายขาดได้

สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่

ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เพื่อโรคมะเร็งเต้านม

แผนกผู้ป่วยนอก อาคารล้วน-เพิ่มพูน ว่องวานิช ชั้น 2

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

โทรศัพท์ (02) 256 4693

บทความที่เกี่ยวข้อง

รักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน

วิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะยกระดับมาสู่ "เครื่องเร่งอนุภาคโปรตอน"

5 โรคติดเชื้อในเด็กที่ควรระวังในฤดูหนาว

โรคติดเชื้อในเด็กในช่วงฤดูหนาวมี 3 กลุ่มโรคและ 5 โรคสำคัญคือ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้แก่ โควิด-19 (COVID-19) โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้ออาร์เอสวี (RSV) โรคติดเชื้อของระบบทางเดินอาหารได้แก่ โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า และโรคไข้ออกผื่นได้แก่ โรคอีสุกอีใส

รู้จักมะเร็งในช่องปาก

ปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่ทำให้เกิดโรค มะเร็งช่องปาก รวมถึงวิธีการรักษาและการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์