โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

แถลงข่าว จัดทีมแพทย์ “คลินิกเคลื่อนที่”ช่วยเหลือผู้พิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ..ฟรี


โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดงานแถลงข่าว  “คลินิกเคลื่อนที่” ช่วยเหลือผู้พิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ให้เข้าถึงการตรวจรักษาที่มีคุณภาพสูงสุดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมี ศ.นพ.รื่นเริง  ลีลานุกรม รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายบริการ ศ.กิตติคุณ นพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์ หัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกระโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากชาดไทย รศ.นพ.นนท์  โรจน์วชิรนนท์ รองหัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคุณเขมนิจ จามิกรณ์ (แพนเค้ก) ร่วมการแถลงข่าว เมื่อวันพุธที่  28 มีนาคม 2561 เวลา 10.30 น. ณ ชั้น 14 ระเบียงรมณีย์ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

ศ.นพ.รื่นเริง  ลีลานุกรม รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายบริการ กล่าวว่า ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  สภากาชาดไทย เป็นศูนย์เฉพาะทาง ด้านการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะชนิดรุนแรง แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยใหม่และเก่าจากทั่วภูมิภาคของประเทศไทยเข้ามารับบริการการตรวจรักษาที่ศูนย์ฯประมาณ 1,400 ราย จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจากถิ่นทุรกันดารทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ถึงแม้ทางศูนย์ฯจะได้ให้ความช่วยเหลือด้านค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาลในรายที่มีปัญหาค่าใช้จ่ายแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ยังพบปัญหาของระบบการส่งต่อผู้ป่วยตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดความล่าช้าในการที่จะได้รับการช่วยเหลือตามช่วงวัยและการดำเนินของโรค รวมถึงอัตราการรอคิวผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นเวลานาน เนื่องด้วยข้อจำกัดของห้องผ่าตัดที่ต้องใช้กับผู้ป่วยหลายแผนก ศูนย์ฯจึงได้เริ่มดำเนินการส่งศัลยแพทย์ไปผ่าตัดตามโรงพยาบาลจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 21 ครั้ง ทำการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยจำนวน 51 ราย ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืนต่อไปในการที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความพิการผิดรูปบนใบหน้าและศีรษะที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย ให้ได้เข้าสู่กระบวนการตรวจรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วและต่อเนื่อง ได้มาตรฐาน ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ศูนย์ฯจึงได้มีแนวคิดจัดตั้งโครงการคลินิกเคลื่อนที่ขึ้น ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงเจริญพระชนมายุครบ 63  พรรษา ในวันจันทร์ที่ 2 เมษายน 2561 ซึ่งจะเริ่มให้บริการที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ในวันที่ 3 เมษายน 2561 เป็นที่แรก

โดยความร่วมมือกับกระทรวงสาธารสุข สำนักงานสาธารณสุขในจังหวัดต่างๆ เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะทุกประเภท ในจังหวัดแถบอีสานใต้  ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร ขอนแก่น เพื่อส่งผู้ป่วยมาเข้ารับการตรวจรักษาต่อไป โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะปล่อยขบวนคาราวานรถออกหน่วย “คลินิกเคลื่อนที่” ในวันจันทร์ที่ 2 เมษายน  2561 เวลา 08.30 น. ณ บริเวณด้านหน้าอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

  ศ.กิตติคุณ นพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์ หัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกระโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากชาดไทย กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา 32 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529) ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกระโหลกศีรษะ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดร้อยละ 65.7 เป็นเด็กอายุเฉลี่ย 10.9 ปี ที่มีความความพิการบนใบหน้าที่ซับซ้อน มีสาเหตุหลายประการ ทั้งที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เกิดตั้งแต่แรกคลอดหรือเกิดขึ้นภายหลัง ความพิการเหล่านี้มักเกิดกับครอบครัวที่มีฐานะยากจน ซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจในการวางแผนการมีบุตร เมื่อบุตรกำเนิดมามีความพิการฯ ทำให้หลายครอบครัวไม่พาบุตรมารับการตรวจรักษา เนื่องจากระยะเวลาเฉลี่ยในการมารับบริการรายละ 2.7 ปี ทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทั้งกาย ใจ บางรายอาจเสียชีวิตเนื่องจากไม่ได้รับการรักษา

ศูนย์ฯจึงมีนโยบายและเป้าหมายที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ให้ได้รับการรักษา เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่พึงมีพึงได้ ถึงแม้การผ่าตัดรักษาต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่พิเศษและมีราคาแพง ทางศูนย์ฯก็ยินดีช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยที่มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิต่างๆ ที่ไม่สามารถจ่ายค่าผ่าตัดรักษาด้วยอุปกรณ์พิเศษได้ จึงเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่นค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พัก โดยศูนย์ฯได้ให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและครอบครัวเฉลี่ยรายละ 500-4,000 บาท ซึ่งศูนย์ฯได้มีการระดมทุนจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือธารน้ำใจจากผู้มีจิตศรัทธาจัดกิจกรรมหารายได้ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ

          1.กิจกรรมกอล์ฟการกุศลเพื่อหารายได้ช่วยเหลือผู้ป่วยจากดุสิตธานี
          2.การออกร้านของคณะภริยาทูตในทุกๆ ปี
          3.จำหน่ายเสื้อ กำไรสื่อรักในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา / โดยความร่วมมือจากสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย
          4.ได้รับเงินบริจาค จากบริษัทห้างร้านต่าง ๆ รวมถึงการรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ผ่านบัญชีธนาคาร

ชื่อบัญชี “ผู้ป่วยพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ จุฬาลงกรณ์”
          ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ประเภท ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 045-503329-2
          ธนาคารกรุงไทย สาขาปทุมวัน   ประเภท ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 008-0-07821-4
          ธนาคารกสิกรไทย  สาขาพัฒน์พงศ์   ประเภท ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี   081-2-94741-5
          ธนาคารกรุงเทพ สาขาสุรวงศ์    ประเภท ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 147-4-71940-6

นอกจากการบริจาคเงินแล้ว ผู้มีจิตศรัทธาจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วยของศูนย์ฯ โดยสามารถช่วยเหลือเป็นวัสดุครุภัณฑ์ทางการแพทย์ บริจาคเป็นสิ่งของ เช่นผ้าอ้อม ของเล่น อุปกรณ์การพัฒนาการเรียนรู้ของผู้ป่วย ช่วยสนับสนุนงาน “สุขสันต์ วันพบปะครอบครัว ” Happy family day” ที่จัดขึ้นในทุกปีเสมือนเป็นวันเด็กสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว

          รศ.นพ.นนท์  โรจน์วชิรนนท์ รองหัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากชาดไทย กล่าวว่า โครงการคลินิกเคลื่อนที่ของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโครงการเสริมในโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา โดยจะทำการออกค้นหาและรักษาผ่าตัด ณ โรงพยาบาลในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะในต่างจังหวัดให้ได้เข้าถึงการตรวจรักษาที่มีคุณภาพสูงสุดทัดเทียมนานาอารยประเทศ  และถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในท้องถิ่น พร้อมสนับสนุนเวชภัณฑ์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้สามารถรักษาผ่าตัดได้ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ถึงปีพ.ศ.2563

ความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะเป็นปัญหาที่มีผลกระทบไม่เฉพาะต่อตัวผู้ป่วย แต่รวมไปถึงครอบครัวและสังคมต่อตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งความพิการผิดรูปมองเห็นได้ชัดเจนแม้ว่าจะเป็นเพียงเล็กน้อย และหากรุนแรงก็จะมีปัญหาต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ไปด้วย เช่น สมองพิการ ตาบอด หูไม่ได้ยิน การกินการเคี้ยวผิดปกติ  การพูดไม่ชัด ผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลทั้งทางด้านจิตใจ สังคม การศึกษา เศรษฐกิจ หากมีความพิการชนิดรุนแรงและซับซ้อน จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมตามอายุ การผ่าตัดก็ซับซ้อนมีความเสี่ยงสูงมาก และต้องการการดูแลที่ดี จึงไม่สามารถกระทำได้ในโรงพยาบาลที่ไม่มีความพร้อม

ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เป็นหน่วยงานแรกที่ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้แบบสหสาขาวิชาชีพ เช่น ศัลยแพทย์ตกแต่งและเสริมสร้าง ประสาทศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ ทันตแพทย์จัดฟัน นักอรรถบำบัด จักษุแพทย์ แพทย์โสต ศอ นาสิก  จิตแพทย์ วิสัญญีแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พยาบาล ฯลฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 จนถึงปัจจุบันจึงมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ จึงเป็นที่รู้จักและยอมรับเป็นอย่างสูงในวงการแพทย์ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วย ศูนย์ฯจึงได้ดำเนินโครงการ “คลินิกเคลื่อนที่”  เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดารให้ได้รับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลใกล้บ้าน ด้วยการประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสาธารณสุขในจังหวัดต่างๆ สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาดจังหวัดและโรงพยาบาลในท้องถิ่นเพื่อค้นหาผู้ป่วย และแนะนำมาเข้ารับการรักษาในคลินิกเคลื่อนที่ในวัน เวลา สถานที่ ที่กำหนดตามจังหวัดต่างๆ ต่อไป


ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์