โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ระเบียบการอุทิศร่างกาย

การรับอุทิศร่างกายให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อการศึกษา ฝึกทักษะหัตถการทางการแพทย์ การวิจัย และการรักษาทางการแพทย์

เพื่อให้การรับอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา การวิจัย และการรักษาทางการแพทย์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของผู้อุทิศร่างกายฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงได้กำหนดระเบียบการอุทิศร่างกายไว้ ดังต่อไปนี้

  • ผู้มีความประสงค์อุทิศร่างกายฯ ต้องบรรลุนิติภาวะแล้วมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป กรณีที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เป็นลายลักษณ์อักษรและมีสำเนาทะเบียนบ้านประกอบด้วย
  • เมื่อผู้อุทิศร่างกายฯ ถึงแก่กรรม ทายาทผู้รับมรดก มีสิทธิ์คัดค้านการมอบศพให้กับโรงพยาบาลฯ ได้โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย และโรงพยาบาลฯ จะไม่เรียกร้องสิทธิ์ใดๆ ในร่างนั้นทั้งสิ้น
  • เมื่อผู้อุทิศร่างกายฯ ถึงแก่กรรม ทายาทผู้รับมรดก ยินยอมพร้อมใจกัน มอบศพให้โรงพยาบาลฯ ขอให้ติดต่อโรงพยาบาลฯ เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ไปรับศพ โดยติดต่อแจ้งการรับศพได้ที่ ศูนย์การรับศพ หมายเลข โทรศัพท์ 083-8299917 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • โรงพยาบาลจะสามารถรับร่างของผู้อุทิศร่างกายฯ ได้เมื่อมี หลักฐานใบมรณบัตร ซึ่งออกให้โดยสำนักงานเขตที่ผู้อุทิศร่างกายฯ เสียชีวิตหรือ มีหนังสือรับรองการตาย ซึ่งออกให้โดยแพทย์ประจำโรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตรวจศพ (ภายหลังญาติต้องนำหลักฐานใบมรณบัตรมาให้ทันทีที่ได้รับ หรือส่งทางโทรสารหมายเลข 02-2527028 ต่อ 1 หรือ 2)
  • โรงพยาบาลฯ จะจัดเจ้าหน้าที่ไปรับร่างผู้อุทิศร่างกายฯ ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล คือ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และนครปฐม (บางอำเภอซึ่งมีระยะทางไม่เกิน 80 กม.) เท่านั้น
  • ผู้อุทิศร่างกายฯ ที่อยู่ต่างจังหวัดโรงพยาบาลฯ ใคร่ขอให้ญาติ บรรจุใส่หีบเย็น หรือ ใช้ถุงน้ำแข็งอย่างน้อย 2 ถุงวางบนหน้าท้องคลุมด้วยผ้าห่มแล้วจึงนำส่งที่ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องตรวจดู หากไม่สามารถนำมาศึกษาได้ โรงพยาบาลฯ ใคร่ขอความกรุณา ให้ญาตินำกลับไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีต่อไป
  • เมื่อโรงพยาบาลฯ รับร่างผู้อุทิศร่างกายฯ มาแล้ว โรงพยาบาลฯ ขอสงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้ญาตินำร่างกลับไปบำเพ็ญกุศลก่อน เพราะจะทำให้ร่างไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะสมสำหรับเตรียมไว้ใช้เพื่อการศึกษา ได้อย่างสมบูรณ์
  • ทายาทควรให้ที่อยู่ที่ติดต่อได้สะดวกที่สุดไว้กับ เจ้าหน้าที่ที่ไปรับศพ เพื่อที่เมื่อนิสิตแพทย์ อาจารย์แพทย์ นักวิจัย ได้ศึกษาและวิจัยร่างผู้อุทิศร่างกายฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว โรงพยาบาลฯ  จะสามารถติดต่อแจ้งญาติได้สะดวก และหากมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ โปรดแจ้งที่อยู่ใหม่ที่ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ทันที
    โรงพยาบาลฯ ขอรับรองว่าจะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นความลับ และจะให้การดูแลปฏิบัติต่อร่างผู้อุทิศร่างกายฯ ด้วยความเคารพ ตามวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม
  • เมื่อทายาทผู้รับมรดกผู้อุทิศร่างกายฯ  ยินยอมพร้อมใจกันมอบศพผู้อุทิศร่างกายฯ ให้กับโรงพยาบาลฯ จะถือเป็นสมบัติของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตามกฎหมาย
  • ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดการศึกษาจากร่างของผู้อุทิศร่างกายฯ ตามความเหมาะสม คือ
    1. เพื่อการศึกษาของนิสิตแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน
    2. เพื่อการฝึกอบรม ฝึกทักษะหัตถการทางการแพทย์
    3.  การศึกษางานวิจัยทางการแพทย์
    4. เพื่อการศึกษาของนักศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ
    5. เพื่อเก็บเนื้อเยื่อบางส่วนสำหรับการรักษาทางการแพทย์
  • ร่างผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา ที่ใช้เพื่อการศึกษา ฝึกทักษะหัตถการทางการแพทย์ การวิจัย และการรักษาทางการแพทย์ ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะจัดให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดงานพระราชทานเพลิงศพ (เป็นกรณีพิเศษ) ให้ นอกจากกรณีที่ญาติประสงค์ขอแยกไปดำเนินการเอง ให้แจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรทันที ที่ได้รับการติดต่อจากฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ 
  • เนื่องจากการเตรียมศพเพื่อการศึกษาต้องผ่านการกระบวนการเตรียมอย่างเหมาะสม โรงพยาบาลฯ จึงไม่สามารถรับศพผู้อุทิศร่างกายฯ ดังนี้
  • ถึงแก่กรรม เกิน 20 ชั่วโมง ยกเว้นได้เก็บไว้ในห้องเย็นของโรงพยาบาล
    1. ผ่านการผ่าตัดใหญ่ ทำให้สูญเสียอวัยวะสำคัญๆ ยกเว้นดวงตา
    2. ถึงแก่กรรม มีสาเหตุจาก โรคมะเร็งที่ลุกลาม บริเวณศีรษะและสมอง ช่องอก ช่องท้อง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ไวรัสตับอักเสบ วัณโรค และพิษสุนัขบ้า
    3. เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ร่างกายแหลกเหลว
    4. เกี่ยวข้องกับคดีที่ต้องมีการผ่าพิสูจน์
    5. สภาพร่างกายที่ไม่เหมาะจะใช้ศึกษาคือ แขน ขา คด งอ จนเสียรูปร่าง
    6. อยู่ในสภาพเน่าเปื่อยมีกลิ่นรุนแรง

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์