โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

Minimal Invasive Monitoring ตัวช่วยสำคัญของหมอ และผู้ป่วยในห้องผ่าตัด

เมื่อเอ่ยถึงการผ่าตัด ภาพจำของบุคคลทั่วไปคืออุปกรณ์นานาชนิดที่ระดมใส่ในตัวผู้ป่วยเพื่อให้การผ่าตัดบรรลุผลได้ด้วยดี หนึ่งในอุปกรณ์สำคัญคือ เครื่องวัดปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจเพื่อให้ทีมแพทย์สามารถตรวจเช็คการเปลี่ยนแปลงและปรับปริมาณการเข้าออกของน้ำและเลือดในตัวผู้ป่วยระหว่างผ่าตัดได้คงที่ แต่เดิมวิธีการที่ใช้คือการใช้สายสวนหัวใจแทงไปที่เส้นเลือดดำใหญ่เข้าสู่ปอด ผ่านไปยังห้องหัวใจ ซึ่งส่งผลให้การผ่าตัดซับซ้อน มีความเสี่ยงสูง และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย

แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่เรียกว่า Minimal Invasive Monitoring หรือเครื่องวัดปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจแบบต่อเนื่อง ที่ช่วยให้การผ่าตัดและการดูแลผู้ป่วยวิกฤติราบรื่นขึ้นมาก ทำให้การผ่าตัดซับซ้อนน้อยลง ลดความเสี่ยงของผู้ป่วยระหว่างผ่าตัดได้ดีกว่าการแทงสายสวนหัวใจไปที่เส้นเลือดดำแบบเดิม

รศ.พญ.กัญญา คำวิลัยศักดิ์ จากหน่วยเวชบำบัดวิกฤติ ฝ่ายวิสัญญีวิทยา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมโดยเผยว่าคุณสมบัติเด่นของเครื่อง Minimal Invasive Monitoring คือใช้ตรวจเช็คระบบไหลเวียนเลือดระหว่างผ่าตัดและใช้ดูปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจในแต่ละครั้งว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

รศ.พญ.กัญญา กล่าวว่า Minimal Invasive Monitoring หรือ เครื่องวัดปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจแบบต่อเนื่อง นับเป็นตัวช่วยสำคัญในการผ่าตัดและการดูแลผู้ป่วยวิกฤติด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้

” จะดีแค่ไหน.. ถ้านวัตกรรมทางการแพทย์
ทำให้การผ่าตัดง่ายขึ้น
ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นและได้กลับบ้านเร็วขึ้น “

    • ช่วยให้การผ่าตัดง่ายขึ้น

      อุปกรณ์นี้สามารถใช้สายสวนหัวใจแทงเส้นเลือดแดง เพื่อแปรผลและตรวจวัดปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจได้ จากแต่เดิมต้องใช้สายสวนหัวใจแทงเข้าเส้นเลือดดำใหญ่บริเวณคอ เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ วัดความดันของหลอดเลือดดำซึ่งมีความเสี่ยงสูง การใช้อุปกรณ์นี้จะได้ผลดีมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดขนาดเล็ก การผ่าตัดแบบส่องกล้อง หรือการผ่าตัดที่เจาะรูในช่องท้องหรือร่างกายของผู้ป่วย โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ เนื่องจากแทงสายสวนหัวใจไปที่เส้นเลือดแดงขนาดเล็ก ลดความเจ็บปวดและลดความเสี่ยงแก่ผู้ป่วยได้ดีกว่าแบบเดิม

      ข้อดีอีกประการคือเวลาผ่าตัด ต้องใส่แก๊สเข้าไปในช่องท้องซึ่งทำให้หัวใจบีบตัวมากขึ้น การเปลี่ยนมาใช้เครื่อง Minimal Invasive Monitoring ทำให้สามารถวัดความดัน และวัดการบีบตัวของหัวใจอย่างสม่ำเสมอ และแม่นยำขึ้น ทำให้ทีมแพทย์ปรับยาสลบได้ดีขึ้น ลดการใช้สารน้ำในการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น

    • ช่วยลดความเสี่ยงในผู้ป่วยสูงวัยหรือมีโรคประจำตัว

      ในกรณีผู้ป่วยสูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง ทีมแพทย์ผ่าตัดมักเลี่ยงการผ่าตัดที่ต้องกระทบกระเทือนส่วนต่างๆ ของร่างกายผู้ป่วยให้มากที่สุด รวมถึงเลี่ยงการดมยาสลบในการผ่าตัด อุปกรณ์ Minimal Invasive Monitoring ช่วยให้ดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงวัยได้ใกล้ชิดมากขึ้น และช่วยตรวจปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจระหว่างผ่าตัดได้แม่นยำขึ้น ลดความเสี่ยงขณะผ่าตัดได้ดีขึ้น และทำให้ผู้ป่วยสามารถพักฟื้นและกลับบ้านได้เร็วขึ้น

    • ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นและกลับบ้านได้เร็วขึ้น

      ด้วยความที่อุปกรณ์ Minimal Invasive Monitoring ใช้แทงเข้าเส้นเลือดแดงด้วยเข็มขนาดเท่าเข็มน้ำเกลือเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก โดยจะเห็นผลชัดเจนมากในกรณีผ่าตัดเล็ก เช่นการผ่าตัดส่องกล้อง หรือการผ่าตัดแบบเจาะรูขนาดเล็ก เมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วก็สามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น ช่วยให้การจัดการคิวผ่าตัดในโรงพยาบาลรวดเร็วและรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงทีมากขึ้น

ความคาดหวังของหน่วยเวชบำบัดวิกฤติ ฝ่ายวิสัญญีวิทยา คือการเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ Minimal Invasive Monitoring หรือ เครื่องวัดปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจแบบต่อเนื่อง โดยผลที่จะเกิดขึ้นจากการเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ คือ
– เพื่อให้ผู้ป่วยผ่าตัดเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น
– เมื่อการผ่าตัดซับซ้อนน้อยลง เจ็บปวดน้อยลง ก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่กลัวการผ่าตัด
– ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวและกลับบ้านได้เร็วขึ้น
– ส่งผลดีแก่โรงพยาบาลในการบริหารจัดการคิวผ่าตัดแก่ผู้ป่วยรายอื่นต่อไป
– ได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัดใช้เวลาในการรอคิวสั้นลง

รศ.พญ.กัญญา เผยอีกด้วยว่าอุปกรณ์ที่ทันสมัย มาพร้อมค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นแต่หากเทคโนโลยีช่วยให้หมอและผู้ป่วยในห้องผ่าตัดบรรลุผลการผ่าตัดที่ดีขึ้นกว่าเดิมก็นับว่าคุ้มค่าและได้ประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เทคโนโลยีกำหนดตำแหน่งการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยใช้ภาพสนามแม่เหล็ก

การพัฒนานำเทคโนโลยีการถ่ายภาพสนามแม่เหล็กมาใช้ร่วมกับการอัลตราซาวนด์เสมือนการสร้างแผนที่นำทางเพื่อให้ศัลยแพทย์สามารถเข้าไปตัดชิ้นเนื้อ

Intraoperative Neurophysiologic Monitoring
เพื่อการฟื้นตัวไวและคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการผ่าตัด

เทคโนโลยีการเฝ้าระวังการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติระหว่างผ่าตัด คือ Intraoperative Bulbocavernosus Reflex Monitoring มาช่วยระหว่างการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของไขสันหลังส่วนก้นแต่กำเนิดในผู้ป่วยเด็ก

การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า

Deep Brain Stimulation หรือการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า นวัตกรรมการรักษาทางเลือกใหม่โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์