จอประสาทตา เป็นโครงสร้างภายในลูกตา ทำหน้าที่รับภาพและส่งสัญญาณภาพไปที่สมองเพื่อแปรผล หากจอประสาทตาเกิดการหลุดลอกหรือที่เรียกว่า “จอประสาทตาลอก” จะทำให้บริเวณที่หลุดลอกไม่สามารถส่งสัญญาณภาพไปที่สมองได้ การมองเห็นค่อย ๆ ลดลง หากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นถาวร
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากการฉีกขาดของจอประสาทตา จากภาวะวุ้นตาเสื่อมหรือการได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตา โดยเมื่อเกิดการฉีกขาดจะมีน้ำเซาะเข้าไปที่ชั้นจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาหลุดลอกออก
อาการ
– มองเห็นจุดดำลอยไปมา
– มองเห็นแสงวาบ คล้ายฟ้าแลบ
– เห็นเงาเทา ๆ เหมือนมีม่านมาบัง
การตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ ได้แก่ การตรวจวัดระดับการมองเห็น การตรวจวัดความดันลูกตา และการขยายม่านตาเพื่อตรวจจอประสาทตา ซึ่งอาจต้องใช้การหยอดยาขยายม่านตาร่วมด้วย
วิธีรักษา
– หากมีภาวะวุ้นตาเสื่อมแต่จอประสาทตายังไม่หลุดลอก อาจตรวจติดตามอาการเป็นประจำ
– หากมีจอประสาทตาฉีกขาด ใช้วิธีรักษาด้วยการยิงเลเซอร์เพื่อปะรอยฉีกขาดและป้องกันการหลุดลอกของจอประสาทตา
– หากมีจอประสาทตาหลุดลอก อาจใช้วิธีผ่าตัด เช่น การผ่าตัดใส่ยางรัดลูกตา การผ่าตัดน้ำวุ้นตา
ทั้งนี้ จักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย
ข้อมูลโดย : อ.นพ.วิวัฒน์ ประเสริฐ
ภาควิชาจักษุวิทยา
ข้อมูล ณ วันที่ : 17 สิงหาคม 2567