ในปัจจุบัน ยาที่ใช้สำหรับรักษามะเร็งปอดสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
– ออกฤทธิ์โดยยับยั้งและทำลายเซลล์ที่มีการแบ่งตัว ซึ่งโดยทั่วไปเซลล์มะเร็งมีการแบ่งตัวเร็วกว่าเซลล์ปกติของร่างกาย ทำให้ยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งได้ดี
– ยาเคมีบำบัดสามารถส่งผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายที่มีการแบ่งตัวเร็วได้ เช่น เซลล์เม็ดเลือด เซลล์ผิวหนัง เซลล์เยื่อบุช่องปาก ทำให้เกิดผลข้างเคียง
ยามุ่งเป้า (Targeted therapy)
– เป็นยาที่มีความจำเพาะกับความผิดปกติของยีนที่เกิดขึ้นในเซลล์มะเร็ง
– เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียง
– ข้อจำกัด – มะเร็งที่รักษาด้วยยามุ่งเป้าได้จะต้องมีตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarker) ที่จำเพาะต่อกัน ยาจึงจะสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
– ออกฤทธิ์โดยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อให้กำจัดเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น
– มะเร็งบางชนิดจะมีการปล่อยสัญญาณออกมาเพื่อยับยั้งการทำงานของภูมิคุ้มกันและทำให้เซลล์มะเร็งหลบเลี่ยงจากการถูกทำลาย ยาภูมิคุ้มกันบำบัดจะไปยับยั้งสัญญาณเหล่านั้นเพื่อให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายค้นพบและกำจัดเซลล์มะเร็งได้
การเลือกใช้ยาสำหรับรักษามะเร็งปอดอาจพิจารณาให้เป็นยาเดี่ยวหรือให้ยาหลายชนิดแบบผสมผสาน ขึ้นกับชนิดและระยะของมะเร็งปอด ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ และสภาพร่างกายของผู้ป่วย
ที่มา: อ.พญ.ณิชา ซึงสนธิพร
หน่วยมะเร็งวิทยา
ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566