โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

กะโหลกศีรษะเชื่อมติดผิดปกติ

กะโหลกศีรษะเชื่อมติดผิดปกติ (Craniosynostosis) คือความผิดปกติที่รอยประสานกะโหลกศีรษะ ส่งผลให้กระดูกกะโหลกศีรษะมีการเชื่อมติดกันผิดปกติ ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวเนื่องกับอวัยวะสำคัญหลายส่วน อาทิ สมอง ดวงตา ระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น 
🗣สาเหตุ
เกิดจากกระดูกที่มาประกอบกันเป็นกะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันผิดปกติ ทำให้ศีรษะผิดรูปและกดรัดสมองไม่ให้ขยายขนาดได้อย่างปกติ ส่งผลให้เกิดความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ
🗣ความผิดปกตินี้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.กลุ่มที่มีการเชื่อมติดของรอยประสานกะโหลกศีรษะหลายตำแหน่ง ร่วมกับความผิดปกติอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย (syndromic craniosynostosis) คนไข้ในกลุ่มนี้มีการเชื่อมติดของกระดูกกะโหลกศีรษะหลายชิ้น ทำให้กะโหลกศีรษะและใบหน้าผิดรูปอย่างรุนแรง เป็นความพิการแต่กำเนิดที่เกิดขึ้นขณะทารกอยู่ในครรภ์มารดาและเกิดต่อเนื่องหลังคลอด มักมีความพิการแต่กำเนิดของอวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แขน ขา มือ เท้า ตา อวัยวะการได้ยิน เป็นต้น และสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้
2.กลุ่มที่มีการเชื่อมติดของรอยประสานกะโหลกศีรษะตำแหน่งเดียว (non-syndromic craniosynostosis) ความผิดปกติเกิดที่รอยประสานเดียว  ทำให้กะโหลกศีรษะรอบๆ รอยประสานนั้นขยายตัวไม่ได้ ศีรษะมีรูปร่างบิดเบี้ยว เช่น หน้าผากด้านใดด้านหนึ่งยุบ แบนราบ หรือบิดเบี้ยว เป็นต้น 
🗣การรักษา
ผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดแก้ไขโดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีผลต่อสมองใต้รอยประสานที่ผิดปกติ และป้องกันแก้ไขความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า  โรคในกลุ่มกะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันผิดปกตินั้น อาจมีความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ร่วมด้วย   จึงต้องได้รับการดูแลรักษาโดยทีมบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี

ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563                            
ที่มา : รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์