มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่สามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น การผ่าตัดถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยวินิจฉัยความผิดปกติและกำจัดก้อนเนื้อร้ายในผู้ป่วยทุกระยะ
การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่คืออะไร
- การผ่าตัดลำไส้ใหญ่เป็นการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่บางส่วน ต่อมน้ำเหลืองโดยรอบและหลอดเลือดหลักที่ไปเลี้ยงลำไส้ใหญ่บริเวณดังกล่าวออก
- เย็บต่อลำไส้ส่วนที่เหลือด้วยไหมเย็บหรืออุปกรณ์ตัดต่อลำไส้อัตโนมัติ
- หลังจากได้ชิ้นเนื้อแล้ว แพทย์จะส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อวินิจฉัยระยะของโรคมะเร็งได้อย่างชัดเจน และตรวจหาการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง
- ระยะของโรคที่ได้จากการตรวจผลชิ้นเนื้อจะถูกใช้เพื่อพิจารณาการรักษาเพิ่มเติมหลังผ่าตัด เช่น การให้ยาเคมีบำบัด หรือการใช้ยามุ่งเป้า เป็นต้น
การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ 3 รูปแบบ
การรักษาด้วยการผ่าตัดสามารถทำได้ในทุกระยะของโรค ซึ่งแต่ละรูปแบบจะให้ผลการรักษาที่เทียบเท่ากัน
- การผ่าตัดแบบเปิดแผลหน้าท้อง เป็นการรักษาวิธีมาตรฐาน ทำได้ในทุกโรงพยาบาล แต่มีข้อเสียคือ ขนาดแผลใหญ่ จึงมีอาการปวดหลังผ่าตัดมาก และฟื้นตัวช้า
- การผ่าตัดผ่านทางช่องท้อง เป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำได้ในโรงพยาบาลบางแห่ง แต่เป็นวิธีที่ขนาดแผลเล็ก เจ็บปวดน้อยและฟื้นตัวเร็ว
- การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มีค่าใช้จ่ายสูง ทำได้ในโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้น วิธีนี้มีข้อดีเหมือนกับการผ่าตัดผ่านช่องท้องคือ ขนาดแผลเล็ก ความเจ็บปวดน้อยและฟื้นตัวเร็ว
ข้อมูลโดย อ.นพ.ฐิติเทพ ลิ้มวรพิทักษ์
หน่วยศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ข้อมูล ณ วันที่ : 21 กุมภาพันธ์ 2567