โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย เป็นโรคทางพันธุกรรมพบในเพศชาย เกิดจากความบกพร่องของยีนที่สร้างปัจจัยการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีเลือดออกผิดได้ในวัยเด็กหรือวัยรุ่นจากการกระทบกระแทกของกล้ามเนื้อและข้อต่าง ๆ ของร่างกาย
อาการเลือดออกของโรคฮีโมฟีเลีย
มีลักษณะเด่น คือ มีเลือดออกในข้อร้อยละ 80–100 และในกล้ามเนื้อร้อยละ 10–20 ซึ่งอาจเกิดภายหลังได้รับอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระแทก เช่น การเล่นกีฬา เป็นต้น
แนวทางปฏิบัติตัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
- ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและข้อ
- ควรออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็ว แบดมินตัน ปิงปอง ขี่จักรยาน และการวิ่ง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการกระทบกระแทก เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ชกมวย เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี
- มีความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนเมื่อเกิดเลือดออกได้อย่างถูกต้อง
- ได้รับการรักษาด้วยการฉีดแฟคเตอร์อย่างต่อเนื่อง (ตามแผนการรักษาของแพทย์)
การดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียเป็นการดูแลตลอดชีวิต ผู้ป่วยและครอบครัวต้องมีความเข้าใจโรคและรับการรักษาอย่างถูกต้อง รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเลือดออกซ้ำ ที่อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อและข้อไม่แข็งแรง และนำไปสู่การเกิดข้อพิการได้ในอนาคต
ข้อมูลโดย : รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
ข้อมูล ณ วันที่ : 15 เมษายน 2566