โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุสำคัญและพบได้บ่อยที่สุดของการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงวัย เป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายได้ แต่สามารถชะลอการเกิดหรือชะลอการเสื่อมถอยของโรคสมองเสื่อมให้ช้าที่สุดได้
อาการเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์
- ระยะแรก มีอาการเด่นเรื่องหลงลืม จำเหตุการณ์ที่พึ่งผ่านไปไม่ได้ ถามหรือพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ วางของแล้วหาไม่เจอ ของหายบ่อย ๆ
- มีปัญหาในการใช้ภาษา นึกคำไม่ออก ใช้คำผิด
- ไม่มีสมาธิหรือมีใจจดจ่อกับเรื่องราวได้นาน ๆ
- มีปัญหาเรื่องมิติ การกะระยะและทิศทาง เช่น หลงทางบ่อย ๆ ขับรถเฉี่ยวชนบ่อยขึ้น
- มีปัญหาในการบริหารจัดการ วางแผน แก้ไขปัญหาไม่ได้ คิดใช้เหตุผลได้ไม่เหมาะสม
- สูญเสียทักษะในการทำกิจกรรมที่มีลำดับขั้นตอนที่เคยทำได้ เช่น การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า โทรศัพท์ ทำอาหาร เป็นต้น
- บุคลลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม หรือมีอาการทางจิต เช่น มีอาการระแวง หึงหวงทั้งที่ไม่เคยเป็น พูดจาหยาบคาย วิตกกังวล หวาดกลัวไม่สมเหตุสมผล
- มีอารมณ์เศร้า ท้อแท้ มีความสนใจสิ่งแวดล้อมลดลง ไม่สนใจเข้าสังคม แยกตัว เฉื่อยชา ไม่ทำอะไร ไม่สนใจคนรอบข้าง
การเสื่อมถอยและอาการต่าง ๆ ข้างต้นจะเริ่มเห็นชัดเจนในผู้ป่วยที่มีอาการระยะแรกที่เรียกว่า ภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment) สักระยะหนึ่ง ก่อนที่อาการจะเสื่อมถอยมากขึ้นในเวลาต่อมา จนเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม
เมื่อมีความรุนแรงมากจะกระทบความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันที่ผู้ป่วยเคยทำได้ และในระยะหลังๆ ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว กินอาหาร ด้วยตนเองได้
ข้อมูลโดย : รศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
ข้อมูล ณ วันที่ : 1 กรกฎาคม 2566