โรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคที่การขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ ร่วมกับอาการปวดท้อง แน่นท้อง มักมีอาการเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ในรายที่รุนแรงอาการเหล่านี้จะรบกวนชีวิตประจำวัน
อาการ
– ท้องผูก อุจจาระแข็ง ถ่ายอุจจาระห่างกว่าปกติ หรืออุจจาระเหลว ถ่ายบ่อยมากกว่าปกติ
– ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด มีลมมากในท้อง
– โดยอาการปวดแน่นท้องเหล่านี้สัมพันธ์กับการขับถ่าย เช่น ถ่ายแล้วมักจะมีอาการดีขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้อาการลำไส้แปรปรวนกำเริบ
อาหารบางชนิด อาจมีผลกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวผิดปกติ
– นม ผลิตภัณฑ์นม
– แป้งสาลี
– กระเทียม
– อาหารและผลไม้รสหวาน เช่น น้ำหวาน น้ำผึ้ง แตงโม
ความเครียด ความวิตกกังวล ทำให้ร่างกายรับความรู้สึกจากลำไส้ไวเกินกว่าปกติ
วิธีรักษา
- ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
- รับประทานที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน
- ดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อให้การขับถ่ายเป็นปกติ
- ผ่อนคลายความเครียด ความกังวล ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
อาการที่ควรพบแพทย์
- มีอาการรุนแรงที่รบกวนชีวิตประจำวัน
- เริ่มมีอาการของลำไส้แปรปรวนเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป
- ถ่ายเป็นเลือด หรือโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก
- น้ำหนักลด (ลดลงมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10 ใน 3 เดือน)
- มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง
- มีประวัติโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง
ข้อมูลโดย : รศ.(พิเศษ) พญ.ฐนิสา พัชรตระกูล
ฝ่ายอายุรศาสตร์
ข้อมูล ณ วันที่ 6 มกราคม 2567