โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ถ้าเป็น “รองช้ำ” จะทำอย่างไรดี ?

ถ้าเป็น “รองช้ำ” จะทำอย่างไรดี ?

รองช้ำ คือ ?
รองช้ำเป็นอาการเจ็บที่บริเวณเนื้อเยื่อพังผืดรองฝ่าเท้า (Plantar Fascia) โดยเฉพาะบริเวณจุดเกาะของพังผืดรองฝ่าเท้าที่เกาะกับกระดูกส้นเท้า
รองช้ำเป็นอาการที่พบบ่อยในกลุ่มนักกีฬา โดยเฉพาะนักวิ่ง แต่รองช้ำก็สามารถพบเจอได้ในบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เล่นกีฬาเช่นกัน

อาการที่พบบ่อย

  • เจ็บส้นเท้า เมื่อยืนหรือเดินก้าวแรกของวัน
  • เจ็ฐที่บริเวณส้นเท้าด้านใน เมื่อยืนหรือเดินเป็นเวลานาน ๆ
  • มีจุดกดเจ็บที่บริเวณส้นเท้าด้านในใกล้กับอุ้งเท้า
  • อาจมีอาการบวม แดง บริเวณจุดเกาะพังผืดอักเสบ

สาเหตุของรองช้ำ
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการบาดเจ็บแบบสะสมและมีการอักเสบเรื้อรังที่บริเวณจุดเกาะของพังผืดรองฝ่าเท้าที่ส้นเท้า ส่งผลให้เนื้อเยื่อพังผืดเสื่อม หนาตัวขึ้น และทำให้มีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณส้นเท้า

การดูแลตนเองเมื่อเจ็บรองช้ำ

  1. กินยา/ทายาลดอักเสบกลุ่ม NSIADs
  2. ประคบเย็น หากบริเวณที่เจ็บมีอาการบวม แดง ร้อน และประคบอุ่นหากมีอาการเจ็บเรื้อรัง
  3. หมั่นยืดเหยียดกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อฝ่าเท้า และเอ็นรองฝ่าเท้าอย่างสม่ำเสมอ
  4. เมื่ออาการเจ็บลดลงแล้ว ให้เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อฝ่าเท้าและน่อง
  5. ลดหรือเลี่ยงการยืน เดิน วิ่ง
  6. ใส่รองเท้าที่มีพื้นด้านในนุ่ม ช่วยซัพพอร์ตเท้า ทั้งในบ้านและนอกบ้าน
  7. ไม่เดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง

85-90% สามารถหายจากอาการเจ็บรองช้ำ โดยรักษาแบบไม่ผ่าตัด

การรักษาด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัดและการฉีดยา
หากอาการบาดเจ็บไม่ดีขึ้น แพทย์จะใช้เครื่องมือทางกายภาพเพื่อลดปวดและกระตุ้นการซ่อมแซมพังผืดและเส้นเอ็น เช่น

การใช้เครื่องมือทางกายภาพ

  • เครื่องมือให้ความร้อนลึก เช่น อัลตราซาวน์ คลื่นความถี่วิทยุ (RF)
  • คลื่นแสงพลังงานสูง (High Power LASER Therapy)
  • คลื่นกระแทก (Shock Wave Therapy)

การฉีดยา

  • ฉีดยาลดการอักเสบ บริเวณจุดเกาะของพังผืดที่ส้นเท้า เพื่อลดการอักเสบ, ปวดเรื้อรัง
  • ฉีดสารกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ เช่น PRP Prolotherapy

หากรักษาไม่สำเร็จ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป

ข้อมูลโดย อ.พญ.ฑิมภ์พร วิทูรพงศ์
ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู
ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2567

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์