โรคอัลไซเมอร์ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถดูแลรักษาแบบประคับประคอง เน้นให้ผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแลมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ด้วยการดูแลรักษาแบบไม่ใช้ยาและแบบใช้ยา
แนวทางการดูแลรักษาเมื่อได้รับวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์
แบบไม่ใช้ยา :
1. ทำความเข้าใจการวินิจฉัย ธรรมชาติของโรค และอาการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อวางแผนการดูแลระยะยาว
2. แก้ไขข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่ทำได้ เช่น ปัญหาการได้ยิน สายตา โรคประจำตัวที่ยังควบคุมไม่ได้
3. ให้ผู้ป่วยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย ปลอดภัย จัดตารางกิจกรรมแต่ละวันให้เหมือนเดิมทุกวัน
4. จัดกิจกรรมกระตุ้นสมองที่ผู้ป่วยคุ้นเคย ชื่นชอบ และไม่ก่อให้เกิดความเครียด
5. ปรับพฤติกรรมโดยเน้นวิธีที่ถูกใจผู้ป่วย ไม่จำเป็นต้องถูกต้องหากไม่เป็นอันตราย
6. ฝึกหรือให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยให้ทำกิจวัตรประจำวันที่ผู้ป่วยยังพอทำเองได้
7. ดูแลสุขภาพกาย สมดุลชีวิตของผู้ดูแลให้สามารถดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ
โรคอัลไซเมอร์ หากวินิจฉัยโรคได้เร็วเท่าไรก็จะยิ่งดี ซึ่งการวินิจฉัยภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment: MCI) ก่อนเกิดภาวะสมองเสื่อมเพื่อหาสาเหตุ ปรับลดความเสี่ยง จะช่วยผู้ป่วยและผู้ดูแลในการวางแผนการใช้ชีวิตได้ดียิ่งขึ้นเพื่อรับมือกับอาการของโรคได้
การรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่การรักษาให้หายจากโรค แต่เป็นการวางแผนการใช้ชีวิตและรักษาประคับประคองตามอาการและปัญหาที่เกิดขึ้น ชะลอภาวะสมองให้เสื่อมช้าที่สุด
ข้อมูลโดย : รศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
ข้อมูล ณ วันที่ : 17 มิถุนายน 2566