วาร์ฟารินเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งอาจไปอุดตันตามเส้นเลือดต่าง ๆ ในร่างกาย
ใช้วาร์ฟารินอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
- ต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- รับประทานยาสม่ำเสมอ ในเวลาเดียวกันทุกวัน
- ไม่ควรเพิ่ม-ลดขนาดยา หรือหยุดยาเองโดยเด็ดขาด
ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา
- กรณีลืมรับประทานยา ไม่เกิน 12 ชั่วโมง ให้รับประทานทันที่ที่นึกขึ้นได้
- กรณีที่ลืมรับประทานยา เกิน 12 ชั่วโมง ให้ข้ามมื้อนั้นไป และรับประทานมื้อถัดไปในขนาดเท่าเดิม
- ควรจดบันทึกทุกครั้งเมื่อลืมรับประทานยา และนำข้อมูลมาแจ้งให้แพทย์ทราบ
ใช้ยาวาร์ฟารินอย่างไรให้ปลอดภัย
- หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการทำหัตถการ ต้องแจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ให้ทราบว่ารับประทานยาวาร์ฟารินอยู่
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมมารับประทาน
- พกสมุดประจำตัวผู้ป่วยที่รับประทานยาวาร์ฟารินทุกครั้งที่พบแพทย์
- ระวังการรับประทานอาหารบางชนิด
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- แจ้งให้แพทย์ทราบกรณีตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์
อาการที่ต้องรีบมาพบแพทย์
- อาการที่อาจบ่งชี้ภาวะเกิดเลือดออก เช่น จ้ำเลือด เลือดไหลไม่หยุดหรือไหลมากผิดปกติ อุจจาระ ปัสสาวะปนเลือด ปวดศีรษะรุนแรง
- อาการที่อาจบ่งชี้การเกิดเส้นเลือดอุดตัน เช่น อาการปากเบี้ยว แขนหรือขาอ่อนแรงครึ่งซีก ชา พูดไม่ชัด หรือมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกร่วมกับได้ยินเสียงลิ้นหัวใจเบาลง ในกรณีใส่ลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ
วิธีการเก็บรักษายา
1. เก็บยาให้พ้นแสงและความชื้น โดยใส่ในซองสีชาที่ทางโรงพยาบาลจัดให้ หรือในขวดปิดมิดชิด
2. ตรวจสอบวันหมดอายุทุกครั้งหลังจากรับยา
3. เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
4. ในกรณีต้องรับประทานยาแบบหักแบ่ง อย่าหักแบ่งเม็ดยาไว้ทั้งซองหรือทีละหลายเม็ด
ข้อมูลโดย : ภญ.รวิวรรณ อรุณพันธุ์
วาร์ฟารินคลินิก กลุ่มงานเภสัชกรรม
ข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2566