โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

อัฐิหรือเถ้ากระดูกของผู้ป่วยโรคโควิด-19

ตามทฤษฎีการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 เกิดจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อผ่านทางละอองเสมหะจากการไอ จาม น้ำมูก หรือน้ำลายเท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่สนับสนุนการการติดต่อผ่านทางการสัมผัสกับร่างของผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ในทางปฏิบัติแนะนำให้ผู้ที่ต้องปฏิบัติงานหรือต้องสัมผัสกับร่างผู้เสียชีวิต จำเป็นต้องมีกระบวนการป้องกันตามแนวทางมาตรฐานการจัดการศพติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) ตลอดจนการบรรจุศพ

การเผาศพผู้ป่วยโรคโควิด-19

ความร้อนสูงจากการเผาศพผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ แต่ควรดำเนินการในที่มิดชิด เช่น เตาเผาศพ หลีกเลี่ยงการเผากลางแจ้งที่มีโอกาสเกิดฝุ่นผงหรือขี้เถ้าฟุ้งกระจายออกบริเวณรอบ ๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการสุดดมหรือสัมผัสของผู้ปฏิบัติงาน ญาติ หรือผู้ร่วมพิธีทางศาสนาโดยปกติเตาเผาที่ใช้ผาศพจะให้ความร้อนสูงถึง 760-1000 องศาเซลเซียสซึ่งเมื่อร่างผู้เสียชีวิตถูกฌาปนกิจเสร็จสิ้น ผิวหนัง เนื้อเยื่อ และกระดูกส่วนต่าง ๆของร่างกาย จะถูกเผาไหม้และทำลายเหลือเพียงเถ้ากระดูก ตลอดจนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะถูกทำลายจนหมด

การเก็บอัฐิหรือเถ้ากระดูกของผู้ป่วยโรคโควิด-19

ญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิตสามารถดำเนินการเก็บอัฐิหรือเถ้ากระดูกเพื่อไปบำเพ็ญกุศลตามพิธีกรรมทางศาสนาต่อได้ แต่อย่างไรก็ตามควรปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง สวมหน้ากากอนามัย ชุดกันเปื้อน และถุงมือทุกครั้งที่ต้องสัมผัสกับอัฐหรือเถ้ากระดูก และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นกิจพิธี

ข้อมูล ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2564
ที่มา : อ. นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์