วัยรุ่น ถือเป็นวัยที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ จึงไม่ใช่เด็กและยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัวทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกาย จิตใจ ความคิดและอารมณ์
โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวัยรุ่นรวมถึงโรคมะเร็ง มีความแตกต่างกันจากที่เกิดในเด็กและผู้ใหญ่ทั้งชนิดของโรค การพยากรณ์โรค และปัจจัยทางชีวภาพของโรค
มะเร็งที่พบในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี 5 อันดับแรกได้แก่
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- มะเร็งสมอง
- มะเร็งกระดูกและกล้ามเนื้อ
- เนื้องอกในเซลล์สืบพันธุ์ (Germ cell tumor)
ความท้าทายในการดูแลรักษาผู้ป่วยวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง
- มักมีการพยากรณ์โรคที่แย่กว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก แม้ว่าป่วยเป็นโรคเดียวกันจากปัจจัยทางชีวภาพของโรค
- วินิจฉัยยากกว่า วัยรุ่นมักมาพบแพทย์ล่าช้า เนื่องจากผู้ป่วยหรือแพทย์ที่ดูแลมักไม่นึกถึงโรคมะเร็งในกลุ่มอายุวัยรุ่น
- สภาพจิตใจของวัยรุ่นที่อาจยอมรับการรักษายาก และความสม่ำเสมอของการกินยาและการรักษาอื่นๆ ต่ำกว่าเด็กที่มีผู้ปกครองดูแลหรือผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลตัวเองได้
- ทีมสหวิชาชีพไม่เข้าใจความต้องการรวมถึงสภาพพื้นฐานของผู้ป่วยวัยรุ่น
ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยมะเร็งวัยรุ่นจึงจำเป็นจะต้องใช้ความเข้าใจและการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพหลายฝ่าย รวมไปถึงตัวผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้การรักษานั้นมีประสิทธิภาพ มีผลข้างเคียงทางกายและใจน้อยที่สุด
ข้อมูลโดย รศ.นพ.ปิติ เตชะวิจิตร์
สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร
ข้อมูล ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2566