โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ภัยเงียบการได้ยิน รักษาเร็วป้องกันเสี่ยงสมองเสื่อม

ปัญหาการได้ยินถือเป็นความเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ โดยเพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมถึง 2 เท่า ปัญหาการได้ยินที่ส่งผลกระทบต่อสมองนั้นมาจากสาเหตุ 2 ประการ ได้แก่

ทางตรง เมื่อระดับการได้ยินเสียงลดลง สมองได้รับการกระตุ้นจากการได้ยินเสียงน้อยลง สมองส่วนรับเสียงจะค่อย ๆ ฝ่อและเสื่อมลงไปด้วย

ทางอ้อม เมื่อเริ่มมีอาการหูตึงทำให้หลายคนแยกตัวออกจากสังคม สูญเสียความมั่นใจในการดำเนินชีวิต นำมาสู่ภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมด้วยเช่นกัน

อาการผิดปกติทางการได้ยินที่พบบ่อยและสังเกตได้เบื้องต้น ได้แก่

1.เปิดโทรทัศน์เสียงดังขึ้น
2. เวลาอยู่ในที่เสียงดังจอแจมีเสียงรบกวนมาก เช่น ในตลาด หรือร้านอาหารที่คนมาก ๆ จะพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง
3.เวลาพูดคุยด้วยต้องพูดเสียงดังขึ้น หรือต้องตะโกนจึงจะได้ยิน
4. เวลามีคนมาพูดคุยด้วยจะได้ยินเสียง แต่จับใจความไม่ได้ ทำให้ฟังผิดและสื่อสารผิดบ่อย ๆ

ตรวจเช็กการได้ยินด้วยตนเองได้ง่าย ๆ

ยกมือขึ้นมาระดับศีรษะ ห่างจากหูข้างเดียวกันประมาณ 30 เซนติเมตร ถูนิ้วแล้วสังเกตว่าได้ยินเสียงนิ้วที่ถูกันหรือไม่หากมีอาการผิดปกติข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหู เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและให้การรักษาให้ตรงจุดต่อไป 

ข้อมูลโดย อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร 
ฝ่ายโสต สอ นาสิก
ข้อมูล ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2566

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์