โรคลมชัก
เป็นโรคที่สมองของผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะปล่อยคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติออกมามากพร้อม ๆ กัน ทำให้เกิดอาการซักในรูปแบบต่าง ๆ กันออกไป ขึ้นกับบริเวณของสมองที่ถูกรบกวนด้วยคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติเหล่านี้
สาเหตุ
ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ประมาณ 2 ใน 3 ไม่ทราบสาเหตุของโรคลมซัก ในกลุ่มที่ทราบสาเหตุนั้น อาจเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันไปตามช่วงอายุ
วัยเด็ก – การขาดออกซิเจนในช่วงแรกคลอด ภาวะติดเชื้อในสมอง
วัยรุ่น – อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดอันตรายต่อสมอง
ผู้สูงอายุ – โรคหลอดเลือดสมอง
อาการ
การซักมักเกิดขึ้นในรูปแบบเดียวกันทุกครั้ง แต่ละครั้งนานประมาณ 1-2 นาที ส่วนใหญ่ไม่เกิน 5 นาที และจะหยุดเองหลังชักผู้ป่วยอาจมีอาการสับสนได้
รูปแบบการชัก
ชักแบบรู้ตัว เช่น ชักเกร็งกระตุกหรืออาการชาของแขนขาหรือหน้าด้านใดด้านหนึ่งเห็นแสงระยิบระยับ เป็นต้น
ชักแบบไม่รู้ตัว เช่น ชักเหม่อร่วมกับการทำอะไรโดยไม่รู้ตัวเช่น เคี้ยวปาก มือคลำสิ่งของ หรือเสื้อผ้าตนเอง หรืออาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว เป็นต้น
ที่มา: ผศ.(พิเศษ).นพ.ชูศักดิ์ ลิโมทัย
ฝ่ายอายุรศาสตร์
วันเผยแพร่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566