โรคเกาต์ คือ โรคที่เกิดจากกรดยูริกในเลือดสูงแล้วไปสะสมในอวัยวะต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ในข้อทำให้เกิดภาวะข้ออักเสบเฉียบพลัน โดยมีอาการปวดบวมแดงที่ข้อหรือไปสะสมในไต ทำให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะหรือภาวะไตวายเรื้อรัง
การรับประทานยาและวิธีการรักษาโรคเกาต์
- การให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อการรักษาข้ออักเสบเฉียบพลัน
- การตรวจหาและรักษาโรคที่จะพบร่วมกับโรคเกาต์ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
- การป้องกันการสะสมของกรดยูริก โดยการให้ยาลดกรดยูริก ร่วมกับ คำแนะนำการดูแลตนเองของผู้ป่วย
การรับประทานอาหารในผู้ป่วยโรคเกาต์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ เนื่องจากจะเพิ่มกรดยูริกในเลือด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ที่จะเพิ่มระดับกรดยูริกได้มากรวมถึงวิสกี้ และไวน์
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีฟรุกโตสเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ที่ผสมฟรุกโตส และนมที่มีไขมันสูง ซึ่งเครื่องดื่มเหล่านี้จะเพิ่มระดับกรดยูริก
- อาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยลดระดับกรดยูริก เช่น นมที่มีไขมันต่ำ โยเกิร์ตไขมันต่ำ วิตามินซี และเชอร์รี
คำแนะนำจากแพทย์
นอกจากการดูแลตนเองโดยการรับประทานยาร่วมกับการรับประทานอาหารชนิดต่าง ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว ผู้ป่วยโรคเกาต์ที่อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน ควรให้ความสำคัญกับการลดน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยลดระดับกรดยูริกและลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร่วมอื่น ๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
ข้อมูล ณ วันที่ 14 เมษายน 2564
ที่มา : ผศ. นพ.สิทธิชัย อุกฤษฎชน