ความผิดปกติของร่างกายแต่กำเนิดสร้างความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีความผิดปกติของไขสันหลังส่วนก้นแต่กำเนิด เกิดภาวะดึงรั้งบริเวณไขสันหลังหรือก้อนเนื้อกดทับที่บริเวณเส้นประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการขาอ่อนแรงจนถึงไม่สามารถเดินได้
เทคโนโลยีการเฝ้าระวังการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติระหว่างผ่าตัด คือ Intraoperative Bulbocavernosus Reflex Monitoring มาช่วยระหว่างการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของไขสันหลังส่วนก้นแต่กำเนิดในผู้ป่วยเด็ก เพื่อเพิ่มศักยภาพการรักษา ช่วยให้ศัลยแพทย์ผ่าตัดได้อย่างมั่นใจ เกิดการบาดเจ็บต่อระบบประสาทน้อยที่สุด ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพชีวิตหลังผ่าตัดที่ดีขึ้น
อ.พญ.สุนิสา แสงทองจรัสกุล วิสัญญีแพทย์เฉพาะทางด้านการ ให้ยาระงับความรู้สึกทางประสาทศัลยศาสตร์ ฝ่ายวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เทคโนโลยี Intraoperative Bulbocavernosus Reflex Monitoring นี้เป็นเครื่องมือติดตามเฝ้าระวังสรีรวิทยาของระบบประสาทระหว่างผ่าตัด (Intraoperative Neurophysiologic Monitoring; IONM) ชนิดหนึ่งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นำมาใช้เป็นลำดับต้นๆ ในประเทศไทย โดยใช้เฝ้าระวังระหว่างผ่าตัดบริเวณไขสันหลังส่วนก้นในผู้ป่วย
เด็กอายุประมาณตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป การผ่าตัดนี้เป็นการผ่าตัดซับซ้อนจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากสหวิชาชีพที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง ประกอบด้วย ประสาทศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์สำหรับโรคทางระบบประสาท และบุคลากรที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังการทำงานของระบบประสาทระหว่างผ่าตัดซึ่งในบริบทของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นั้น วิสัญญีแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่นี้ด้วย
ยกระดับการรักษาด้วยเทคโนโลยี ลดขีดจำกัดของศัลยแพทย์และเพิ่มความปลอดภัยในผู้ป่วย
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้นำ Intraoperative Bulbocavernosus Reflex Monitoring มาใช้ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีความผิดปกติของไขสันหลังส่วนก้นแต่กำเนิดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 และประสบความสำเร็จในการรักษาอย่างปลอดภัยแล้วมากกว่า 20 ราย
เทคโนโลยีดังกล่าวนี้จะมีการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ Bulbocavernosus Reflex บริเวณอวัยวะเพศ ทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณรูทวารหนัก ซึ่งจะแสดงเป็นคลื่นไฟฟ้าบนจอมอนิเตอร์ ทำให้สามารถประเมินการทำงานของระบบประสาทได้ตลอดการผ่าตัด ประสาทศัลยแพทย์สามารถกำหนดตำแหน่งเส้นประสาทที่อาจฝังอยู่และหลีกเลี่ยงบริเวณดังกล่าวได้ในขณะเดียวกัน การใช้เทคโนโลยีนี้ก็เพิม่ ข้อจำกัดเกี่ยวกับเทคนคิ การระงบั ความรู้สึก เนื่องจากฤทธิ์ยาดมสลบอาจส่งผลต่อการตรวจติดตามการทำงานของระบบประสาท ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยวิสัญญีแพทย์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูงร่วมด้วย Intraoperative Bulbocavernosus Reflex Monitoring มีประโยชน์ในการผ่าตัด ดังนี้
- ตรวจติดตามและเฝ้าระวังทั้งระบบประสาทรับความรู้สึกและระบบประสาทสั่งการ
- หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้ดีขึ้น
- ในระยะยาวผู้ป่วยยังมีความสามารถในการรับรู้ทางเพศได้ตามปกติ
อ.พญ.สุนิสา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความสำเร็จข้างต้นแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2537 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยังเป็นผู้บุกเบิกการดูแลผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยี Intraoperative Neurophysiologic Monitoring ของประเทศไทย โดยมี รศ.พญ.ลาวัลย์ ตู้จินดา เป็นผู้ริเริ่มใช้เครื่องมือและพัฒนาองค์ความรู้มาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงต้นเครื่องมือยังไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์เนื่องจากมีคลื่นรบกวน ระบบไฟฟ้าที่ยังไม่เอื้ออำนวยและอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันมีราคาสูงต่อมาในปี พ.ศ. 2560 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้อนุมัติงบประมาณซื้อเครื่อง Intraoperative Neurophysiologic Monitoring เพิ่มเติม ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการติดตามเฝ้าระวังที่ช่วยลดการบาดเจ็บต่อระบบประสาทอันเป็นภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด
ทำไมต้องเฝ้าระวังขณะผ่าตัดสมองและไขสันหลัง ?
Intraoperative Neurophysiologic Monitoring อีกหนึ่งสุดยอดเครื่องมือช่วยเฝ้าระวังการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัด ใช้ในการระบุตำแหน่งที่กำลังผ่าตัดว่า เป็นแนวระบบประสาทส่วนที่ปกติหรือไม่ สามารถตรวจได้ทั้งระบบการมองเห็น การได้ยิน การรับสัมผัส และประสาทสั่งการ เมื่อพบว่าระบบประสาทยังทำงานได้ตามปกติ จะส่งผลโดยตรงต่อความมั่นใจของประสาทศัลยแพทย์เพื่อให้ได้ผลการผ่าตัดที่สมบูรณ์ที่สุด
ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ วิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้ควบคุมตำแหน่งการปักเข็มที่กล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทในตำแหน่งต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น ศีรษะ คอ ใบหน้า แขนและขา ขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัด เข็มเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นทั้งตัวรับและส่งกระแสไฟฟ้าและส่งสัญญาณการนำระบบประสาทออกมาในรูปคลื่น (wave) โดยวิสัญญีแพทย์ยังรับหน้าที่ในการเฝ้าระวังและรายงานความผิดปกติของคลื่นการนำกระแสประสาทให้ประสาทศัลยแพทย์ทราบด้วย
ผู้ป่วยกลุ่มใดบ้างที่สามารถใช้เครื่องมือ Intraoperative Neurophysiologic Monitoring ระหว่างการผ่าตัด
- ผู้ป่วยโรคเนื้องอกสมอง เช่น กรณีที่เนื้องอกในสมองอยู่ติดกับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงใบหน้า หากไม่ได้ติดตามการทำงานของเส้นประสาทดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ได้แก่ ใบหน้าเบี้ยว หลับตาไม่สนิท กระจกตาแห้ง มุมปากตก กลืนน้ำลายลำบากและส่งผลต่อบุคลิก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ IONM ในผู้ป่วยเหล่านี้
- ผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลัง ได้แก่ กระดูกสันหลังคด เนื้องอกในไขสันหลัง โดย Intraoperative Neurophysiologic Monitoring จะทำหน้าที่เฝ้าระวังการเกิดภาวะไขสันหลังขาดเลือดระหว่างการผ่าตัด เพื่อป้องกันการเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามมา
- ผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น ภาวะดึงรั้งของไขสันหลัง ใช้ Intraoperative Neurophysiologic Monitoring สำหรับประเมินการทำงานของกล้ามเนื้อระหว่างผ่าตัด เพื่อให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยยังคงสามารถขยับขาและเดินได้ รวมทั้งรักษาการทำงานของระบบขับถ่ายให้เป็นปกติมากที่สุด
อ.พญ.สุนิสา กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกการเริ่มต้นของการดูแลผู้ป่วยในรูปแบบใหม่ล้วนมาพร้อมกับอุปสรรคและข้อติดขัดมากมาย แต่เมื่อเป้าหมายคือการมอบการรักษาที่ดีที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ความยากลำบากเหล่านั้นจึงเปลี่ยนเป็นความท้าทาย และการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องของทีมสหวิชาชีพจึงทำให้การทำงานราบรื่นในที่สุด
เทคโนโลยี Intraoperative Neurophysiologic Monitoring นับเป็นมิติใหม่แห่งการรักษาที่มอบประสิทธิผลโดยตรงต่อผู้ป่วย เนื่องจากทำให้การรักษาได้ผลดี ลดภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วและมีคุณภาพชีวิตที่ดี นับเป็นเทคโนโลยีที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างแท้จริง ทั้งนี้ในฐานะวิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสำหรับโรคทางระบบประสาท
ที่ดูแล Intraoperative Neurophysiologic Monitoring จึงเป็นความภูมิใจในหน้าที่ ที่ได้มอบการรักษาในมาตรฐานที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วยเสมอ