วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ก่อตั้งขึ้นโดยใช้ชื่อว่า ศูนย์รักษาโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ ตั้งอยู่ที่ อาคารธนาคารกรุงเทพ ชั้น 3 เป็นสาขาเฉพาะทางด้านหนึ่งของประสาทวิทยา (Movement Disorders) ดูแลรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีปัญหาความเคลื่อนไหวผิดปกติ ด้วยวิทยาการที่ทันสมัย และต่อมาในปี พ.ศ. 2554 โรงพยาบาลได้จัดตั้งให้ศูนย์รักษาโรค
พาร์กินสันฯ เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย และปี พ.ศ. 2557 ได้ย้ายศูนย์พาร์กินสันฯ มาทำการ ที่อาคาร ส.ธ. ชั้น 7 และชั้น 12
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ เป็นผู้นำทางด้านบริการ โดยในปัจจุบันเปิดให้บริการการรักษา ได้แก่ คลินิกโรคพาร์กินสัน คลินิกพาร์กินสันที่มีอาการซับซ้อน คลินิกพาร์กินสันเทียมและกลุ่มการเคลื่อนไหวผิดปกติอื่น ๆ คลินิกฉีดยาลดเกร็ง คลินิกเดินดี คลินิกพาร์กินสันแจ่มใส คลินิกไฟฟ้าวินิจฉัยกล้ามเนื้อ และคลินิกปรับสภาพบ้านสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน ส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุดและผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเป็นองค์รวมในทุก ๆ ด้าน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำด้านวิชาการการแพทย์ เปิดอบรมให้ความรู้แก่แพทย์ ในสาขาวิชาย่อยโรคพารกินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ และเป็นหน่วยงานแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้มีการเปิดหลักสูตรอบรม แพทย์ประจำบ้านต่อยอดในสาขาโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ (Fellowship in Parkinson’s disease and Movement Disorders) โดยปัจจุบันได้มีแพทย์ประจำบ้านต่อยอดที่ผ่านการอบรมแล้วกว่า 10 รุ่น อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านการวิจัย ดำเนินการศึกษาวิจัยทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างเพื่อให้ได้องค์ความรู้ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วย และพัฒนาองค์ความรู้อย่างสม่ำเสมอให้มีความถูกต้องและเหมาะสม
และนอกจากนี้ ยังมีโครงการอบรมให้ความรู้ทางการพยาบาลผู้ป่วยพาร์กินสัน โดยพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคพาร์กินสัน เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบในการดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน สำหรับพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และนวัตกรรมทางการพยาบาลผู้ป่วยพาร์กินสัน และครอบครัวอย่างครอบคลุม โดยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2559
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และได้รับทุนสนับสนุนการทําวิจัยจากงบประมาณแผ่นดิน ผ่านทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจํานวนมากจากทั้งภายนอกและภายในสถาบัน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช งบประมาณจากกระทรวงพัฒนาสังคมผู้สูงอายุ ในการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมาประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยและผู้ดูแลได้รับการดูแลรักษาด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ทันสมัย ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น รวมทั้งสังคมเข้าใจโรคพาร์กินสัน อาการแสดงของโรคมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยพาร์กินสันสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติ ในปัจจุบันศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ มีบุคลากรเฉพาะทางจำนวนทั้งสิ้น 26 ท่าน โดยทีมพาร์กินสัน ประกอบด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาลเฉพาะด้าน นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ในด้านต่าง ๆ ซึ่งทุกคนล้วนมีบทบาทเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของศูนย์พาร์กินสัน นั่นคือ เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อการบริการที่คลอบคลุมทั้งด้านการรักษาที่ทันสมัย และครบวงจร
พันธกิจ
การให้บริการวินิจฉัย รักษา และดูแลผู้ป่วยพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติแบบองค์รวม ด้วยความรู้และวิทยาการที่ทันสมัยโดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว การเป็นผู้ริเริ่ม ผู้นำและพัฒนาการเรียนการสอนการวิจัยทางด้านโรคพาร์กินสันและ กลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ในระดับประเทศและนานาชาติ เป็นผู้คิดค้น วิจัยและพัฒนานวัตกรรมทาง ด้านโรคพาร์กินสันและกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติ ในระดับประเทศและนานาชาติ เป็นศูนย์ที่ดำเนินงานด้วยความ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ เอื้ออาทร และมีคุณธรรม จริยธรรม
เจตจำนง
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เป็นศูนย์ต้นแบบในการดูแล รักษา ค้นคว้าวิจัยโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องแบบองค์รวมพร้อมด้วยนวัตกรรมในระดับประเทศ
และนานาชาติ
ภาระหน้าที่
- การให้บริการวินิจฉัย รักษา และดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน และกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติแบบองค์รวม ด้วยความรู้และวิทยาการที่ทันสมัยโดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว
- การเป็นผู้ริเริ่ม ผู้นำ และพัฒนาการเรียน การสอน การวิจัย ทางด้านโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ ให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในระดับประเทศและนานาชาติ
- เป็นผู้คิดค้น วิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ ในระดับประเทศและนานาชาติ
- เป็นศูนย์ที่ดำเนินงานด้วยความ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ เอื้ออาทร และมีคุณธรรมจริยธรรม
ภารกิจที่หน่วยงานสนับสนุน
- จัดตั้งคลินิกเฉพาะทางโรคพาร์กินสันและกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติ ให้บริการที่ อาคาร สธ ชั้น 12 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งสามารถให้การรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันและโรคที่เกี่ยว ข้องในทุกระยะอาการด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- ริเริ่มการรักษาโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติด้วยการผ่า ตัดแบบฝังสายอิเล็กโตรด หรือที่เรียกว่า Deep Brain Stimulation (DBS) ด้วยเทคนิคใหม่ ไม่ต้องใส่กรอบศีรษะ (Frameless DBS) ซึ่งจัดเป็นที่แห่งแรกในเอเซียที่สามารถทำการผ่าตัดได้ด้วยวิธีนี้
- จัดให้มีการเรียนการสอนในโรคพาร์กินสันและกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติให้กับ แพทย์ประจำบ้าน นิสิตแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจทั้งภายในและภายนอกสภาบัน
- ส่งเสริมการวิจัยอย่างต่อเนื่องในโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหว ผิดปกติ เช่น การวิจัยที่เกี่ยวกับการรักษาโรคพาร์กินสันด้วยตัวยาใหม่ๆ ในผู้ป่วยคนไทย การวิจัยเกี่ยวกับอุปกรณ์ช่วยเดิน สำหรับผู้ป่วยพาร์กินสันเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันและกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติให้กับผู้ ป่วย ญาติ ผู้ดูแลผู้ป่วยและประชาชน ผู้ที่สนใจทั่วไป
งานบริการของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ แบ่งเป็นคลินิกต่าง ๆ ดังนี้
1. คลินิกพาร์กินสัน
ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน โดยแพทย์เฉพาะทางและพยาบาลผู้เชี่ยวชาญโรคพาร์กินสันอย่างครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยวิทยาการ เครื่องมือทางการแพทย์ นวัตกรรมทางการแพทย์และทางการพยาบาลที่ทันสมัย การดูแลรักษาที่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพทั้งผู้ป่วยและครอบครัวอย่างทันท่วงที
2. คลินิกฉีดยาลดเกร็ง
เป็นคลินิกฉีดยาโบทูลินั่มท๊อกซิน เพื่อการรักษาโรคดิสโทเนียหรืออาการบิดเกร็งที่ไม่สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาและมีอาการซับซ้อน โดยมีการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (EMG injection) และอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ในการเพิ่มความแม่นยำของการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อเพื่อประสิทธิภาพการรักษาขั้นสูงสุด
3. คลินิกพาร์กินสันเทียมและกลุ่มการเคลื่อนไหวผิดปกติอื่น ๆ
โรคพาร์กินสันเทียมซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 30 – 40 ของโรคกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกตินั้น มีอาการซับซ้อนอื่น ๆ นอกเหนือจากอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า ที่คล้ายกับโรคพาร์กินสัน เช่น อาการเดินเซ ล้มง่าย ความดันต่ำ เป็นคลินิกที่วินิจฉัยและดูแลผู้ป่วย โรคกลุ่มพาร์กินสันเทียมที่มีอาการซับซ้อนอย่างเป็นองค์รวม
4. คลินิกพันธุกรรมประสาทวิทยาทางด้านการเคลื่อนไหว
ให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษาผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคที่มีสาเหตุทางพันธุกรรม หรือ มีประวัติครอบครัวของโรคพันธุกรรม
5. คลินิกพาร์กินสันนอนดี และการเคลื่อนไหวผิดปกติช่วงกลางคืน
ให้บริการตรวจวินิจฉัยปัญหาการนอน ทั้งการเคลื่อนไหวลำบาก หรืออาการนอกเหนือจากการเคลื่อนไหว นอนไม่หลับ ฝันร้าย ละเมอเรื้อรัง มีอาการขยับร่างกายผิดปกติ ขากระตุก โรคขาอยู่ไม่สุข ขณะนอนหรือก่อนเข้านอน
6. คลินิกพาร์กินสันที่มีอาการซับซ้อน
- คลินิกผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าสมองส่วนหน้า (DBS)
- คลินิกการใช้ยาอย่างต่อเนื่องผ่านชั้นใต้ผิวหนัง (Apomorphine)
ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการของโรคพาร์กินสันรุนแรง ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยารับประทาน และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยอุปกรณ์ร่วมรักษาที่มีความทันสมัยที่จะช่วยให้ผลการรักษาโรคพาร์กินสันดียิ่งขึ้น อาทิ การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าสมองส่วนลึก การให้ยาอย่างต่อเนื่องผ่านชั้นใต้ผิวหนัง และการให้ยาอย่างต่อเนื่องผ่านลำไส้ ซึ่งการดูแลผู้ป่วยจะทำโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วยอายุรแพทย์ระบบประสาท อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร ศัลยแพทย์ระบบประสาท พยาบาลเฉพาะทางโรคพาร์กินสัน และเภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านยารักษาโรคพาร์กินสัน
7. คลินิกพาร์กินสันเดินดี
ให้บริการตรวจวินิจฉัยปัญหาการเดินและการทรงตัวที่ผิดปกติของผู้ป่วยพาร์กินสันและกลุ่มโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติอื่น ๆ ด้วยเครื่องมือวัดการเดินและการทรงตัวขั้นสูง เพื่อประเมินปัญหาการเดิน และการทรงตัวอย่างเป็นรูปธรรม การแนะนำกายภาพบำบัดเพื่อป้องกันปัญหาการหกล้มที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีปัญหาการเดินและการทรงตัว
8. คลินิกพาร์กินสันแจ่มใส
เป็นคลินิกที่มีแพทย์ 2 สาขา ได้แก่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพาร์กินสันและจิตแพทย์ผู้สูงอายุ เพื่อรักษาอาการด้านจิตใจ อารมณ์ และพุทธิปัญญา ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยและสามารถทำให้เกิดความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก โดยมีการรักษาให้คำแนะนำทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแล และครอบครัว
9. คลินิกไฟฟ้าวินิจฉัย
ตรวจวินิจฉัยการเคลื่อนไหวผิดปกติที่ไม่สามารถวินิจฉัยจากการตรวจร่างกายของแพทย์ได้ด้วยการตรวจพิเศษทางไฟฟ้าวินิจฉัย โดยใช้เทคนิคขั้นสูง เช่น การวัดอาการสั่นด้วยเครื่องมือหรือวัดการกระตุกด้วยคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นต้น เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
10. การดูแลผู้ป่วยพาร์กินสันฯ Day care
ให้บริการผู้ป่วยตลอดวันต่อเนื่อง2 สัปดาห์ ในกรณีที่ได้รับการประเมินระหว่างการได้รับยาอย่างต่อเนื่องผ่านชั้นใต้ผิวหนัง (Apomorphine)
11. คลินิกพาร์กินสันทางไกล
เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อ Covid-19 ปี 2562 จึงได้มี การตรวจและประเมินอาการพาร์กินสันอย่างต่อเนื่องผ่านเทคโนโลยีโทรเวชกรรม (Telemedicine)
ชมรมเพื่อนพาร์กินสันฯ
เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มผู้ป่วยในการเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาแบบองค์รวม ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ จึงได้จัดตั้งชมรมเพื่อนพาร์กินสันขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องโรคและอาการ รวมทั้งการดูแลตนเองทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ป่วยเองที่จะต้องอยู่ร่วมกับโรคนี้ในระยะยาวภายใต้การดูแลและสนับสนุนของศูนย์พาร์กินสัน ชมรมพาร์กินสันเป็นหน่วยอาสาสมัครที่ดำเนินงานโดยคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และนักสังคมสงเคราะห์ บนพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
จากจุดเริ่มต้นของการรวมตัวเพื่อช่วยเหลือกันในกลุ่มผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัดเฉพาะผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เท่านั้น รวมทั้งผู้ดูแลและสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยนั้น ปัจจุบันจำนวนสมาชิกชมรมเพื่อนพาร์กินสัน ที่ลงทะเบียนและกดติดตามในโซเซียลมีเดียที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นตัวบ่งชี้ถึงความตื่นตัวในเรื่องโรคพาร์กินสันในสังคมไทยที่มีมากขึ้น นอกจากนั้นงานประชุมทางวิชการประจำปีและกิจกรรมต่าง ๆ ของชมรมที่จัดขึ้นเป็นรายสัปดาห์ เช่น กายภาพบำบัด ศิลปะบำบัด นาฏกรรมบำบัด ดนตรีบำบัด อรรถบำบัด สมาธิบำบัด ฯลฯ ก็ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีส่วนช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ชมรมเพื่อนพาร์กินสันจึงมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยพาร์กินสันในสังคมไทย ผ่านนวัตกรมและเทคโนโลยีในยุคปัจุบันมาตลอด และยังคงยืนหยัดที่จะเป็นสื่อกลางเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยด้วยกัน ผู้ป่วยกับผู้ดูแล และแม้แต่ผู้ป่วยกับคนในสังคมต่อไป