นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นปีที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานเครื่องตรวจวิเคราะห์การนอนหลับจำนวน 2 เครื่อง พร้อมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการตรวจเพื่อใช้งานในฝ่ายรักษาพยาบาล ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการก่อตั้ง “ศูนย์ตรวจการนอนหลับ” อย่างเป็นทางการ โดยเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคต่าง ๆ แก่ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติจากการนอนหลับ ส่งผลให้แพทย์สามารถดำเนินการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพจากความพร้อมทางด้านเครื่องมือที่ได้รับมา อีกทั้งยังเป็นประโยชน์กับการเรียนการสอนสำหรับแพทย์ นิสิตแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ปี พ.ศ. 2553 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้มีนโยบายให้ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาระบบการบริการรักษาพยาบาลให้มีความเป็นเลิศ ครบวงจร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ อีกทั้งเป็นการตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพที่ซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับของประชาชน ในการนี้ เพื่อให้ดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านความผิดปกติจากการนอนหลับ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (Excellence Center for Sleep Disorders, King Chulalongkorn Memorial Hospital) ให้เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ปี พ.ศ. 2556 ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ขยายการให้บริการแห่งใหม่ ณ อาคารนวัตบริบาล ชั้น 5 และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านความผิดปกติจากการนอนหลับ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงขอพระกรุณาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานชื่อศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านความผิดปกติจากการนอนหลับ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงประทานชื่อศูนย์ฯ ว่า “ศูนย์นิทราเวช” มีความหมายว่า ศูนย์รักษาโรคที่เกิดจากการนอนหลับ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ศูนย์ฯ เป็นขวัญกำลังใจแก่คณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และผู้ป่วยสืบไป
ผลงานที่ภาคภูมิใจของศูนย์
- เป็นสถาบันฝึกอบรมหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอด อนุสาขาเวชศาสตร์การนอนหลับระดับประเทศ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
- เป็นสถาบันฝึกอบรมหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอด อนุสาขาเวชศาสตร์การนอนหลับระดับนานาชาติ เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
- เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอด อนุสาขาอายุรศาสตร์การนอนหลับ ร่วมกับสาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ แห่งประเทศไทย และสมาคมนิทราเวชศาสตร์ ระยะเวลาการฝึกอบรม 2 ปี เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา
- ศูนย์นิทราเวชผ่านการรับรองคุณภาพศูนย์ตรวจการนอนหลับ โดยสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2558 และปี พ.ศ. 2566
- นำเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกและอุปกรณ์ประกอบเข้าสู่ระบบเวชภัณฑ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สำเร็จ ในปี พ.ศ. 2559 ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกได้รวดเร็วขึ้น ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและสามารถซื้อเครื่องได้ในราคาที่ถูกลง
- จัดงานนิทรรศการ CU World Sleep Day รวมทั้งจัดงานเสวนาให้ความรู้ประชาชน “เรื่องการนอนหลับ” ต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
พันธกิจ
ให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยโรคและให้การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนหลับอย่างครบวงจร
เจตจำนง
พัฒนาคุณภาพการบริการและการวิจัย เสริมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ เพื่อความก้าวไกลในระดับนานาชาติ
ภาระหน้าที่
- เป็นศูนย์ความเป็นเลิศที่มีขีดความสามารถในการให้บริการ การวิจัย สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ที่เป็นแหล่งอ้างอิงได้ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
- มีศักยภาพในการผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านความผิดปกติจากการนอนหลับ เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
- มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์
บริการทางการแพทย์
- คลินิกโรคความผิดปกติจากการหลับ (Sleep Disorders Clinic) พบแพทย์เฉพาะทางเพื่อปรึกษาปัญหาการนอนหลับ ตรวจวินิจฉัยและติดตามอาการหลังการรักษา
- ห้องปฏิบัติการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography or Sleep test) ให้บริการตรวจการนอนหลับตามคำสั่งแพทย์
- คลินิกเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (PAP Clinic) ดาวน์โหลดข้อมูลการใช้งานเครื่องตามคำสั่งแพทย์ ตลอดจนการแนะนำการใช้งานเบื้องต้น การทดลองเครื่อง การขอซื้อเครื่อง
- คลินิกบำบัดความคิดและพฤติกรรมสำหรับโรคนอนไม่หลับ (CBT-I Clinic) ให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนไม่หลับด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม