นับตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาระบบการบริการรักษาพยาบาลให้มีความเป็นเลิศ ครบวงจร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ และตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนที่ซับซ้อนมากขึ้น
นอกจากงานด้านบริการส่องกล้องที่เป็นเลิศ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยังตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้ให้ความรู้ทางการแพทย์แก่ผู้คนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือประชาชนทั่วไป โดยทางศูนย์ฯ มีการจัดโครงการอบรมสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหาร และพยาบาลห้องส่องกล้อง ทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ 3 โครงการ คือ
- IBAT (International 1-month Basic EUS-ERCP Training Course Endoscopy by APSDE and TAGE project)
- CESCO (Chula Endoscopy Short Course)
- หลักสูตรอบรมระยะเวลา 6 เดือน สำหรับแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารขั้นสูง (6-month Advance EUS-ERCP Training Course) ซึ่งมีแพทย์ระดับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และแพทย์ต่างชาติผ่านการอบรมมาแล้วเป็นจำนวนมาก
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยังมีการจัดงานประชุมสำหรับแพทย์และพยาบาล ในระดับนานาชาติ เช่น 21st International Symposium on Endoscopic Ultrasonography (EUS2018) ที่เพิ่งผ่านไป
นอกจากนี้ ยังรวมถึงจัดโครงการให้ความรู้ทางวิชาการในระดับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ที่ถูกต้อง เช่น “โครงการเสวนาให้ความรู้โรคระบบทางเดินอาหารเพื่อประชาชน” ซึ่งจัดมาแล้ว 6 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ตลอดจนเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านโรคระบบทางเดินอาหาร โดยมีแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเข้าฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง
เจตจำนง
ศูนย์การส่องกล้องทางเดินอาหารแห่งชาติในระดับโลกที่สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาศาสตร์ทางด้านการส่องกล้องให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
ภาระหน้าที่
- บริการรักษาพยาบาลดูแล บริการด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารแก่ผู้ป่วย และที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ชั้นสูง โดยความร่วมมือจากสหสาขาวิชาชีพ เพื่อมุ่งเน้นศักยภาพในการดูแล บริการผู้ป่วยส่องกล้องระบบทางเดินอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือมากกว่า
- บริการงานอบรม การเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา และหลักสูตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
- ดำเนินการวิจัยด้านส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร และผลงานวิจัยได้รับการยอมรับในวงวิชาการให้นำเสนอในวารสารระดับนานาชาติ
- พัฒนานวัตกรรม และนำมาใช้ยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาล
- ดำเนินงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ปัจจุบันมี รศ.นพ.ประเดิมชัย คงคำ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ฯ นอกจากนี้ยังมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารท่านอื่น ๆ ดังนี้
รศ.นพ.ประเดิมชัย คงคำ
ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร
ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์
ผศ.(พิเศษ)พญ.ฐนิสา พัชรตระกูล
รศ.พญ.วิริยาพร ฤทธิทิศ
ผศ.นพ.พรเทพ อังศุวัชรากร
รศ.พญ.รภัส พิทยานนท์
รศ.(พิเศษ)พญ.สติมัย อนิวรรณ
ผศ.(พิเศษ)นพ.ปิยะพันธ์ พฤกษพานิช
ผศ.นพ.ภาฤทธิ์ เมฆอรุณกมล
อ.นพ.ธนวัฒน์ เหลืองสุขฤกษ์
อ.พญ.ปัญญวีร์ ปิติสุทธิธรรม
อ.พญ.เกศินี เธียรกานนท์
ผศ.นพ.สหดล ปุญญถาวร
ภาควิชาวิสัญญี
อ.พญ.วรนุช จงศรีสวัสดิ์
อ.นพ.สิทธิโชค ประจวบธัญชาติ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
การให้บริการของศูนย์
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดให้บริการต่าง ๆ ดังนี้
1. การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (gastroscopy)
เป็นการส่องกล้องตรวจตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น และบริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเลือดออกในระบบทางเดินอาหารฉับพลัน ด้วยการส่องกล้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
2. การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนล่าง (colonoscopy)
เป็นการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ จากทวารหนักจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้น เพื่อบริการรักษาผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่ และตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
3. การส่องกล้องทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography: ERCP)
เป็นการส่องกล้องตรวจและรักษาโรคระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อน
4. การส่องกล้องอัลตราซาวด์ (endoscopic ultrasonography: EUS)
เป็นการส่องกล้องตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อน และรอยโรคใต้ชั้นผิวในระบบทางเดินอาหาร
5. การส่องกล้องลำไส้เล็กด้วยกล้องลูกโป่งคู่ (double balloon endoscopy: DBE)
เป็นการส่องกล้องตรวจลำไส้เล็ก และการตรวจลำไส้เล็กด้วยการกลืนกล้องแคปซูล (video capsule endoscopy)
6. การตรวจตับด้วยไฟโบรสแกน (fibroscan)
เพื่อวัดปริมาณไขมันและพังผืดในตับ
7. การตรวจการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร และการตรวจวัดระดับกรดในหลอดอาหาร
นอกจากนี้ยังมีหัตถการพิเศษอย่างอื่น นอกเหนือจากที่กล่าวมา เช่น POEM, ESD, Laser lithotripsy เป็นต้น โดยมีการให้บริการทั้งในและนอกเวลาราชการ และมีจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการเพิ่มมากขึ้นมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา