โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ศูนย์ประสาทศาสตร์

Chula Neuroscience Center

เทคโนโลยีทันสมัย ใส่ใจผู้ป่วย ดูแลครบวงจร

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดตั้ง ศูนย์ประสาทศาสตร์ (Chula Neuroscience Center) เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561 โดยเป็นศูนย์รวมบุคลากรสหสาขาวิชาชีพแพทย์ การวิจัย และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อสร้างประโยชน์แก่ผู้ป่วยและวงการแพทย์ระบบประสาทของไทย ประกอบด้วยสหสาขาวิชาชีพแพทย์ เช่น ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ ประสาทกายวิภาคศาสตร์ จักษุประสาท ประสาทศาสตร์ โสตประสาทวิทยา กุมารเวชประสาทวิทยา เวชศาสตร์ฟื้นฟู รังสีวิทยาด้านระบบประสาท เภสัชวิทยา พยาธิวิทยา และสรีรวิทยา


ศูนย์ประสาทศาสตร์ จึงถือได้ว่าเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์แห่งแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่รวบรวมเอาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางระบบประสาททั้งระบบมาบูรณาการ ทำงานร่วมกัน ซึ่งมีการเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์ฯ ต่าง ๆ อาทิ ศูนย์ฯ โรคลมชัก ศูนย์ฯ โรคพาร์กินสัน และศูนย์ฯ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

รางวัลที่ภาคภูมิใจของศูนย์

รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2563 ประเภทพัฒนาบริการ ระดับดี
ผลงาน “คลินิกระบบประสาททางไกล (Teleneurology Clinic)”  โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

พันธกิจ

พัฒนาและให้บริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคทางระบบประสาท ครอบคลุมถึงการคัดครอง ป้องกัน วินิจฉัย รักษา และฟื้นฟู โดยมีรูปแบบการดำเนินการแบบสหสาขา ที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เบ็ดเสร็จ และครบวงจร โดยพัฒนาให้เกิดบริการรูปแบบใหม่ ที่แตกต่างจากที่เคยมีในสถานบริการอื่น

เจตจำนง

เป็นศูนย์ประสาทศาสตร์ในระดับภูมิภาค ที่มีการรวมตัวของบุคลากรสหสาขาวิชาชีพและมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างครบวงจร

ภาระหน้าที่

  1. ประยุกต์ความรู้ทางประสาทวิทยาศาสตร์เพื่อบริการทางคลินิก
  2. พัฒนารูปแบบวิธีการป้องกัน การดูแลรักษา และการฟื้นฟูผู้ป่วยทางระบบประสาท
  3. ผลิตบัณฑิตและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความชำนาญทั้งด้านประสาทวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และประสาทวิทยาศาสตร์คลินิก
  4. พัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงประสาทวิทยาศาสตร์กับศาสตร์สาขาอื่น ๆ เพื่อประยุกต์ความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ในวงกว้าง ทั้งระดับชาติ และนานาชาติ
  5.  ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม

ภารกิจที่หน่วยงานสนับสนุน

  1. คลินิกตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
  2. คลินิกตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม
  3. คลินิกตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน
  4. คลินิกประสาทจักษุ
  5. คลินิกประสาทพันธุศาสตร์
  6. คลินิกประสาทสรีรวิทยา
  7. คลินิกระบบประสาททางไกล
  8. คลินิกสมองอักเสบ
  9. คลินิกโสตประสาทและการทรงตัว
  10. คลินิกตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
  11. คลินิกประเมินสมรรถภาพสมองและวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมเชิงลึก

การให้บริการของศูนย์

การดำเนินงานของศูนย์ประสาทศาสตร์ภายใต้แนวคิดการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม เน้นการทำงานเชิงลึกที่มุ่งทำการศึกษาวิจัยและรวบรวมอุปกรณ์การแพทย์ทางระบบประสาทที่ทันสมัยควบคู่ไปกับการทำงานเชิงกว้าง ซึ่งมีการจัดโปรแกรมการตรวจคัดกรองโรคทางระบบประสาทเบื้องต้น (Screening Package) สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง และ โรคพาร์กินสัน โดยแพทย์จะให้คำปรึกษาและแนะนำถึงการป้องกันและการรักษาอย่างถูกวิธี รวมไปถึงการดูแลรักษาในผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทที่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงที่ทันสมัยมาใช้ ซึ่งมีทั้งการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศและการใช้นวัตกรรมที่พัฒนาโดยบุคลากรภายในมาใช้ อาทิ

1. เครื่อง Functional Near-Infrared Spectroscopy (fNIRS)     

ซึ่งเป็นเครื่องตรวจการทำงานของสมองโดยใช้หลักการดูดซับแสงใกล้อินฟราเรด (Near Infrared) ที่สามารถตรวจประเมินการทำงานของสมองได้แบบ Real Time ซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการใช้เครื่องมือนี้

2. เครื่องตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Vascular USG)

สามารถตรวจวัด ประมวลผลและติดตามความเร็วของเลือดในหลอดเลือดสมองตามจุดต่าง ๆและสามารถตรวจหาลิ่มเลือด (Emboli Detection)

3. เครื่องตรวจวิเคราะห์จอประสาทตาและขั้วประสาทตาด้วยเลเซอร์

สแกน (Optic Coherence Tomography Angiography – OCTA)  ที่สามารถวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดที่เกี่ยวกับประสาทตาได้โดยใช้เวลาการตรวจเพียง 5 นาที

4. เครื่องตรวจประเมินพร้อมฟื้นฟูการเวียนศีรษะและการทรงตัว (Posturography)

ใช้ตรวจแยกปัญหาการเวียนศีรษะและการทรงตัวผ่านคอมพิวเตอร์ Sensory Organization Test, Motor Control Test, Adaptation Test และฟื้นฟูระบบการทรงตัว ด้าน Mobility, Closed Chain, Weight Shifting, Quick Training, Visual 

5. เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS: Transcranial Magnetic Stimulation)

ซึ่งเป็นเครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยสนามแม่เหล็ก ชนิดความถี่สูง แบบไม่รุกล้ำ (Non-Invasive) สามารถทำการตุ้น ด้วยเทคนิค Theta Burst Stimulation, Repetitive Stimulation และ Single paired pulse stimulation ได้ รวมถึงมีระบบการนำวิถีบริเวณสมอง (brain navigation) และวัดการตอบสนองของสัญญาณไฟฟ้าเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ

6. เครื่องตรวจติดตามคลื่นไฟฟ้าสมองขณะเคลื่อนที่และวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography)

ใช้สำหรับการตรวจวัดสัญญานไฟฟ้าสมอง โดยการทำงานของอุปกรณ์จะรับสัญญานไฟฟ้าจากเซลล์ประสาทที่ส่งออกมาถึงบริเวณหนังศีรษะและไหลผ่านเข้าที่ตัวหัวรับสัญญาณ (electrode) โดยสัญญานไฟฟ้าที่ได้รับมานั้นสามารถนำไปวิเคราะห์แยกแยะการทำงานของสมองในตำแหน่งที่ต่างกัน ใช้ในการศึกษาหรือช่วยในการวินิจฉัยโรคได้

นอกจากนี้ ภายในศูนย์ประสาทศาสตร์ยังมีห้องปฏิบัติการวิศวกรรมการแพทย์ (Biomedical Engineering Room) เพื่อรองรับการคิดค้นวิจัยทุกรูปแบบ และใช้ระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท เพื่อลดภาระของผู้ป่วยและญาติในการเดินทางมาโรงพยาบาล โดยมี “คลินิกระบบประสาททางไกล” (Teleneurology clinic)  เป็นคลินิกต้นแบบ

อาคาร ส.ธ. ชั้น 11

วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ศูนย์ประสาทศาสตร์

 

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4000 ต่อ 71105

 

ช่องทางการติดต่ออื่น ๆ

https://www.facebook.com/chulaneurosciencecenter

บทความที่เกี่ยวข้อง

บรรยากาศงานเสวนา”อยากปลูกถ่ายไต…ไม่ใช่เรื่องยาก”

ฝ่ายอายุรศาสตร์ และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดงานเสวนา ภายใต้หัวข้อ "อยากปลูกถ่ายไต…ไม่ใช่เรื่องยาก”

“งานครบรอบ 30 ปี คลินิกวัยทอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย”

เผยแพร่ผลงานและความก้าวหน้าในด้านการรักษาทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีกิจกรรมเสวนาเนื่องใน “วันวัยทองสากล” และ “วันโรคกระดูกพรุนโลก”

การประชุมวิชาการ The 4th Chula Acute Kidney Injury and Blood Purification ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไต รพ.จุฬาลงกรณ์

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดการประชุมวิชาการ The 4th Chula Acute Kidney Injury and Blood Purification Symposium 2023 ครั้งที่ 4

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์