ฝ่ายเวชระเบียนและสถิติ เป็นหน่วยงานสนับสนุนทางการแพทย์ของ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีประวัติความเป็นมา ดังนี้
พ.ศ. 2482 ได้เริ่มจัดตั้งเป็นหน่วยงาน ชื่อหมวดสถิติ เก็บประวัติผู้ป่วยเข้าแฟ้ม แยกเป็นกลุ่มโรค ลงชื่อโรคไว้หน้าแฟ้ม เรียงลำดับเลขที่ภายใน ลงทะเบียนผู้ป่วยที่ถึงแก่กรรมโดยขึ้นกับ แผนกพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
พ.ศ. 2497 เริ่มมีการใช้หนังสือ International Classification of Diseases (ICD ) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประกอบในการจัดเก็บประวัติผู้ป่วย ลงรหัสตามระบบใหม่ (17 ระบบ) ส่วนวิธีการเก็บประวัติยังคงเป็นแบบเดิม
พ.ศ. 2500 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลก เล็งเห็นความสำคัญของงานเวชระเบียน จึงได้จัดทำระบบเวชระเบียนตามหลักสากลขึ้น โดยวางรูปแบบมาตรฐานขึ้นใช้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ และต่างจังหวัด ระบบดังกล่าวมีดังนี้
- จัดให้มีหน่วยงานหนึ่งรับผิดชอบงานเวชระเบียนและสถิติ
- จัดทำดัชนี
- จัดทำสถิติด้วยเครื่องจักรกล
- จัดทำรายงานประจำปี
พ.ศ. 2505 ปริมาณผู้ป่วยในเพิ่มมากขึ้น งานด้านทะเบียนและสถิติผู้ป่วยจึงได้ขยายและพัฒนาระบบงานเรื่อย ๆ เริ่มจากการลงรหัสโรคตามหนังสือ ICD Detailed List Numbers มีการใช้เครื่องเจาะบัตรบันทึก-ข้อมูล นำไปประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยมีนักสถิติของโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ประชุมและเขียนโปรแกรมร่วมกัน มีเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์จากสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นที่ปรึกษาในการทำการปรับปรุงข้อมูลและตารางสถิติด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อออกรายงานสถิติประจำปี
พ.ศ. 2508 ได้จัดทำหนังสือ Statistical Report เล่มแรก รายงานข้อมูลต่าง ๆ ในเรื่องสถิติโรค สถิติการคลอด เด็กแรกเกิด การผ่าตัด อุบัติเหตุ และผู้ป่วยถึงแก่กรรม ฯลฯ และได้จัดเสนอข้อมูลดังกล่าวทุกปีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2520 หน่วยสถิติได้รับบริจาคเครื่องถ่ายไมโครฟิล์มพร้อมเครื่องอ่าน และอัดสำเนาจากคุณหญิงระเบียบ คุณะเกษม เป็นเครื่องแรก นำมาใช้ในการถ่ายประวัติเก่าที่เก็บไว้นานเกิน 10 ปี เพื่อเป็นหลักฐาน และเพื่อการศึกษา ค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ ก่อนจะนำประวัติไปทำลาย
พ.ศ. 2523 คณะกรรมการเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย ได้อนุมัติให้เลื่อนฐานะหมวดสถิติเป็นแผนกเวชระเบียนและสถิติ โดยมีนายแพทย์สมพร สาระยา เป็นหัวหน้าแผนก ได้มีการปรับปรุงและขยายระบบการปฏิบัติงานให้ทันสมัยก้าวหน้ายิ่งขึ้น มีการเปลี่ยนการบันทึกข้อมูลจากการเจาะบัตรเป็นการบันทึกข้อมูลลงในแผ่น Diskette (Key to diskette) และประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อจัดทำหนังสือ Statistical Report ประจำปี และปลายปีได้มีการอนุมัติให้ซ่อมแซมและตกแต่งตึกผ่าตัดเก่า (OR.ใหญ่) เป็นสถานที่แห่งใหม่ของแผนกเวชระเบียนและสถิติ
พ.ศ. 2526 ได้เครื่องถ่ายไมโครฟิล์ม พร้อมเครื่องอ่านและอัดสำเนา เพิ่มอีก 2 เครื่อง จากงบประมาณประจำปี
พ.ศ. 2529 แผนกเวชระเบียนและสถิติ เริ่มมีการใช้เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นเครื่องแรก
พ.ศ. 2535 มีเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ทั้งหมด 7 เครื่อง โดยได้จากเงินงบประมาณ 6 เครื่อง และได้รับบริจาคจากบริษัท สุราทิพย์ศรีอรุณ จำกัด จำนวน 1 เครื่อง และได้รับบริจาคเครื่องถ่ายเอกสาร CANON NP2020 จำนวน 1 เครื่อง เพื่อใช้ในกิจการของแผนกอีกด้วย
พ.ศ. 2541 ได้เปลี่ยนจากแผนกเวชระเบียนและสถิติ เป็นฝ่ายเวชระเบียนและสถิติ
พ.ศ. 2544 เริ่มมีการจัดเก็บเวชระเบียนผู้ป่วยในด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดพื้นที่ในการจัดเก็บและสะดวกในการค้นหาแฟ้มเวชระเบียนผู้ป่วยใน ซึ่งมีปริมาณจำนวนของเวชระเบียนที่ตกค้างเป็นจำนวนมาก
พ.ศ. 2548 จัดทำโครงการจัดจ้างบุคลากรภายนอกทำงาน เพื่อเร่งรัดการจัดเก็บเวชระเบียนผู้ป่วยในด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเวลา 6 ปี
พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน ฝ่ายเวชระเบียนและสถิติ ดำเนินการจัดเก็บเอกสารเวชระเบียนผู้ป่วยในด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เองโดยใช้เจ้าหน้าที่ในฝ่าย
ฝ่ายเวชระเบียนและสถิติ มีบุคลากรปฏิบัติงานทั้งสิ้นจำนวน 29 คน เป็นเจ้าหน้าที่สังกัดสภากาชาดไทย 26 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ธุรการ (ชั่วคราว) จำนวน 3 คน
รางวัลและความภาคภูมิใจของฝ่าย
- ได้รับเกรียติเข้าร่วมเสนอผลงานในงานมหกรรมคุณภาพภาคราชการและโรงพยาบาล ประจำปี 2546
- ได้รับรางวัลดีเด่น ด้านมุ่งมั่น การประกวดกิจกรรม 5 ส. ประเภททั่วไป ประจำปี 2549
- เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มพัฒนาคุณภาพ (CQI) หน่วยงานสนับสนุน ประจำปี 2552
- ได้รับรางวัลผลงานพัฒนาคุณภาพบริการด้วยแนวคิด Lean ประเภท ชมเชย ในงาน Quality Market ครั้งที่ 3 ปี 2553
- ได้รับรางวัล SILVER AWARD ในการตัดสินผลงานพัฒนาคุณภาพบริการด้วยแนวคิด Lean ประจำปี 2555 – 2556
- เข้าร่วมทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพบริการด้วยแนวคิด Lean ประจำปี 2561
เจตจำนง
ถูกต้อง ครบถ้วน รวดเร็ว
ภาระหน้าที่
- รวบรวมและจัดเก็บเวชระเบียนผู้ป่วยในให้ครบถ้วน ถูกต้อง และทันเวลา
- ลงรหัสและตรวจสอบข้อมูลเวชระเบียนผู้ป่วยในให้ครบถ้วน ถูกต้อง และทันเวลา
- จัดเก็บเวชระเบียนผู้ป่วยในทุกรายด้วยเครื่องจัดเก็บอิเล็กทรอนิกส์
- ให้บริการเวชระเบียนผู้ป่วยใน และข้อมูลทางการแพทย์ให้ครบถ้วน ถูกต้อง และทันเวลา
- จัดทำรายงานสถิติทางการแพทย์
โครงสร้างของฝ่ายเวชระเบียนและสถิติ
ฝ่ายเวชระเบียนและสถิติ แบ่งเป็น
1. งานบริการเวชระเบียน/ข้อมูลสถิติ จัดเก็บและธุรการ
- รวบรวม/จัดเก็บเวชระเบียนผู้ป่วยใน
- บริการเวชระเบียน
- บันทึกและประมวลผลข้อมูล
- จัดทำรายงานสถิติต่าง ๆ
- บริการข้อมูลสถิติทางการแพทย์
- ธุรการ
2. งานลงรหัสและตรวจสอบข้อมูล
- ลงรหัส ตรวจสอบข้อมูลในเวชระเบียน
- จัดทำ RCA ที่แพทย์ลงรหัสไม่ถูกต้อง/ครบถ้วน
- อุทธรณ์ผลการตรวจสอบจากต้นสังกัด
3. งานสแกน
- จัดเตรียมเวชระเบียน
- สแกนเวชระเบียน
- บริการเวชระเบียนในรูป CD
การให้บริการของฝ่ายเวชระเบียนและสถิติ
- บริการเล่มเวชระเบียนผู้ป่วยใน
- บริการข้อมูลเวชระเบียนผู้ป่วยใน ในรูปแบบ CD
- บริการข้อมูลสถิติทางการแพทย์และสถิติต่าง ๆ