หน่วยผิวหนังได้เริ่มก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2490 เป็นหน่วยหนึ่งในแผนกอายุรศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นโรคผิวหนังยังไม่แยก เป็นระบบวิชาแต่ยังรวมอยู่กับแผนกอายุรศาสตร์ เนื่องจากยังไม่มีอาจารย์ทางโรคผิวหนังโดยเฉพาะ แต่มีอาจารย์อาวุโส 2 ท่านคือ อาจารย์นายแพทย์หลวงประกิตเวชศักดิ์ และอาจารย์นายแพทย์ อภัย ชมุนี มาช่วยออกตรวจผู้ป่วยโรคผิวหนัง ต่อมาในปีพ.ศ. 2495 นายแพทย์อำนวย วิภากุล ได้เป็นอาจารย์ในแผนก อายุรศาสตร์ และได้ร่วมตรวจและรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังที่แผนกผู้ป่วยนอก อาคารจักรพงษ์ กับอาจารย์นายแพทย์หลวงประกิตเวชศักดิ์ และอาจารย์นายแพทย์ อภัย ชมุนี
ปี พ.ศ. 2496 นายแพทย์สุนิตย์ เจิมสิริวัฒน์ ซึ่งจบเฉพาะทางผิวหนัง จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ย้ายจากโรงพยาบาลบางรัก เพื่อมาเป็นอาจารย์ประจำแผนกอายุรศาสตร์และออกตรวจโรคผิวหนัง อีกทั้งได้เริ่มเปิดสอนวิชาโรคผิวหนังแก่แพทย์ประจำบ้านและนิสิตแพทย์ ของแผนกอายุรศาสตร์ ทำให้แผนกอายุรศาสตร์ได้เปิดคลินิก ตรวจรักษาโรคผิวหนัง และกามโรคอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรกในห้องใต้บันได แผนกผู้ป่วยนอกสูตินารี
ปี พ.ศ. 2510 ได้มีห้องตรวจรักษาโรคผิวหนังที่อาคารตรวจผู้ป่วยนอก อาคารจักรพงษ์
ปี พ.ศ. 2516 ได้ตั้งเป็นหน่วยโรคผิวหนัง แผนกอายุรศาสตร์ มีที่ทำการอยู่ที่อาคารอายุรศาสตร์ ชั้นล่าง ประกอบด้วยห้องพักแพทย์ 2 ห้อง และได้เปิดห้องปฏิบัติการโรคผิวหนัง 1 ห้อง สำหรับตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจพยาธิสภาพเพื่อการวินิจฉัยโรค และให้นิสิตแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน ได้มาศึกษาพยาธิวิทยาผิวหนัง โดยมีอาจารย์นายแพทย์ขจร ประนิช แผนกจุลชีวะมาร่วมสอนด้วย อาจารย์ทั้ง 3 ท่านได้ร่วมกันปรับปรุงระบบ การเรียนการสอน ให้ดีขึ้นและได้รับอาจารย์แพทย์ เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ พยาบาล เพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา
ปี พ.ศ. 2525 ได้ย้ายหน่วยไปอยู่ที่อาคารอายุรศาสตร์ ชั้น 2 และเปลี่ยนชื่อ หน่วยโรคผิวหนังเป็นสาขาวิชาตจวิทยา มีอาจารย์เพิ่มขึ้นอีกหลายท่าน ซึ่งทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานเท่าเทียมกับต่างประเทศ
ปี พ.ศ. 2532 ได้ย้ายห้องตรวจโรคผิวหนังทั้งหมดไปอยู่ที่อาคาร ภปร ชั้น 2 ซึ่งเป็นอาคารที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้สร้างขึ้นใหม่ มีห้องตรวจรักษา 15 ห้อง ห้องปฏิบัติการ 1 ห้อง ห้องเลเซอร์ 3 ห้อง ห้องฉายรังสี 1 ห้อง ห้องหัตถการ 1 ห้อง และห้องสมุด 1 ห้อง
ปี พ.ศ. 2535 หน่วยได้จัดตั้งศูนย์เลเซอร์ผิวหนังขึ้น และเปิดบริการผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก อาคาร ภปร ชั้น 2 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 09.00 – 12.00 น. ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 มีผู้ป่วยมารับบริการมากขึ้น จึงขอเปิดบริการเพิ่มขึ้นในช่วงบ่ายเพิ่มมากขึ้น
ปี พ.ศ. 2542 – 2552 หน่วยผิวหนังได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่อาคารจิระประวัติ สันติวันและสิงหเสนีย์ ชั้น 2 ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการ 1 ห้อง ห้องตรวจผู้ป่วย 1 ห้อง ห้องเรียน 1 ห้อง ห้องพักแพทย์ประจำบ้าน 1 ห้อง และห้องพักอาจารย์ 5 ห้อง มีอาจารย์ประจำ 5 คน และเจ้าหน้าที่ 4 คน
ปี พ.ศ. 2546 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2546 หน่วยผิวหนังได้เปิดคลินิกผู้ป่วยเฉพาะโรค ที่อาคาร ภปร ชั้น 2 เพิ่มอีก 2 คลินิก คือ คลินิกโรคผิวหนังเหตุอาชีพและสิ่งแวดล้อม เปิดบริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 13.00 – 16.00 น. และคลินิกโรคสะเก็ดเงิน เปิดบริการทุกวันจันทร์ เวลา 13.00 – 16.00 น. โดยมี ร.ศ.พ.ญ.พรทิพย์ หุยประเสริฐ เป็นที่ปรึกษา
ปี พ.ศ. 2551 หน่วยผิวหนังได้เปิดคลินิกโรคผมและหนังศีรษะ ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552 ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 16.00 น. โดยมี ศ.นพ.ประวิตร
อัศวานนท์ เป็นที่ปรึกษา จากนั้นได้มีการเปิดคลินิกเฉพาะโรคอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับลักษณะของโรคที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นที่ฝึกอบรมของแพทย์ประจำบ้านในหลักสูตร ได้แก่
- คลินิกผิวหนังทั่วไป
- คลินิกผิวหนังเรื้อรัง
- คลินิกผิวหนังแพ้ยารุนแรง
- คลินิกผิวหนังภูมิคุ้มกัน
- คลินิกผิวหนังเหตุจากอาชีพและสิ่งแวดล้อม
- คลินิกเลเซอร์
- คลินิกเนื้องอกผิวหนัง
- คลินิกโรคผมและหนังศีรษะ
- คลินิกโรคผิวหนังของต่อมไขมัน
- คลินิกผิวหนังสะเก็ดเงิน
- คลินิกข้อสะเก็ดเงิน
- คลินิกโรคทางเมตาบอลิซึมและสะเก็ดเงิน
- คลินิกโรคตับและสะเก็ดเงิน
- คลินิกสะเก็ดเงินและอาหารสุขภาพ
- คลินิกผิวหนังและแสงอาทิตย์
- คลินิกทดสอบแสงอาทิตย์
- คลินิกรักษาด้วยแสงสีแดง
- คลินิกภาวะผิวแพ้แสงอาทิตย์และพันธุศาสตร์
ปี พ.ศ. 2552 ย้ายที่ทำการสาขาวิชาฯ ไปอยู่ที่อาคารอบรมวิชาการ ชั้น 2 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ถึง วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558
ปี พ.ศ. 2558 ย้ายที่ทำการสาขาฯ ไปอยู่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 5 โซน C เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ทำการ และทำการเรียนการสอนแล้วยังเป็นคลินิกเกี่ยวกับโครงการวิจัย
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 คลินิกผิวหนังได้ย้ายจาก ภปร ชั้น 2 ไปอยู่อาคาร ภปร ชั้น 14 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ด้านการเรียนการสอนระดับหลังปริญญา
สาขาวิชาฯ ได้เปิดหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน สาขาตจวิทยา 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน (สาขาตจวิทยา) ได้เริ่มเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2517 ถึงปี พ.ศ. 2547 ได้มีการปรับปรุงจากหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน (สาขาตจวิทยา) ภายใต้การกำกับของแพทยสภาให้มีสถานะเพิ่มเติม เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง (สาขาตจวิทยา) ภายใต้การกำกับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สาขาวิชาตจวิทยา เป็นสาขาหนึ่งซึ่งเป็นรากฐานของวิชาการทางอายุรศาสตร์ เนื่องจากผิวหนังและเยื่อบุเป็นอวัยวะที่มีพื้นที่ผิวครอบคลุมทั่วร่างกาย ทำให้สามารถตรวจพบโรคทางผิวหนังทั้งที่เป็นโรคทางผิวหนังโดยตรง และความผิดปกติทางผิวหนังที่เป็นอาการแสดงของโรคภายในของระบบอื่น ๆ ได้ อีกทั้งสาขาวิชาตจวิทยาเป็นสาขาที่ครอบคลุม วิทยาการทางการแพทย์ทั้งในด้านกว้าง ด้านลึก โรคทางผิวหนังจึงมีความ หลากหลายทั้งในด้านความชุก ความรุนแรง ความสลับซับซ้อน และความรีบด่วนและยังเป็นองค์ความรู้ที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนท้าทายความรู้ความสามารถของตจแพทย์ในการให้การวินิจฉัยโรค การดูแลรักษาแบบองค์รวม และการพยากรณ์โรค
นอกจากความรู้และทักษะด้านตจวิทยาแล้ว ตจแพทย์ยังต้องมีความสามารถด้านอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ความสามารถในการเรียนรู้เพื่อให้มีการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีเจตนารมณ์และเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต ความสามารถด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ ความเป็นมืออาชีพ การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม การปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพ ความรู้ความเข้าใจในระบบสุขภาพของประเทศ คำนึงถึงความต้องการด้านสุขภาพทางผิวหนังของชุมชนและสังคม การบริหารจัดการ กระบวนการคุณภาพและความ ปลอดภัย ตลอดจนความรับผิดชอบ มีจริยธรรม ทัศนคติ และเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย มีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อผู้ร่วมงานและองค์กร ทั้งในวิชาชีพของตนเองและวิชาชีพอื่น มีความเอื้ออาทรและใส่ใจในความ ปลอดภัย โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง นโยบายการผลิตตจแพทย์นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการของระบบสุขภาพรวมทั้งมิติด้านอื่น ๆ ทางสังคม ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ
เจตจำนง
สาขาวิชาตจวิทยา จุฬาฯ เป็นที่ที่ดีที่สุดสำหรับการฝึกอบรมแห่งหนึ่งของประเทศ มีความเป็นเลิศทางวิชาการ โดดเด่นด้านความเป็นอิสระทางความคิด และธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ค่านิยม
ตจวิทยาจุฬาฯ เก่งกล้าสามารถ
มารยาทเยี่ยม เปี่ยมคุณธรรม
ภาระหน้าที่
สาขาวิชาฯ มีพันธกิจ ซึ่งอิงตามพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คือ “ผลิตแพทย์เฉพาะทางที่มีคุณภาพ กอปรด้วยคุณธรรม สร้างงานวิจัยที่มีคุณค่า ให้บริการทางการแพทย์และวิชาการเพื่อชี้นำสังคม เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการของชาติและนานาชาติ ประชาคมมีคุณภาพ ชีวิตที่ดี มีความภูมิใจในสถาบัน”
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 :
การพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่เป็นผู้นำในระดับชาติและนานาชาติ
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 :
การพัฒนาการเรียนการสอนในทุกระดับให้มีมาตรฐาน มีการบูรณาการ กับการดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 :
พัฒนาเพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กรเพื่อความยั่งยืนขององค์กร
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 :
เพื่อการสร้างความสุขให้แก่คนในองค์กร รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมความผูกพัน
ผศ.พญ.มาริษา พงศ์พฤฒิพันธ์
หัวหน้าหน่วยผิวหนัง (สาขาตจวิทยา) ฝ่ายอายุรศาสตร์
การให้บริการของฝ่าย
หน่วยผิวหนัง ตจวิทยา มีการให้บริการทางคลินิกทางด้านผิวหนัง ดังนี้
1. คลินิกผิวหนังทั่วไป
2. คลินิกผิวหนังเฉพาะโรค
- คลินิกผิวหนังเรื้อรัง
- คลินิกผิวหนังแพ้ยารุนแรง
- คลินิกผิวหนังภูมิคุ้มกัน
3. คลินิกผิวหนังเหตุจากอาชีพและสิ่งแวดล้อม
4. คลินิกเลเซอร์
5. คลินิกเนื้องอกผิวหนัง
6. คลินิกโรคผมและหนังศรีษะ
7. คลินิกโรคผิวหนังของต่อมไขมัน
8. คลินิกผิวหนังสะเก็ดเงิน
- คลินิกผิวหนังสะเก็ดเงิน
- คลินิกข้อสะเก็ดเงิน
- คลินิกโรคทางเมตาบอลิสมและสะเก็ดเงิน
- คลินิกโรคตับและสะเก็ดเงิน
- คลินิกสะเก็ดเงินและอาหารสุขภาพ
9. คลินิกผิวหนังและแสงอาทิตย์
- คลินิกผิวหนังและแสงอาทิตย์
- คลินิกทดสอบแสงอาทิตย์
- คลินิกรักษาด้วยแสงสีแดง
- คลินิกพรี-ไพรม ผิวแพ้แสงอาทิตย์และพันธุ์ศาสตร์
10. ศูนย์ให้การรักษาด้วยแสงอาทิตย์เทียม