โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เริ่มให้บริการรักษาผู้ป่วยจิตเวชมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ในฐานะงานรักษาหนึ่ง ของแผนกอายุรศาสตร์ ก่อนที่จะขยายขอบเขตการรักษาจนสามารถเปิด เป็นฝ่ายจิตเวชศาสตร์ได้ในปี พ.ศ. 2516 และเปิดให้บริการ
หอผู้ป่วยจิตเวชขึ้นเป็นแห่งแรก ของโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการผลิตบุคลากร ทางด้านจิตเวชศาสตร์
มาอย่างต่อเนื่อง
นอกเหนือจากการผลิตจิตแพทย์แล้วปัจจุบันยังได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ครอบคลุมเรื่องสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้นโดยผลิตและพัฒนานักสุขภาพจิต เนื่องจากกระบวนการรักษาทางจิตเวชในปัจจุบัน จะต้องดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุมในทุกมิติ ดังนั้นการบูรณาการองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและทํางานร่วมกับ สหสาขาวิชาชีพ จึงเป็นเรื่องสําคัญยิ่ง
รางวัล หรือความภาคภูมิใจของฝ่าย
- เกมคลื่นสมอง หรือ Game Base Neuro Feedback Cognitive Training เป็นนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ Brain computer interfaces (BCI), BATCANE และ i-ExC Game เพื่อใช้ประโยชน์ในการบำบัดโรคทางการแพทย์ โดยเฉพาะช่วยชะลอภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ ได้รับรางวัลเหรียญทองจาก International Tradefair Ideas-Inventions-New productsiENA 2018 at Messe Nurnberg, Germany โดยทีม รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ เป็นผู้พัฒนาต่อยอดมาจากคลื่นสมองของผู้สูงอายุ
- Chula CBT เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ที่มีความเชี่ยวชาญ ในการผลิตนักจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) โดยผู้คิดค้น Aaron T. Beek จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้รับรางวัล Prince Mahidol Award in Medicine (รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2011) จัดเป็นวิธีการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล Chula CBT ก่อตั้งโดย ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร ประธานชมรมความผิดปกติทางอารมณ์แห่งประเทศไทย
- สมาคมอีเอ็มดีอาร์แห่งประเทศไทย (EMDR Thailand Association) ก่อตั้งโดย ผศ.พญ.ปริชวัน จันทร์ศิริ ประธานศูนย์คืนขวัญ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย Eye Movement Desensitization and Reprocessing Therapy (EMDR) เป็นเทคนิคการบำบัดเพื่อบรรเทาบาดแผลทางใจ ในผู้เผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือความตึงเครียดรุนแรง โดยใช้วิธีการเคลื่อนไหวดวงตาให้สมองเกิดการรับรู้ และความเข้าใจใหม่ต่อสถานการณ์ในอดีต โดยมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยตั้งอยู่ที่ ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เจตจำนง
จิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันทางจิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิตชั้นนำของประเทศและภูมิภาค
ภาระหน้าที่
- ผลิตบุคลากร ได้แก่ บัณฑิตแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจิตเวชศาสตร์ และบุคลากรด้านสุขภาพจิตที่มีคุณภาพเป็นเลิศ
- ผลิตองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม ทางสุขภาพจิตที่มีคุณค่าทางวิชาการ และเกิดคุณประโยชน์ต่อสังคม
- บริการทางการแพทย์และวิชาการทางสุขภาพจิตที่มีคุณภาพและคุณธรรม
- สนับสนุน ส่งเสริมการทำงานทางสุขภาพจิตแบบสหสาขาวิชาชีพตามบริบทของสังคมไทย
การให้บริการของฝ่ายจิตเวชศาสตร์
ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ให้บริการตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ป่วยทางจิต ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงการรับปรึกษาจากแผนกต่าง ๆ บริการสัมภาษณ์และตรวจสุขภาพจิตแก่หน่วยงานภายในและภายนอก รวมทั้งยังได้มุ่งเน้นกระบวนการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตมาดูแลรักษาผู้ป่วยร่วมกันในรูปแบบทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักอาชีวบำบัด นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ มาร่วมกันดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม
ซึ่งจำแนกรูปแบบการรักษาออกเป็น 3 กลุ่มงาน ได้แก่
- จิตเวชศาสตร์ทั่วไป
- จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
- จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
- จิตเวชศาสตร์การนอนหลับ
- จิตเวชศาสตร์การเสพติด
- จิตเวชศาสตร์การรับปรึกษาในผู้ป่วยทางกาย