ฝ่ายสรีรวิทยา หรือภาควิชาสรีรวิทยา เป็นหน่วยงานในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารแพทยพัฒน์ ชั้น 10 แต่เดิมตั้งอยู่ ณ อาคารสรีรวิทยา ชั้น 1 ต่อมาคณะแพทยศาสตร์มีนโยบายพัฒนาอาคารเรียนรวมปรีคลินิก จึงได้ทำการรื้อถอนอาคารสรีรวิทยาและอาคารกายวิภาคศาสตร์ และสร้างอาคารเรียนรวมปรีคลินิกชื่อว่า “อาคารแพทยพัฒน์” ภาควิชาสรีรวิทยาได้ย้ายมาอยู่ที่อาคารแห่งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา
ฝ่ายสรีรวิทยาเป็นหนึ่งในสามภาควิชาแรกที่ได้จัดตั้งขึ้นในคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งได้เริ่มจัดตั้งและทำการสอนเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2490 ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายสรีรวิทยาและหน่วยงานอื่น ๆ ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงโอนมาสังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีสถานะเป็นแผนกหนึ่งของกองโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในสังกัดสภากาชาดไทยด้วย
เจตจำนง
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันวิชาการทางสรีรวิทยา ที่มีความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน สร้างองค์ความรู้ที่มีคุณค่าสู่สากล บุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข
ภาระหน้าที่
- ด้านการเรียนการสอน
ภาควิชาสรีรวิทยามีพันธกิจในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพเป็นเลิศให้แก่นิสิตคณะแพทยศาสตร์ และคณะอื่นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา
- ด้านการวิจัย
ภาควิชามีพันธกิจในการสร้างองค์ความรู้ที่มีคุณค่าเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติในสาขาวิชาสรีรวิทยาพื้นฐานและสรีรวิทยาประยุกต์
- ด้านการบริการวิชาการ
ภาควิชามีพันธกิจในการให้บริการวิชาการ ทั้งการเรียนการสอน การให้ความรู้สู่สังคม และการบริการทางการแพทย์ ในระดับชาติและนานาชาติ
- ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ภาควิชามีพันธกิจในการส่งเสริม สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
- ด้านการบริหาร
ภาควิชามีระบบการบริหารที่มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ รวมทั้งทำให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขในการปฏิบัติงาน
โครงสร้างและองค์ประกอบย่อยของศูนย์
ฝ่ายสรีรวิทยามีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างงานวิจัยที่มีคุณค่าในสาขาสรีรวิทยาพื้นฐานและสรีรวิทยาประยุกต์ และเผยแพร่ผลงานวิจัยนั้น ๆ ในระดับชาติและระดับนานาชาติเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของคณะฯ และมหาวิทยาลัยในการที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย และเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
ปัจจุบันภาควิชามีศูนย์เชี่ยวชาญ (Center of Excellence) เฉพาะทางการแพทย์ทางเลือกสำหรับโรคระบบทางเดินอาหารและตับ และมีห้องปฏิบัติการวิจัยแขนงต่าง ๆ ดังนี้
- ประสาทสรีรวิทยา
- สรีรวิทยาการออกกำลังกายและชีวกลศาสตร์
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด
- ระบบทางเดินอาหาร
- ระบบการทำงานของไต
- ระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม
- ระบบสืบพันธุ์
นอกจากนี้ ฝ่ายสรีรวิทยาร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการเดินและเคลื่อนไหว (Excellence Center of Gait and Motion) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เปิดให้บริการด้านการวินิจฉัย รักษา และศึกษาวิจัยในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเดินและเคลื่อนไหว ที่ห้องปฏิบัติการภาควิชาสรีรวิทยา อาคารแพทยพัฒน์ ชั้น 4 อีกด้วย
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดวงพร วีระวัฒกานนท์
หัวหน้าฝ่ายสรีรวิทยา
การให้บริการของฝ่าย
การบริการของฝ่ายสรีรวิทยา แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่
1. การให้บริการด้านการสอนวิชาสรีรวิทยา และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องแก่หน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย และวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ รวมทั้งการเป็นอาจารย์พิเศษให้แก่สถาบันต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น
2. การจัดประชุม/อบรมวิชาการ ร่วมกับองค์กรวิชาการ/วิชาชีพ ได้แก่ การประชุมวิชาการประจำปีของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การประชุมวิชาการประจำปีของสรีรวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
3. การเป็นวิทยากรของคณาจารย์ในการประชุมวิชาการต่าง ๆ ทั้งระดับชาติและนานาชาติ
4. การให้บริการทางการแพทย์ แม้ว่าจะเป็นฝ่ายฯ ทางปรีคลินิกซึ่งไม่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการให้บริการทางการแพทย์ แต่ฝ่ายฯ ก็ยังคงเห็นความสำคัญของการให้บริการด้านนี้ และอนุญาตให้คณาจารย์ในภาควิชาปฏิบัติภารกิจด้านนี้ได้ตามความเหมาะสม ได้แก่
- การออกตรวจแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เช่น คลินิกอายุรกรรมโรคระบบทางเดินอาหาร คลินิกเปลี่ยนตับ คลินิกอายุรกรรมระบบประสาท คลินิกปวดศีรษะ คลินิกความจำ คลินิกโรคไต คลินิกโรคปอด คลินิกโรคความผิดปกติจากการหลับ และคลินิกอายุรกรรมทั่วไป
- การออกตรวจนิสิตและบุคลากร ณ ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- การให้บริการดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่ประชาคม ทั้งบุคลากรในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย และประชาชนทั่วไป และเป็นหนทางในการเพิ่มพูนประสบการณ์ของอาจารย์ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน รวมถึงยังเอื้อต่อการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานของพยาธิสรีรกำเนิดของภาวะทางเวชกรรมต่าง ๆ ตลอดจนงานวิจัยในลักษณะของสหวิทยาการ อาทิ การร่วมงานวิจัยระหว่างคณาจารย์ของภาควิชากับคณาจารย์ในสาขาวิชาต่าง ๆ ในภาควิชาอายุรศาสตร์ เป็นต้น
5. โครงการให้บริการแก่ชุมชน อาทิ การให้บริการตรวจวัดสมรรถภาพทางกาย ในงานและการประชุมต่าง ๆ ตามที่คณะฯ มหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลขอความร่วมมือ
6. การเป็นกรรมการวิชาการ/วิชาชีพ และกรรมการวิทยานิพนธ์ภายนอก คณาจารย์ในภาควิชาได้รับเลือกให้เป็นกรรมการในองค์กรและหน่วยงานทางวิชาการต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาทิ สรีรวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะภายใต้สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย เป็นต้น