ฝ่ายพยาธิวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีจุดเริ่มต้นจากการเป็น “แผนกพยาธิวิทยา” ซึ่งจัดตั้งขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตามพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 โดยได้เปิดภาคเรียนครั้งแรกวันที่ 11 มิถุนายน
พ.ศ. 2490 เมื่อเริ่มแรกแผนกพยาธิวิทยาเป็นหนึ่งในแผนกที่ทำหน้าที่รับผิดชอบการสอนวิชาพยาธิวิทยา วิชาปรสิตวิทยา วิชาจุลชีววิทยา วิชาเวชศาสตร์ชันสูตรและวิชานิติเวชวิทยา อันเป็นวิชาพื้นฐานทางปรีคลินิกของหลักสูตรการศึกษาแพทยศาสตร์ร่วมกับแผนกสรีรวิทยาและกายวิภาคศาสตร์ ศ.นพ.เฉลิม พรมมาส เป็นผู้รักษาการหัวหน้าแผนกเป็นคนแรก โดยมี ศ.นพ.ภิรมย์ สุวรรณเตมีย์ เป็นหัวหน้าแผนกในลำดับถัดมาจนถึงปี พ.ศ. 2510
ต่อมาเมื่อคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โอนเข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเปลี่ยนชื่อแผนกเป็นภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขณะเดียวกันก็เป็นฝ่ายพยาธิวิทยาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ไปพร้อม ๆ กันด้วยจนถึงปัจจุบัน
ผลงานที่ภาคภูมิใจ
ปี พ.ศ. 2551 : วินิจฉัยรอยโรค “Plasmablastic Lymphoma” ในสมองของผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นครั้งแรกของโลก โดย ศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ และ รศ.นพ.ธรรมธร อาศนะเสน
ปี พ.ศ. 2553 : ค้นพบรอยโรค “Angiomyeloproliferative Lesion” ที่เกิดจากการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรค SLE เป็นรายแรกของโลก โดย ผศ.พญ.ดวงเพ็ญ ถิระบัญชาศักดิ์
ปี พ.ศ.2555 : ค้นพบการเพิ่มจํานวนเซลล์ Myofbroblast ตามขอบ placental villi ของทารกฮีโมโกลบินบาร์ต เป็นครั้งแรกของโลก ลักษณะดังกล่าวเป็นการปรับตัวของรกต่อภาวะขาดออกซิเจนในครรภ์ โดย ศ.นพ.มานะ ทวีวิศิษฎ์
ปี พ.ศ. 2558 : รายงานผู้ป่วยเอดส์ที่เป็น EBV-associated Smooth muscle tumor ซึ่งมีจํานวนผู้ป่วยมากที่สุด โดย ศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ ร่วมกับ ศ.นพ.ชุษณา สวนกระต่าย
ปี พ.ศ.2558 : ค้นพบเยื่อบุถุงน้ำคร่ำอักเสบจากวัณโรคเป็นครั้งแรกของโลก โดย ศ.นพ.มานะ ทวีวิศิษฎ์
ปี พ.ศ. 2560 : ค้นพบการกลายพันธุ์ของยีน BRAF ชนิด V600E ในโรค Juvenile Xanthogranuloma ที่เกิดในสมองและศีรษะเป็นครั้งแรกของโลก โดย ศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ
ปี พ.ศ. 2561 : ค้นพบลักษณะทางเซลล์วิทยา (cytology) ของมะเร็ง Low-grade Myofbroblastic Sarcoma เป็นครั้งแรกของโลก โดย ศ.นพ.มานะ ทวีวิศิษฎ์
ปี พ.ศ. 2562 : ศึกษาและนําเสนอ Compact buds ใน Thyroglossal Duct Cyst เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งวารสารการแพทย์ Virchows Archiv ที่ตีพิมพ์งานวิจัยนี้ได้นําภาพ Compact buds นี้ขึ้นเป็นภาพหน้าปกของวารสารฉบับดังกล่าว โดย ศ.นพ.สมบูรณ์ คีลาวัฒน์ และ Dr.Andrey Bychkov
เจตจำนง
ฝ่ายพยาธิวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มุ่งพัฒนาเป็นสถาบันชั้นนำของประเทศและภูมิภาคในการผลิตพยาธิแพทย์มืออาชีพและสาขาต่อยอด บัณฑิตประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางคลินิก ปริญญาโท และปริญญาเอกที่มีคุณภาพและคุณธรรมตามความต้องการและสถานการณ์ของประเทศ รวมทั้งให้บริการการวินิจฉัยโรคทางพยาธิวิทยาของสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล รวมทั้งสอนและสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
พันธกิจ
มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และพยาธิแพทย์มืออาชีพและต่อยอดสาขาเฉพาะทางที่มีความรู้คู่คุณธรรม ใฝ่รู้ และรู้จักวิธีการเรียนรู้สามารถสร้างความรู้ใหม่ได้ และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องรวมถึงมีเจตคติที่ดีเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพแห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
ให้บริการวินิจฉัยโรคทางพยาธิวิทยาของสิ่งส่งตรวจและผู้ป่วยด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศทันสมัยได้อย่างถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม และตามมาตรฐานความปลอดภัย และเป็นที่ปรึกษาของสหสาขาทางการแพทย์และสถาบันการแพทย์อื่น ๆ
สนับสนุนการผลิตผลงานวิจัยทางพยาธิวิทยา กายวิภาคที่เชื่อถือได้ และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ มีจำนวนที่เหมาะสมกับสถาบันชั้นนำทุกปี
ภารกิจที่หน่วยงานสนับสนุน
- งานบริการศัลย์พยาธิวิทยา (Surgical pathology)
- งานบริการเซลล์พยาธิวิทยา (Cytopathology)
- งานบริการพยาธิวิทยาเร่งด่วนระหว่างผ่าตัด (Intra-operative Diagnosis/Frozen Section)
- งานบริการพยาธิวิทยาจุลทรรศน์อิเลคตรอน (Electron Microscopy)
- งานบริการการตรวจโดยวิธีย้อมพิเศษอิมมูโนเคมี และเทคนิคทางอณูวิทยา (Special stain, Immunohistochemistry and Molecular Technique)
- งานบริการตรวจศพพยาธิวิทยา (Autopsy)
- การขอปรึกษาทางพยาธิวิทยา (Consultation)
- งานบริการผลด่วน