โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ฝ่ายรังสีวิทยา

Department of Radiology

มุ่งสู่การเป็นหน่วยรังสีรักษาชั้นนำระดับโลก ที่มีความเป็นเลิศทางคลินิกและการดูแลผู้ป่วย

ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประกอบด้วย 3 สาขา ได้แก่ สาขารังสีวิทยาวินิจฉัย สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

สาขารังสีรักษาแลมะเร็งวิทยา เริ่มเปิดบริการการรักษาโรคมะเร็งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 จนถึงปัจจุบัน มีเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย มีความพร้อมทางด้านบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยรังสี เป็นที่ไว้วางใจแก่ผู้ป่วยมามากกว่า 60 ปี เริ่มมีอาคารให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะ ในปี พ.ศ. 2503 ได้เริ่มสร้างอาคาร สวัสดิ์-ล้อม โอสถานุเคราะห์ ซึ่งเป็นสถานที่ของแผนกรังสีวิทยา รับผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ประมาณ 50 คน หลังจากนั้นจำนวนผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากการแพทย์เจริญขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดให้สภากาชาดไทยสร้างอาคารอับดุลราฮิม โดยต่อเติมจากอาคารโคบอลต์เดิมที่เป็นอาคารชั้นเดียวเป็น 3 ชั้น มีห้องให้เคมีบำบัดเพื่อบริการผู้ป่วยอยู่ที่ชั้น 2 และมีการติดตั้งเครื่องฉายรังสีเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ถัดมาในช่วงปี พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2530 ได้ทำการก่อสร้างอาคารล้วน–เพิ่มพูล ว่องวานิช เพื่อเป็นศูนย์ป้องกันและรักษาโรคมะเร็งซึ่งมีทั้งหมด 9 ชั้น ทางสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ให้บริการอยู่ที่ชั้น 1 เป็นห้องตรวจโรค ชั้น 3 เป็นการรักษาด้วยการใส่แร่ และชั้น 5 – 7 เป็นหอผู้ป่วยใน ในปี พ.ศ. 2532 ได้ดำเนินการสร้างอาคารเอลิสะเบธ-จักรพงษ์ เพื่อรองรับเครื่องฉายรังสีและเครื่องจำลองการฉายรังสีเครื่องแรก และหลังจากนั้นได้มีการพัฒนาเครื่องมือจนมีเครื่องฉายแสงทั้งหมด 6 เครื่องในปี พ.ศ. 2557  

ในปี พ.ศ. 2559 ได้เริ่มก่อสร้างอาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ที่ชั้น B1 และชั้น 1 เป็นพื้นที่ของสาขารังสีรักษา มีการติดตั้งเครื่องฉายรังสีอีก 3 เครื่อง เพื่อรองรับการขยายการให้บริการผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้น

ในปี พ.ศ. 2562 ได้เริ่มก่อสร้างศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ บนพื้นที่อาคารสวัสดิ์-ล้อมเดิม เพื่อรองรับการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน ซึ่งเป็นสถาบันแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ทางสาขาฯ พัฒนาระบบและเทคนิคการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การเป็นสาขารังสีรักษาชั้นนำระดับนานาชาติ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีและวิวัฒนาการของรังสีรักษาได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคนิคการฉายรังสีและเครื่องมือฉายรังสี กล่าวคือ มีการพัฒนาเทคนิคการฉายรังสีเอกซเรย์ จากแบบ 2 มิติ เป็น 3 ถึง 4 มิติ และพัฒนาสู่การฉายรังสีปรับความเข้ม (intensity modulated radiotherapy: IMRT) การฉายรังสีปรับความเข้มหมุนรอบตัว (volumetric modulated arc radiotherapy: VMAT) การฉายรังสีศัลยกรรมร่วมพิกัด (stereotactic radiosurgery: SRS) และการฉายรังสีร่วมพิกัดบริเวณลำตัว (stereotactic body radiotherapy: SBRT) อีกทั้งยังได้พัฒนาเครื่องมือฉายรังสี จากเดิมใช้รังสีแกมมาเป็นรังสีเอกซ์และลำอิเล็กตรอนจากเครื่องเร่งอนุภาค และในที่สุดได้มีการพัฒนาการฉายรังสีโดยใช้อนุภาคโปรตอนขึ้น กอปรกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งและเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยที่สุด

รางวัลหรือความภาคภูมิใจ

  • ปี พ.ศ. 2494 เริ่มใช้เครื่องเอกซเรย์แบบลึกสำหรับรักษามะเร็งชนิดตื้น (Deep X-ray GE Maximar 400) ซึ่งขณะนั้นเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพที่สุดในประเทศไทย 
  • ปี พ.ศ. 2501 สหสมาคมกาชาดและจันทร์แดงแห่งสหภาพโซเวียตได้บริจาคเครื่อง Cobalt 60 Teletherapy แบบ GUT-400 ซึ่งถือเป็นเครื่องโคบอลต์เครื่องแรกในประเทศไทย โดยใช้รักษาผู้ป่วย พ.ศ. 2502 – พ.ศ. 2513 
  • ปี พ.ศ. 2548 เริ่มการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated radiotherapy; IMRT) และพัฒนาเป็นการฉายรังสีปรับความเข้มแบบหมุนรอบตัว (Volumetric Modulated Arc Therapy; VMAT) พร้อมระบบภาพนำวิถีแบบ 3 มิติ ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งถือเป็นเครื่องฉายรังสีแรกในประเทศไทย และในปัจจุบันรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคนี้ได้มากถึง 1,600 รายต่อปี
  • ปี พ.ศ. 2552 เริ่มใช้เทคนิคการใส่แร่ด้วยระบบภาพนำวิถี (image guided adaptive brachytherapy) โดยนำภาพจากเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็ก (magnetic resonance imaging: MRI) มาใช้ในการคำนวณการรักษาแบบ 3 มิติ เป็นแห่งแรกในประเทศ และเป็นสถาบันแรก ๆ ของโลก ทำให้สามารถกำหนดตำแหน่งรอยโรคและอวัยวะปกติรอบข้างได้ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้การใส่แร่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ปี พ.ศ. 2560 ทางสาขาฯ ก่อตั้งคณะกรรมการความเสี่ยงในงานรังสีรักษาเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ประกอบด้วยสหสาขาวิชาชีพ เพื่อดูแลกระบวนการรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางรังสีรักษาและประชาชนทั่วไป 
  • ปี พ.ศ. 2562 เริ่มติดตั้งเครื่องฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน (proton) ซึ่งเป็นเครื่องแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานการติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน (cyclotron) เพื่อเร่งอนุภาคโปรตอนของศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยจะพร้อมให้การรักษาผู้ป่วยรายแรกในปลายปี พ.ศ. 2564
  • ปี พ.ศ. 2562 ทางสาขาฯ ได้ผ่านการเยี่ยมสำรวจและประเมินคุณภาพการรักษาด้วยรังสี (quality assurance team for radiation oncology: QUATRO) จากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (international atomic energy agency: IAEA) ในระดับ center of competence 
  • ปี พ.ศ. 2550 – ปัจจุบัน เป็นศูนย์การฝึกอบรมทางรังสีรักษาของ IAEA, บริษัท Varian และบริษัท Elekta สำหรับรังสีแพทย์ นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีการแพทย์ และพยาบาล จากทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สาขาฯ เป็นศูนย์รังสีรักษาต้นแบบให้กับศูนย์อื่นๆ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากต่างประเทศ ปีละ 4 – 6 คน
  • เป็นสถาบันการศึกษาเดียวในประเทศไทยที่มีการผลิตบุคลากรทางรังสีรักษาในทุกระดับ ได้แก่ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเฉพาะทาง หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขารังสีเทคนิคและฟิสิกส์ทางการแพทย์ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และดุษฏีบัณฑิตสาขาฟิสิกส์การแพทย์

เจตจำนง 

มุ่งสู่การเป็นหน่วยรังสีรักษาชั้นนำระดับโลก ที่มีความเป็นเลิศทางคลินิกและการดูแลผู้ป่วย ควบคู่ไปกับการพัฒนางานสอนเพื่อสามารถผลิตแพทย์ประจำบ้านที่มีคุณภาพ รวมถึงการสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาการรักษาให้ดียิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ภาระหน้าที่

  1. ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยทางด้านรังสีรักษาอย่างครบวงจร ด้วยวิธีการมาตรฐาน มีหลักฐานและข้อมูลทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงได้ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ 
  2. ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาตามเกณฑ์มาตรฐาน มีคุณธรรม และจริยธรรม 
  3. ให้บริการวิชาการและความรู้แก่หน่วยงานและประชาชน 
  4. สร้างงานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาการรักษาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 
  5. ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกระดับอย่างต่อเนื่อง 
  6. จัดอบรมและเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของบุคลากรทางรังสีรักษาและโรคมะเร็งจากสถาบันอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 
  7. พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการรักษาให้ได้มาตรฐานและเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี 

โครงสร้างของฝ่ายรังสีวิทยา ประกอบด้วยงานด้านต่าง ๆ ดังนี้

การให้บริการของฝ่าย

ฝ่ายรังสีวิทยา เปิดให้บริการ ดังนี้

  1. บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยให้บริการผู้ป่วยนอกมากกว่า 2,700 รายต่อปี และผู้ป่วยในมากกว่า 2,500 รายต่อปี 
  2. ปัจจุบันมีเครื่องฉายรังสีทั้งหมด 6 เครื่อง สามารถให้บริการฉายรังสีผู้ป่วยได้ปีละประมาณ 3,500 ราย มีระยะเวลารอฉายรังสีสั้นที่สุดในประเทศไทย
  3. ใส่แร่ 3 มิติ โดยใช้ภาพจากเครื่องเอ็มอาร์ (MRI) 
  4. การรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน เริ่มให้การรักษาปลายปี พ.ศ. 2563 
  5. โครงการเพื่อนคู่คิดพิชิตมะเร็ง ให้คำปรึกษาและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยมะเร็งทางโทรศัพท์ 

หน่วยงายภายใต้ฝ่ายรังสีวิทยา

  1. หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ข้อมูลเพิ่มเติม..

สาขารังสีวิทยาวินิจฉัย

สาขารังสีวิทยาวินิจฉัย ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มต้นตั้งแต่ครั้งที่มีการก่อตั้ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 ในขณะนั้นมีเครื่องเอกซเรย์อยู่แล้วและเป็นเครื่องที่ใช้หลอดชนิด “ Gas tube “ ติดตั้งไว้ในห้องผ่าตัดโดยครั้งแรกใช้ชื่อว่า “แผนกไฟฟ้าและราดิอุม” ซึ่งในวันเปิดโรงพยาบาล นายพันตรีหลวงศักดาพลรักษ์ ( เสก ธรรมสโรช) ได้เป็นผู้ฉายเอกซเรย์ทรวงอกถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย  ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หมวดแสงรัศมี” ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นแผนกรังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2490

ในปี พ.ศ. 2510 ภายหลังจากที่คณะแพทยศาสตร์ได้โอนเข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดตั้ง ภาควิชารังสีวิทยาขึ้นเพื่อดูแลด้านการเรียน การสอน จึงใช้ชื่อเป็นภาควิชา/แผนกรังสีวิทยา โดยในขณะนั้นสาขารังสีวิทยา วินิจฉัยเป็นหนึ่งในสามหน่วยงานของภาควิชา/แผนกรังสีวิทยานั่นคืออยู่ภายใต้ การบริหารขององค์กร 2 องค์กรร่วมกัน คือภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์และงานวิจัย และแผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องงานด้านการบริการผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยทั้งสององค์กรมีสำนักงานอยู่ที่อาคารสวัสดิ์ – ล้อม โอสถานุเคราะห์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ในปี พ.ศ. 2528 ได้มีการเปลี่ยนแปลงจาก “หน่วยรังสีวินิจฉัย” เป็น “สาขารังสีวินิจฉัย” ซึ่งต่อมาเมื่อมีการ ขยายงานทางด้านการตรวจวินิจฉัยด้วยภาพชนิดที่ไม่ใช้รังสีเอกซ์ (เช่น การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ การตรวจด้วยเครื่อง สร้างภาพด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก) และด้านรังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology) จึงได้มีการเปลี่ยน ชื่อ หน่วยงานเป็น “สาขารังสีวิทยาวินิจฉัย” ตามหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านของแพทยสภา เมื่อสภากาชาดไทยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีการปรับโครงสร้างโดยให้ปรับ “แผนก” เป็น “ฝ่ายรังสีวิทยา” ในปี พ.ศ. 2540 สาขารังสีวิทยาวินิจฉัยจึงเป็นสาขาหนึ่งในฝ่ายรังสีวิทยาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

สาขารังสีวิทยาวินิจฉัยนับเป็นสาขาหนึ่งทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีความหลากหลายของเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย โดยได้รับความไว้วางใจจากแพทย์สาขาต่างๆที่ทำงานร่วมกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สาขารังสีวิทยาวินิจฉัยเป็นสาขาที่มีจำนวนผู้ป่วยเข้ามารับการบริการเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสาขาได้มีการพัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา  เช่น

  • พ.ศ. 2523 ได้เริ่มมีการก่อตั้งหน่วยหน่วยอัลตราซาวนด์ครั้งแรกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และปัจจุบันมีการให้บริการการตรวจอัลตราซาวด์ทั้งสิ้น 5 หน่วยบริการ
  • พ.ศ. 2524  ได้เริ่มมีการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ครั้งแรกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และในปัจจุบันมีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น 5 เครื่อง
  • พ.ศ. 2526 ได้มีการจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์เต้านมครั้งแรกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และในปัจจุบันมีเครื่องเอกซเรย์เต้านมทั้งสิ้น 3 เครื่อง
  • พ.ศ. 2535 ได้เริ่มมีการใช้เครื่องตรวจด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) ครั้งแรกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และในปัจจุบันมีเครื่องตรวจด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กทั้งสิ้น 7 เครื่อง

เจตจำนง 

ให้บริการการตรวจวินิจฉัยที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย มุ่งมั่นในการผลิตรังสีแพทย์ และบุคลากรทางด้านรังสีวินิจฉัยที่มีคุณภาพ ทั้งยังมีความมุ่งมั่นในการค้นคว้าวิจัย โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาช่วยสนับสนุนและประยุกต์ผลการวิจัยสู่การบริการทางการแพทย์และสู่สังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความเป็นเลิศทางรังสีวิทยาในระดับภูมิภาค มีการกำกับดูแล เฝ้าระวัง ตรวจสอบมาตรการการใช้รังสีในทางการแพทย์ รวมถึงจัดให้มีเครื่องมือป้องกันรังสีและตรวจวัดปริมาณรังสีให้เป็นไปตามหลักการป้องกันอันตรายจากรังสีตามมาตรฐาน สากล

ภาระหน้าที่

  1. ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาทางรังสีวิทยา ด้วยรังสีเอกซ์ คลื่นเสียงความถี่สูง คลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก แก่ผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ
  2. การส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพทุกสาขาและสร้างความร่วมมือให้ใช้ประโยชน์จากงานบริการทางรังสีวิทยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. การสนับสนุนงานด้านการวิจัยที่ใช้เครื่องมือทางรังสีวินิจฉัยให้กับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกสาขารังสีวินิจฉัย ทั้งยังสนับสนุนการค้นคว้า วิจัย งานด้าน AI ที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นประโยชน์ที่เกิดแก่ผู้ป่วยเป็นสำคัญ
  4. การกำกับดูแล เฝ้าระวังและตรวจสอบมาตรการการใช้รังสีในทางการแพทย์ รวมถึงจัดให้มีเครื่องมือป้องกันรังสีและตรวจวัดปริมาณรังสีให้เป็นไปตามหลักการป้องกันอันตรายจากรังสีตามมาตรฐาน สากล

รางวัลหรือความภาคภูมิใจ

รางวัลชมเชยสิ่งประดิษฐ์เข็มจุฬา 1เพื่อการตรวจท่อน้ำลาย เมื่อปี 2531         

  • รองศาสตราจาย์แพทย์หญิง สุดี ชมเดช

รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์ด้านการเรียนการสอน รางวัล “อาจาริยมิตต์” จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • รองศาสตราจาย์แพทย์หญิง สุกัลยา เลิศล้ำ ปี พ.ศ.2552
  • รองศาสตราจาย์แพทย์หญิง สมใจ หวังศุภชาติ ปี พ.ศ. 2554

รางวัลประกาศเกียรติคุณอาจารย์แบบอย่างจากสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี พ.ศ.2554

  • รองศาสตราจาย์แพทย์หญิง สมใจ หวังศุภชาติ

รางวัลพระราชทานเกียรติบัตรเกียรติบัตรจริยธรรมสรรเสริญจากแพทยสมาคม ปี พ.ศ. 2554

  • รองศาสตราจารย์นายแพทย์ เกียรติ อาจหาญศิริ

รางวัลรังสีแพทย์เกียรติคุณด้านวิชาการจากราชวิทยาลัยรังสีแพทย์และรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2556

  •  ศาสตราจารย์กิตติคุณแพทย์หญิง พิศมัย อร่ามศรี
  •  ศาสตราจารย์กิตติคุณแพทย์หญิง คุณหญิง นิตยา สุวรรณเวลา
  • รองศาสตราจาย์แพทย์หญิง สมใจ หวังศุภชาติ

รางวัลรังสีแพทย์เกียรติคุณด้านอุทิศตนต่อราชวิทยาลัยรังสีแพทย์และรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2556

  • รองศาสตราจารย์นายแพทย์ บุญเที่ยง ศีติสาร

รางวัลเชิดชูเกียรติบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ ปี พ.ศ. 2556

  • ศาสตราจารย์กิตติคุณแพทย์หญิง พิศมัย อร่ามศรี
  •   ศาสตราจารย์กิตติคุณแพทย์หญิง คุณหญิง นิตยา สุวรรณเวลา
  • รองศาสตราจาย์แพทย์หญิง สมใจ หวังศุภชาติ

รางวัลบุคลากรดีเด่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ประจำปี พ.ศ. 2531

ประจำปี พ.ศ. 2532

ประจำปี พ.ศ. 2533 

ประจำปี พ.ศ. 2537 

ประจำปี พ.ศ. 2538 

ประจำปี พ.ศ. 2539

ประจำปี พ.ศ. 2540 

  • นางสุจิตต์ ฉิมอำ   พนักงานบัญชี
  • นายเอนก ชิตกรณ์   คนงานประจำ
  • นายสายหยุด รอดทุกข์   เจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค
  • นางสาวจุรีย์ ด่านประเสริฐ    ประจำแผนก
  • นางจรรยา สีสุข    พนักงานพิมพ์ดีด
  • นางสำเนียง กาญจนรัตน์   เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 5
  • นายวราจิณ บุญคง   เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 5
  • ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงคุณหญิงนิตยา สุวรรณเวลา    หัวหน้าแผนก
  • นายอำพัน ทองสุขมาก   พนักงานห้องปฏิบัติงาน
  • นางสาวมัณฑนา นิรัติศัย   นักรังสีการแพทย์ 5

           ประจำปี พ.ศ. 2541      นายสมคิด ฤทธิรณ    นักวิชาการศึกษา 6

           ประจำปี พ.ศ. 2542       นายวัลลภ มากมูล    เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 4

นายแสวง เหลืองห่อ   พนักงานห้องปฏิบัติการ

นายบุญชัย  นิตยสุภาภรณ์ นักรังสีการแพทย์ 4  (ประกาศชมเชย)

           ประจำปี พ.ศ. 2543       นายวิชัย ทศพรทรงชัย   เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 4

           ประจำปี พ.ศ. 2544       นายสุนทร พันธ์ศิริ   เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 4

           ประจำปี พ.ศ. 2545       นางสาวจิดานันท์ พันธ์ดารา   เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 3

           ประจำปี พ.ศ. 2546       รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมใจ   หวังศุภชาติ    หัวหน้าฝ่าย

            นางสาวเฉลียว หาดี    เจ้าหน้าที่ธุรการ 4

            นายประจักษ์ อินทรักษา   พนักงานห้องปฏิบัติการ (ประกาศชมเชย)

           ประจำปี พ.ศ. 2547       นางพิไร แหลมเขาทอง   นักรังสีการแพทย์ 5

            นางกำปั่น นิลสินธพ          เจ้าหน้าที่ธุรการ 4

           ประจำปี พ.ศ. 2549       รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง  สุกัลยา เลิศล้ำ   หัวหน้าสาขารังสีวิทยาวินิจฉัย

นางสาวเทียมจันทร์ เมฆนิล   เจ้าหน้าที่ธุรการ 4

            ประจำปี พ.ศ. 2550      นางสาวร่มรังศรี วงศ์สูง   นักรังสีการแพทย์ 4

           ประจำปี พ.ศ. 2551       นางสุพิชชา กาญจนรัตน์   เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6

           ประจำปี พ.ศ. 2552       รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ อาจหาญศิริ   หัวหน้าฝ่าย

           ประจำปี พ.ศ. 2553       นายบุญชัย นิตยสุภาภรณ์   นักรังสีการแพทย์ 5

           ประจำปี พ.ศ. 2554       นางชุติรัตน์ เพชรกระจ่าง   คนงานทั่วไป

           ประจำปี พ.ศ. 2555      นายสายัน วิชาธรรม   เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ 4

            ประจำปี พ.ศ. 2556       นายจำนงค์ คุ้มเขว้า   นักรังสีการแพทย์ 5

             ประจำปี พ.ศ. 2557      นางเพ็ชรลีย์ สุวรรณประดิษฐ์   ผชก.นักรังสีการแพทย์ 6

ประจำปี พ.ศ. 2558       ผศ.นพ.จาตุรนต์ ตันติวัตนะ ตำแหน่ง นายแพทย์

                                    น.ส.สุริยา มานะผล ตำแหน่งผชก. นักรังสีการแพทย์ 6

                      น.ส.วรญา เงินเถื่อน ตำแหน่ง นักรังสีการแพทย์ 4

                      นางพรสุข มีแสง ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ธุรการ 4

ประจำปี พ.ศ. 2559       รศ.พญ.สุกัลยา เลิศล้ำ ตำแหน่ง หัวหน้าฝ่ายรังสีวิทยา

                      นางกัลยาณี ธีรกุล ตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษนักรังสีการแพทย์ 9

                      นางศิริณี ธีระจันทร์ ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ธุรการ 5

                                  นายพรชัย อ่อนสำลี ตำแหน่ง พนักงานห้องปฏิบัติการ

           ประจำปี พ.ศ. 2561       นายบุญชัย นิตยสุภาภรณ์ ตำแหน่ง หัวหน้าหน่วยเอกซเรย์ผู้ป่วยใน

นายสุปัญญา จันทคำ ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ธุรการ 5

นายจตุรภัทร ดุสดีธนภัทร ตำแหน่ง พนักงานห้องปฏิบัติการ

การให้บริการของฝ่าย

หน่วย advanced imaging

ให้บริการตรวจ CT scan และ MRI ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2 และ อาคาร 14 ชั้น ชั้น 1 ให้แก่ผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ทั้งในเวลาราชการ และ นอกเวลาราชการ

ให้บริการตรวจ CT scan ให้แก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 1

            หน่วยเอกซเรย์ผู้ป่วยนอก

ให้บริการตรวจเอกซเรย์ทั่วไป, fluoroscopy และ อัลตราซาวนด์ ให้แก่ผู้ป่วยนอก ณ อาคาร ภปร ชั้น4

ให้บริการตรวจเอกซเรย์ทั่วไป, fluoroscopy และ อัลตราซาวนด์ ให้แก่ผู้ป่วยเด็ก ณ อาคาร สก ชั้น4

ให้บริการตรวจเอกซเรย์ และอัลตราซาวนด์เต้านม รวมถึงการเจาะชิ้นเนื้อเต้านม ณ อาคาร สธ ชั้น 3

            หน่วยเอกซเรย์ผู้ป่วยใน

ให้บริการตรวจเอกซเรย์ทั่วไป และอัลตราซาวนด์ผู้ป่วยใน เอกซเรย์ portable รวมถึงอัลตราซาวนด์หลอดเลือด (Color Doppler ultrasound) ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2

ให้บริการตรวจเอกซเรย์ทั่วไปให้แก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 1

            หน่วยรังสีร่วมรักษา

ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยรังสีร่วมรักษา ทั้งระบบประสาทและลำตัว

            หน่วยฟิสิกส์การแพทย์

ดูแล ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือการตรวจทางรังสีวิทยาในหน่วยงาน รวมทั้งการให้ความรู้และคำแนะนำด้านการป้องกันรังสีในบุคลากรทางการแพทย์

หน่วยงายภายใต้ฝ่ายรังสีวิทยา

หน่วย advanced imaging

            หน่วยเอกซเรย์ผู้ป่วยนอก

            หน่วยเอกซเรย์ผู้ป่วยใน

            หน่วยรังสีร่วมรักษา

            หน่วยฟิสิกส์การแพทย์

            หน่วยเทคโนโลยีสารสนเทศ

            หน่วยธุรการ

วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ

ทุกวัน

สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์

สร้างเสริมคุณภาพชีวิตและสำนึกที่ดีต่อสังคมของบุคลากร ผลิตผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ เพื่อเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ

หน่วยไอโซโทปส์ แผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2502 ด้วยความช่วยเหลือของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างชาติ (IAEA) โดยส่ง Mr. Norman Veall แห่ง Guy’s Hospital, London เข้ามาปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการใช้สารเรดิโอไอโซโทปส์ในทางการแพทย์ โดย Mr. Norman Veall ได้เป็นผู้แนะนำในการจัดหาเครื่องมือ วางโครงงาน และช่วยเหลือในการปฏิบัติงานอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อเริ่มงานตอนแรกนั้น ทางแผนกรังสีวิทยาไม่มีงบประมาณสำหรับตั้งหน่วยไอโซโทปส์เลย โอรสและธิดา ของ ม.ร.ว. โต จิตรพงศ์ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้บริจาคเงินให้ซื้อเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับปฏิบัติงานไอโซโทปส์ คือ 1) อุปกรณ์ตรวจวัดที่ประกอบด้วยผลึก NaI ขนาด 1″ x 1″, 2) เครื่องวัดรังสีเบต้าจากตัวอย่างที่เป็นของเหลว และ 3) ขาตั้งสำหรับอุปกรณ์ตรวจวัด และเนื่องจากแผนกรังสีวิทยายังไม่มีสถานที่ จึงได้อาศัยส่วนหนึ่งของห้องชั้นล่าง ของโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นห้องปฏิบัติการไอโซโทปส์ ทั้งนี้ด้วยความเอื้อเฟื้อของคณะเทคนิคการแพทย์ นอกจากเอื้อเฟื้อสถานที่แล้วยังได้กรุณาให้ยืม Scaler 1 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในการปฏิบัติงาน รวมทั้งเครื่องแก้วและอุปกรณ์อื่นๆในห้องปฏิบัติการอีกด้วย

งานเริ่มแรกของหน่วยไอโซโทปส์นี้ คือการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ และรักษาผู้ป่วยโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษด้วยเรดิโอแอคตีฟไอโอดีน ตรวจหาสาเหตุโรคน้ำในช่องปอด โดยใช้เรดิโอแอคตีฟฟอสฟอรัส การใช้เรดิโอแอคตีฟโบรมีน ในการหา Extracellular Fluid ในคนปกติ และการหา Red Blood Cell Survival โดยใช้เรดิโอแอคตีฟโครเมี่ยม

กิจการได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งในด้านบริการของโรงพยาบาล และด้านค้นคว้าวิจัย จึงจำเป็นต้องย้ายห้องปฏิบัติการจากชั้นล่างของตึกเทคนิคการแพทย์ไปอยู่ชั้น 3 เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2503 ซึ่งมีพื้นที่มากขึ้นเป็นห้องปฏิบัติการและห้องทำงานของหน่วยไอโซโทปส์ และประมาณช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น Mr. J.D. Pearson แห่ง Guy’s Hospital London ผู้เชี่ยวชาญการใช้สารเรดิโอแอคตีฟทางการแพทย์อีกผู้หนึ่งของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างชาติ ได้เข้ามาช่วยเหลือและให้คำแนะนำประจำอยู่ที่หน่วยไอโซโทปส์ เป็นเวลาประมาณ 1 ปี ตลอดระยะเวลานี้ Mr. J.D. Pearson ได้ช่วยเหลือในด้านการปฏิบัติงาน แนะนำในการจัดหาเครื่องมือเพิ่มเติม ได้ให้การบรรยาย และสอนแพทย์ในโรงพยาบาลจุฬาฯ ในวิชาที่ว่าด้วยการใช้เรดิโอไอโซโทปส์ในทางการแพทย์ กิจการของหน่วยไอโซโทปส์ ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทางแผนกรังสีวิทยาก็ได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อซื้อเครื่องมือใช้เพิ่มขึ้น

ปี พ.ศ. 2506 ได้มีการเปิดตึกใหม่คือ ตึกสวัสดิ์-ล้อม โอสถานุเคราะห์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง การเสด็จนิวัติกลับจากยุโรปและอเมริกาในปี 2503 ดังนั้นหน่วยเรดิโอไอโซโทปส์ จึงได้ย้ายมาอยู่ที่ตึกใหม่นี้ การที่มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ทำให้สามารถขยายงานทั้งด้านการตรวจรักษา และการวิจัยมากขึ้น ในปี 2507 จึงได้มีการใช้เรดิโอแอคตีฟโกลด์ชนิดเม็ดในการรักษามะเร็งของช่องปาก กระเพาะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ และใช้เรดิโอแอคตีฟไอโอดีนในการรักษามะเร็งของต่อมไทรอยด์ ในเวลาเดียวกันนั้นเครื่อง Rectilinear scanner (Picker®) เครื่องแรกของหน่วยก็ได้รับการติดตั้ง โดยใช้ในการตรวจไทรอยด์และตับเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงนั้นทางหน่วยเรดิโอไอโซโทปส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีบุรุษพยาบาลทำหน้าที่ให้สารกัมมันตรังสีแก่ผู้ป่วยภายใต้การควบคุมของรังสีแพทย์ ควบคุมเครื่องอัพเทคและเครื่องสแกน และมีนักวิทยาศาสตร์ทำการตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการ และช่วยดูแลงานสแกนภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

ในปี พ.ศ. 2518 หน่วยเรดิโอไอโซโทปส์ได้ย้ายมาอยู่ที่ตึกโปษยานนท์ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา งานด้านการศึกษาวิจัยและการเรียนการสอนจึงสามารถขยายออกไปได้อย่างกว้างขวาง ส่วนงานด้านการรักษาพยาบาลนอกจากให้บริการแก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว ยังให้บริการแก่แพทย์จากสถาบันอื่นๆอีกด้วย และยังมีการเริ่มงานห้องปฏิบัติการ Radioimmunoassay และ Immunoradiometric assay ซึ่งให้บริการตรวจหาฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ tumor marker และ serum iron นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งห้องปลอดเชื้อเพื่อติดฉลากเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว และยังใช้สำหรับเตรียมและผลิตสารเภสัชรังสี ซึ่งสารเภสัชที่ผลิตได้เอง เช่น DTPA, DMSA, MDP, Phytate เป็นต้น

เมื่อมีการให้บริการที่หลากหลายขึ้น จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก “หน่วยเรดิโอไอโซโทปส์” เป็น “สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์” เพื่อให้สามารถครอบคลุมวิทยาการที่หลากหลายมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2529 เริ่มมีนักรังสีเทคนิคมาปฏิบัติงานทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆที่นำเข้ามาใช้ในสาขาฯ ซึ่งในขณะนั้นคือเครื่อง SPECT (Single Photon Emission Computed Tomography) ซึ่งได้ติดตั้งในปี พ.ศ. 2531 บุคลากรต่างๆได้รับการสนับสนุนให้ไปฝึกอบรมในระดับชาติและนานาชาติ (IAEA fellowship) ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเป็นกำลังในการพัฒนางานรังสีเทคนิคสำหรับงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และในปี 2531 นั้นเองที่ทางสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยพร้อมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งทำให้วิทยาการทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในประเทศไทยเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

เมื่องานบริการทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์มีมากขึ้น จึงมีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้มากขึ้น ทางสาขาฯได้บรรจุแพทย์ที่จบการศึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์แทนแพทย์อาวุโสที่เกษียณไปอย่างสม่ำเสมอ สำหรับนักรังสีเทคนิคนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาหลักสูตรรังสีเทคนิคเพื่อมาปฏิบัติงานในสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์เมื่อเรียนจบอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีศักยภาพทั้งการให้บริการและทางด้านวิชาการในงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ จนได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยในปี พ.ศ. 2556 และปี พ.ศ. 2560 สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้รับการรับรองมาตรฐาน Quality Management Audits In Nuclear Medicine (QUANUM) ครั้งที่ 1 และ 2 ตามลำดับ จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)

วิสัยทัศน์

สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้บริการด้วยมาตรฐาน มีคุณภาพและคุณธรรม บริหารจัดการให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ สร้างเสริมคุณภาพชีวิตและสำนึกที่ดีต่อสังคมของบุคลากร ผลิตผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ เพื่อเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ

พันธกิจ

สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีพันธกิจ ดังนี้

  • ให้บริการการตรวจและรักษาด้วยวิธีการทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ อย่างมีมาตรฐาน ปลอดภัยและสามารถอ้างอิงได้
  • ผลิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นักฟิสิกส์การแพทย์และนักรังสีการแพทย์ ที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นบุคลากรที่จะนำความรู้ความสามารถ ไปให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ไปให้ความรู้และสอนบุคลากรทางการแพทย์อื่น
  • เป็นสถานที่ศึกษาฝึกอบรมและดูงานของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในและต่างประเทศ

รางวัลและความภาคภูมิใจศูนย์

1. ด้านงานวิชาการ

เวชศาสตร์นิวเคลียร์ จุฬาฯ เป็นแกนนำในด้าน Nuclear Neurology ของประเทศ โดยได้จัด National Training Course in Nuclear Neurology  2 ครั้งในปี 2560 และ 2561,  ตีพิมพ์หนังสือ “เวชศาสตร์นิวเคลียร์ในโรคสมอง” ในปี 2561 ซึ่งเป็นหนังสือเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในโรคสมองเล่มแรกของประเทศไทย และเป็นแกนนำในการจัดทำแนวเวชปฏิบัติการส่งตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในระบบประสาท ในนาม สมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ร่วมกับ สมาคมประสาทวิทยา, ราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์ และสมาคมนักฟิสิกส์การแพทย์ ในปี 2562-2564

        เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์  ทางสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ได้ร่วมมือกับสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาในการจัดทำตำราชือ “รังสีวิทยา: เวชศาสตร์นิวเคลียร์ รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา” ซึ่งตำราเล่มนี้นับเป็นตำราภาษาไทยเล่มแรก ๆ ที่กล่าวถึงวิทยาการทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ครอบคลุมโรคที่พบบ่อย เหมาะสำหรับนักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านใช้ประกอบการเรียน ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลที่สนใจทั่วไป

2. ด้านงานบริการ

เวชศาสตร์นิวเคลียร์ จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญในคุณภาพของการให้บริการโดยมุ่งเน้นผู้ป่วยเป็นจุดกลางและการดูแลอย่างเอื้ออาทร จึงจัดให้มีโครงการชื่อว่า “สร้างสุขทุกนาที…เพื่อผู้ป่วยเด็กระหว่างการรอตรวจ” ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา   ซึ่งโครงการดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยเด็กและผู้ปกครองเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ความกลัวและความวิตกกังวล ส่งผลให้ผู้ป่วยเด็กให้ความร่วมมือในการตรวจ

โดยโครงการนี้ได้รับรางวัลชมเชยและรางวัลขวัญใจมหาชน” จากการประกวดโครงการพัฒนาคุณภาพงาน ประจำปี 2562 จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ประชาชน

เวชศาสตร์นิวเคลียร์ จุฬาฯ เน้นถึงความสำคัญในพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะ “การพัฒนางานประจําสู่งานวิจัย (Routine to Research)”  ซึ่งผลลัพธ์ของงานวิจัย/นวัตกรรมดังกล่าว จะนำมาซึ่งการปรับปรุงกระบวนการทํางานและการบริการให้ดีขึ้น   ที่ผ่านมาสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ได้พัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการประคบเย็นสำหรับผู้ป่วย  เรียกว่าหน้ากากประคบเย็น “CARE MASK” โดย ผศ.พญ. คนึงนิจ กิ่งเพชร (อนุสิทธิบัตรเลขที่ 13043)    หน้ากากนี้ใช้สำหรับประคบเย็นบริเวณต่อมน้ำลาย เพื่อช่วยลดอาการปวดและบวมของต่อมน้ำลายที่เกิดการอักเสบจากการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีนในผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ลดอาการปวดและบวมของฟันและเหงือกภายหลังการผ่าตัดทางทันตกรรม ลดอาการปวดและบวมบริเวณกรามและคางภายหลังการผ่าตัด โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องใช้มือในการประคองอุปกรณ์ให้ความเย็นในระหว่างทำการประคบ  ทำให้ผู้ป่วยสามารถทำงานหรือกิจวัตรต่างๆได้ในขณะที่ทำการประคบเย็น

โครงสร้างของศูนย์

การให้บริการของศูนย์

1. การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาซึ่งช่วยในการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยที่มีอาการบ่งชี้ทางคลินิก โดยมีข้อดีที่สำคัญคือสามารตรวจได้ถึงระดับโมเลกุลซึ่งเป็นโครงสร้างที่เล็กที่สุดของร่างกาย แพทย์จึงสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของโรค และวางแผนการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

การเตรียมตัวก่อนตรวจ การตรวจรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์มีวิธีการที่หลากหลายตามอวัยวะที่จะตรวจ จึงต้องการการเตรียมตัวที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยควรสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่และแพทย์ที่ทำการตรวจรักษา และศึกษาข้อควรปฏิบัติจากเอกสารคำแนะนำให้ครบถ้วนตามการตรวจแต่ละประเภทวิธีการตรวจ

2. การตรวจความหนาแน่นของกระดูก

เป็นการตรวจจะใช้เครื่องที่เรียกว่า Bone densitometer ซึ่งเป็นเครื่องมือการตรวจทางรังสีชนิดหนึ่ง เครื่อง Bone densitometer มีหลายแบบ  แต่ที่นิยมใช้คือแบบที่เรียกว่า Dual Energy X-ray Absorptiometry scanner หรือ DEXA scanner  ตำแหน่งที่ตรวจ คือ บริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และบริเวณข้อมือ เนื่องจากบริเวณเหล่านี้เป็นบริเวณที่พบว่ามีการแตกหักของกระดูกจากภาวะกระดูกพรุนได้บ่อย

3. ไทรอยด์คลินิก

มะเร็งต่อมไทรอยด์มีหลายชนิด  แต่ส่วนใหญ่แล้วมะเร็งต่อมไทรอยด์มักเป็น ชนิด papillary  และ follicular  ซึ่งสามารถรักษาได้และผลการรักษาอยู่ในระดับดีมาก ดีมากในทีนี้คือมีรายงานว่า อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นระยะ 20 ปี มีสูงถึงประมาณ 80% ซึ่งถือว่าสูงมาก ซึ่งเมื่อเทียบมะเร็งทั่วๆไป การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ ชนิด จะประกอบด้วย

  • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
  • การรับประทานสารรังสีไอโอดีน : หลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์แล้วต้องรักษาต่อด้วยวิธีการรับประทานสารรังสีไอโอดีน (I-131) ซึ่งปัจจุบันรังสีไอโอดีนมี 2 รูปแบบ คือแบบเม็ดแคปซูล และ ของเหลว   
  • การรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ :  หลังการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131) ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์อย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต

ฝ่ายรังสีวิทยา เปิดบริการตั้งแต่เวลา 08.00 – 19.00 น. โดยรับบริการทั้งผู้ป่วยในและนอกเวลาราชการ

ฝ่ายรังสีวิทยา มีทั้งหมด 5 อาคาร ดังนี้

  1. อาคารเอลิสะเบธ จักรพงษ์
  2. อาคารล้วน-เพิ่มพูล ว่องวานิช (ห้องตรวจผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน)
  3. อาคารอับดุลราฮิม
  4. อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ชั้น B1 และชั้น 1
  5. ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

 

คลินิกในเวลาราชการ

  1. การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์และการตรวจความหนาแน่นของกระดูก
    ให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์  เวลา 08.00 – 16.00 น. ที่ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2 โซน A
  2. ไทรอยด์คลินิก
    ให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์  เวลา 08.00 – 16.00 น. ที่ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 3 โซน A

 

โครงการตรวจนอกเวลาราชการ

  1. การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์และการตรวจความหนาแน่นของกระดูก
    ให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์  เวลา 16.00 – 19.00 น. ที่ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2 โซน A

 

คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ

  1. การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ การตรวจความหนาแน่นของกระดูกและไทรอยด์คลินิก
    ให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 16.00 – 19.00 น. วันเสาร์ – วันอาทิตย์ เวลา 08.00 – 12.00 น.
    ที่ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2 โซน A

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ฝ่ายรังสีวิทยา

 

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4100, 02 256 4334

 

ช่องทางการติดต่ออื่น ๆ

Website: http://www.chulacancer.net

Facebook: https://www.facebook.com/chulacancernet-223044997711202/

Line: @chulacancer

Email: chulacancer@yahoo.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

มอบเงินบริจาค ขนม และของว่าง

บริษัท มอนเดอลีซ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด มอบเงินบริจาค และขนม ของว่าง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ช่วยเหลือและป้องกันการแพร่ระบาดโรคอุบัติใหม่COVID-19 แก่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงบาตรเนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2561

เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2560 เวลา 07.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปยังลานหน้าอาคารแพทยพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

มาตรฐานการดำเนินกิจกรรม 5ส ประจำปี 2565

มาตรฐานการดำเนินกิจกรรม 5ส ประจำปี 2565 5ส สร้างสิ่งแวดล้อม สร้างความสุข และความปลอดภัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์