นับตั้งแต่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เริ่มเปิดดําเนินการเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 ก็มีการจัดตั้งหมวดรักษาโรคหูและหมวดรักษาโรคจมูกและคอ มีหลวงโกศลเวชศาสตร์ (เกี้ยว ชนเห็นชอบ) เป็นโสตรแพทย์ ซึ่งได้เรียบเรียงตำราแพทย์เฉพาะทางเล่มแรกของประเทศไทย ชื่อว่า “ตำรา โรค หู คอ จมูก พ.ศ. 2472” แบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ 1. เรื่องโรคหู: เรียบเรียงจากตำราของ Professor Ádám Politzer 2. โรคคอและจมูก: เรียบเรียงจากตำราของ Sir St Clair Thomson ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 หมวดโสตรกรรมและหมวดจักษุกรรมได้แยกออกจากแผนกผ่าตัด และรวมกันเป็นแผนกจักษุ วิทยาโสต นาสิก ลาริงซ์ โดยมีพันโทหลวงประจักษ์ เวชสิทธิ์ เป็นหัวหน้าฝ่าย และมีหลวงจรุงเจริญเวชช์ (จรุง ปาณฑุรังคานนท์) เป็นแพทย์ หู คอ จมูก ในขณะนั้นการทํางานของแพทย์และพยาบาล ทั้งสองหมวดแยกเป็นอิสระต่อกัน จากนั้นได้มีพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ประกาศตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้น และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 แผนกจักษุ, วิทยาโสต นาสิก ลาริงซ์ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นแผนกจักษุ, วิทยาโสต, นาสิก ลาริงซ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อแรกเริ่มมีอาจารย์แพทย์หู คอ จมูก 2 ท่าน คือ พ.ต. หลวงจรุงเจริญเวชช์ และนายแพทย์ชูช่วง เศวตรุนทร์ ซึ่งนายแพทย์ชูช่วง เศวตรุนทร์ เป็นผู้บุกเบิกการทำผ่าตัดหูชั้นกลางโดยใช้กล้องจุลทรรศน์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2510 หลังจากรัฐบาลประกาศพระกฤษฎีกาให้ตัดโอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ย้ายไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “แผนกจักษุ, โสต, นาสิก ลาริงซ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2513 สภาการศึกษาแห่งชาติอนุมัติให้แยกแผนก จักษุ, โสต, นาสิก ลาริงซ์” ออกเป็นแผนกวิชาจักษุวิทยา และแผนกวิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา โดยมี รศ.นพ.ชูช่วง เศวตรุนทร์ เป็นหัวหน้าแผนกวิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คนแรก และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจาก “แผนกวิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา” เป็น “ภาควิชา (ฝ่าย) โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา” แต่ไม่พบหลักฐานว่าเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เมื่อใด และในปี พ.ศ. 2546 จึงได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “ภาควิชา (ฝ่าย) โสต ศอ นาสิกวิทยา” จนถึงปัจจุบัน
ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา มีผลงานและความภาคภูมิใจของฝ่ายโดยแบ่งเป็นแต่ละด้าน ดังนี้
ด้านการบริการ
ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา ได้ริเริ่มการผ่าตัดที่สำคัญมากมายในประเทศไทย เช่น การผ่าตัดโรคของหูชั้นกลางโดยใช้กล้องจุลศัลยกรรม (Microscope) เป็นแห่งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2504 การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (Cochlear implantation) เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2529 การผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางช่องจมูก-ไซนัสเพื่อแก้ไขโรคต่างๆเช่น ผูกเส้นเลือดในผู้ป่วยเลือดกำเดาไหล (endoscopic sphenopalatine artery ligation) แก้ไขโรคคอพอกตาโปน (endoscopic orbital decompression) ลดความดันของเส้นประสาทตา (endoscopic optic nerve decompression) และซ่อมรอยรั่วที่ฐานสมองส่วนหน้า (endoscopic repair CSF leaks) ในระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 และมีการบุกเบิกการผ่าตัดในจมูกและโพรงไซนัสด้วยกล้องจนได้รับการประกาศจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รวมถึงการผ่าตัดโดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดโรคทางศีรษะและลำคอ การใช้เลเซอร์ชนิดต่าง ๆ ในการดูแลรักษารอยโรคทางโสต ศอ นาสิกวิทยา
ด้านวิชาการ
ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา เป็นผู้บุกเบิกการจัดประชุมวิชาการรวมถึงการอบรมทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ อาทิ Chula FESS Course, Head and Neck Workshop, Asia-Pacific Otology Neurotology Conference ซึ่งมีชื่อเสียงและได้รับการตอบรับที่ดีมากทั้งจากแพทย์ชาวไทยและต่างชาติ
การเรียนการสอน
ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา
- เป็นสถาบันฝึกอบรมแห่งเดียวในประเทสไทยที่มีการฝึกอบรมครบทุกหลักสูตรของราชวิทยาลัยที่รับรองโดยแพทยสภา ซึ่งประกอบด้วย หลักสูตรวุฒิบัตรสาขาโสต ศอ นาสิกวิทยา หลักสูตรวุฒิบัตรอนุสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า หลักสูตรวุฒิบัตรอนุสาขาโสตศอนาสิกวิทยาการนอนหลับ หลักสูตรประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านศัลยศาสตร์ศีรษะและลำคอ หลักสูตรประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านนาสิกวิทยาและภูมิแพ้ และหลักสูตรประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านโสตวิทยา โสตประสาทวิทยา
- มีหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกควบคู่ไปกับการฝึกอบรมในหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน แพทย์เพื่อประกาศนียบัตร และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดในหลายสาขาวิชา โดยหลักสูตรแพทย์เพื่อประกาศนียบัตรด้านนาสิกวิทยาและภูมิแพ้ เป็นสถาบันเดียวในประเทศทางด้านนี้ที่เป็นหลักสูตร 2 ปี และเชื่อมต่อกับหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกนานาชาติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการรับแพทย์ต่างชาติเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าว
- บุกเบิกงานค้นคว้าวิจัยด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อสําเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ทั้งการพัฒนาการเพาะหูมนุษย์บนหลังหนู และการพัฒนาผิวหนังสังเคราะห์เพื่อลดแผลเป็นหดรั้งที่ทําให้เกิดความพิการ ร่วมกับหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้าง ภาควิชาศัลยศาสตร์ ทีมวิจัยสหสาขา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ภาควิชาของคณะแพทยศาสตร์ในการร่วมจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Excellence Center for Advanced Therapy Medicinal Products) เป็นแห่งแรกของประเทศ
ด้านการวิจัย
ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา สร้างผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องในระดับนานาชาติ มีแพทย์ประจำบ้าน แพทย์เพื่อประกาศนียบัตร และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดได้รับรางวัลจากการนำเสนองานวิจัย รวมถึงมีผลงานวิจัยของคณาจารย์สม่ำเสมอ
พันธกิจ
- ผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิกวิทยาที่มีคุณภาพ
- สร้างงานวิจัยที่มีคุณค่า
- ให้บริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน
ภารกิจที่หน่วยงานสนับสนุน
ให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา ด้าน
- ศัลยกรรมศีรษะและคอ
- ศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า
- นาสิกวิทยาและภูมิแพ้
- โสต ศอ นาสิกวิทยาการนอนหลับ
- โรคทางกล่องเสียง
- โสตประสาท โสตสัมผัส และอรรถบำบัด
โครงสร้างและองค์ประกอบย่อยของฝ่าย
ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา ประกอบด้วย 6 หน่วยย่อย ได้แก่
- หน่วยศัลยกรรมศีรษะและคอ
- หน่วยโสตประสาท โสตสัมผัส และอรรถบําบัดวิทยา
- หน่วยนาสิกวิทยาและภูมิแพ้
- หน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า
- หน่วยเวชศาสตร์การนอนหลับ
- หน่วยโรคทางกล่องเสียง
การให้บริการของฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา
โดยมีการให้บริการแบ่งตามหน่วยย่อย 6 หน่วย ดังนี้
1. หน่วยศัลยกรรมศีรษะและคอ
ให้บริการดูแลรักษาโรคด้านเนื้องอกที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งศีรษะและลำคอแบบครบวงจรครอบคลุมโรคทั้งที่เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงและกลุ่มเนื้องอกมะเร็ง โดยบริการผ่าตัดอย่างครอบคลุม ทั้งการผ่าตัดแบบเปิด (open surgery) การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (endoscopic surgery) และการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ (robotic surgery)
2. หน่วยโสตประสาท โสตสัมผัส และอรรถบำบัดวิทยา
หน่วยโสตประสาท โสตสัมผัส และอรรถบำบัดวิทยา ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางหู ทั้งการอักเสบติดเชื้อของหู เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงหรือมะเร็งบริเวณหูและฐานกะโหลกด้านข้าง ปัญหาการทรงตัว อาการเวียนศีรษะ ปัญหาการได้ยิน การสื่อสารและการพูด โดยให้บริการครอบคลุมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยและครบวงจรทั้งการตรวจวินิจฉัย รักษา ผ่าตัด และฟื้นฟู จากผู้เชี่ยวชาญซึ่งมากด้วยประสบการณ์
3. หน่วยนาสิกวิทยาและภูมิแพ้
ให้บริการตรวจรักษาด้านโรคจมูกและไซนัสแบบครบวงจร เช่น มีการให้บริการทดสอบภูมิแพ้โดยวิธีการสะกิดผิวหนัง การตรวจเซลล์วิทยาทางจมูก และการตรวจวัดหาพื้นที่หน้าตัด ความต้านทานภายในโพรงจมูก การผ่าตัดส่องกล้องสำหรับลดขนาดของกระดูกชิ้นล่างในโพรงจมูก การผ่าตัดโรคไซนัสอักเสบ การผ่าตัดเนื้องอกของต่อมใต้สมอง เป็นต้น
4. หน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า
ให้บริการศัลยกรรมเสริมสร้างบริเวณศีรษะและลําคอให้แก่ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดมะเร็ง ศัลยกรรมเส้นประสาทใบหน้า ศัลยกรรมเสริมสร้างใบหน้า และศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวยใบหน้า โดยบูรณาการรักษาผู้ป่วยร่วมกับจักษุแพทย์ ตกแต่งและเสริมสร้าง และตจศัลยแพทย์
5. หน่วยโรคทางกล่องเสียงและกรดไหลย้อน
ให้บริการตรวจรักษาแบบผู้ป่วยนอก และการทำหัตถการผ่าตัดรักษาทั้งแบบนอนโรงพยาบาลและแบบผู้ป่วยนอก เช่น การฉีดยารักษาสายเสียงเกร็งเข้าที่สายเสียง และการรักษาโดยนักอรรถบําบัด (voice therapy) เป็นต้น สําหรับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคทางกล่องเสียงต่างๆ นั้น ครอบคลุมการส่องกล้องโดยไม่มีแผลที่คอและการผ่าตัดแบบเปิดแก้ไขเส้นเสียงเป็นอัมพาต นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขภาวะหลอดลมส่วนบนอุดกั้น ในอนาคตจะมีการพัฒนาสร้างหลอดลมเทียมโดยเทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (tissue-engineering technology) เพื่อนำมาทดแทนหลอดลมเดิมที่เป็นโรคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
6. หน่วยเวชศาสตร์การนอนหลับ
หน่วยเวชศาสตร์การนอนหลับให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะนอนกรนและความผิดปกติจากการหลับแบบครบวงจร ด้วยนวัตกรรมที่หลากหลาย ร่วมกับศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย การบริการรวมถึงการตรวจรักษาและให้คำปรึกษาแบบผู้ป่วยนอก การส่งตรวจการนอนหลับ การประเมินวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งการรักษาด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการผ่าตัดด้วยเทคนิคที่ทันสมัย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ นอกเหนือไปจากงานด้านบริการ ยังมีบทบาทในการดำเนินการวิจัยด้านภาวะการนอนหยุดหายใจแบบอุดกั้น โดยมีผลงานวิจัยได้รับการยอมรับในวงวิชาการให้นำเสนอในวารสารระดับนานาชาติ และให้การเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา และหลักสูตรโสต ศอ นาสิกวิทยาการนอนหลับ